30 มิ.ย. 2022 เวลา 04:00 • ข่าว
#BehindTheNews | ถูกเลิกจ้าง ให้ออกจากงาน นายจ้างต้องชดเชยอย่างไร?
กลายเป็นประเด็นใหญ่เกิดขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา เมิ่อมีกระแสข่าวว่าบริษัทบันเทิงระดับตำนาน มีอายุนานนับทศวรรษ ประกาศปิดตัวลงแบบกระทันหัน หนึ่งในข้อมูลที่มีการเปิดเผยผ่านสังคมออนไลน์โดยพนักงานของบริษัทดังกล่าว คือ การได้รับเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด เพียงไม่กี่สิบเปอร์เซ็นเท่านั้น
แม้การเลิกจ้างจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่หากเลิกจ้างแล้วไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด ก็ย่อมกลายเป็นปัญหาใหญ่จนกระทบชีวิตลูกจ้างได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 15 กำหนดอัตราการจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างกรณีเลิกจ้าง โดยแบ่งตามอายุงานดังนี้
1. อายุงาน 120 วัน - 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน
2. อายุงาน 1 - 3 ปี นายจ้างต้องจ่ายชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน
3. อายุงาน 3 - 6 ปี นายจ้างต้องจ่ายชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน
4. อายุงาน 6 - 10 ปี นายจ้างต้องจ่ายชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน
5. อายุงาน 10 - 20 ปี นายจ้างต้องจ่ายชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน
6. อายุงาน 20 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน
โดยการจ่ายค่าชดเชยจะคำนวณจากค่าจ้างหรือเงินเดือนที่ได้รับ หาร 30 วัน และคูณด้วยจำนวนวันที่ได้รับค่าชดเชยตามอายุงานที่กฎหมายกำหนด
ยกตัวอย่าง นายเอ ถูกเลิกจ้างจากการปรับโครงสร้าง อัตราเงินเดือนล่าสุดอยู่ที่ 20,000 บาท อายุงาน 3 ปี 6 เดือน
คิดเป็นรายวัน (20,000 หาร 30 วัน) = ประมาณ 666.67 บาท/วัน
กรณีมีอายุงาน 3 ปี 6 เดือน จะได้รับค่าชดเชย 180 วัน
วิธีคำนวณคือ 666.67 คูณ 180 วัน จะเท่ากับค่าชดเชยประมาณ 120,000 บาท
กรณีที่จะได้รับค่าชดเชย คือกรณีการเลิกจ้างทุกประเภทที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดหรือสร้างความเสียหายต่อสถานประกอบการ และไม่ได้ประสงค์ลาออกเอง รวมถึงกรณีลูกจ้างเกษียณอายุ ให้ถือเป็นการเลิกจ้างอย่างหนึ่งทีจะต้องได้รับค้าชดเชยการเลิกจ้างเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษจากกรณีอื่นเพิ่มเติม ดังนี้
- กรณีถูกเลิกจ้างทันที โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 งวดค่าจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือที่เรียกว่า "ค่าตกใจ" เท่ากับค่าจ้าง 1 งวด (สูงสุด 1 เดือน ขึ้นกับรูปแบบการจ่ายค่าจ้าง)
- กรณีเลิกจ้างจากการปรับปรุงหน่วยงาน เพราะการนำเทคโนโลยีมาใช้ หากแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน ลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยพิเศษเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย จำนวน 60 วัน และจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่ลูกจ้างสำหรับอายุงานที่เกิน 6 ปี ไม่ต่ำกว่าค่าจ้าง 15 วัน/อายุงาน 1 ปี (รวมแล้วไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน)
- กรณีการย้ายสถานประกอบกิจการ และมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน
หากลูกจ้างไม่ประสงค์ไปทำงานด้วย สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ และได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าชดเชยที่พึงได้รับ
หากนายจ้างไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด จะได้ค่าชดเชยพิเศษเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจส่วนตัวระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง หรือจงใจกลั่นแกล้ง ลูกจ้างสามารถร้องต่อศาลแรงงาน เพื่อพิจารณาคดีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ โดยมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 กำหนดไว้ว่า หากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลสามารถสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมได้ หรือให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายแก่ลูกจ้างก็ได้ หากศาลเห็นว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อีก
หากคุณถูกเลิกจ้าง หรือถูกให้ออกอย่างไม่เป็นธรรม สามารถร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่ที่ทำงานหรือที่บริษัทตั้งอยู่ หรือติดต่อที่สายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77
#NewsRewindTH – More Than What Happened
ติดต่อโฆษณา: contact.newsrewind@gmail.com
โฆษณา