30 มิ.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ธนาคารกลางญี่ปุ่น” กำลังงัดข้อกับตลาดการเงิน
ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจและตลาดการเงินของญี่ปุ่นกำลังถูกพูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องค่าเงินเยนและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น
ที่ทั้งสองตลาดมีความผันผวนอย่างยิ่ง ซึ่งเบื้องหลังสำคัญเป็นผลมาจาก “การงัดข้อระหว่างธนาคารกลางญี่ปุ่นกับนักลงทุนในตลาดการเงิน”
ซึ่ง Bnomics จะสรุปให้ว่าเกิดอะไรขึ้นตอนนี้
📌 ดอกเบี้ยนโยบายที่แตกต่างระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้เงินทุนไหลออกจากญี่ปุ่น
อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ถูกกำหนดจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดตอนนี้สำหรับญี่ปุ่น คือ “ความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”
โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างมาก (ครั้งล่าสุดขึ้นถึง 0.75%) เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคง “อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ” เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซามายาวนาน
เมื่อดอกเบี้ยของสหรัฐฯ สูงขึ้น แต่ญี่ปุ่นยังเท่าเดิม ก็ทำให้นักลงทุนจำนวนมากเลือกจะดึงเงินออกจากประเทศญี่ปุ่น ไปลงทุนในสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าแทน
การไหลออกของเงินทุนนี้ ทำให้ปริมาณความต้องการขายเงินเยนเพื่อไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐสูงขึ้น
ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนอ่อนค่าไปแตะระดับ 136 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดในรอบ 24 ปี!!
ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงไป ก็กำลังกดดันต้นทุนการนำเข้า และอัตราเงินเฟ้อจากราคาอาหารและพลังงาน ที่ญี่ปุ่นต้องจ่ายแพงขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งก็มีโพลของ Nikkei เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่มแรงกดดันในเรื่องนี้
โดย 64% ของคนตอบแบบสอบถามบอกว่า พวกเขาไม่สามารถทนได้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูง
ที่เป็นผลมาจาก ราคาโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นและเงินเยนที่อ่อนค่าลง
1
และมีแค่ 29% เท่านั้น ที่ตอบว่า พวกเขาสามารถทนกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้ได้
📌 การงัดข้อในตลาดพันธบัตรรัฐบาล
ไม่เพียงแต่ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ในตลาดพันธบัตรรัฐบาลเอง ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังเจอปัญหากวนใจอยู่เช่นกัน
โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสำคัญที่ต้องจับตามอง คือ พันธบัตรรัฐบาลอายุไถ่ถอน 10 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งตัวอ้างอิงสำคัญของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของญี่ปุ่น
โดยทางธนาคารกลางญี่ปุ่นพยายามจะคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไว้ให้ไม่เกิน 0.25% เพราะ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นตัวกำหนดต้นทุนทางการเงินของประชาชนและธุรกิจอื่นด้วย
ถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น ธุรกิจและประชาชนก็ต้องกู้ยืมเงินด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ก็จะซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่
แต่ในด้านของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนชาวต่างชาติ ก็เริ่มไม่เชื่อว่า ญี่ปุ่นจะฝืนคงอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษแบบนี้ไปได้ตลอด จึงเริ่มท้าทายธนาคารกลางญี่ปุ่น
เช่น ในสัปดาห์วันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นสัปดาห์ที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรญี่ปุ่นมากที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกไว้ในปี 2001
“เป็นมูลค่ากว่า 4.6 ล้านล้านเยนในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว!!!”
2
นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งเริ่มทำการ Short พันธบัตรและค่าเงินของญี่ปุ่นผ่านวิธีต่างๆ หรือ แปลง่ายๆ คือ พวกเขากำลังพนันอยู่กับธนาคารกลางญี่ปุ่น
2
ถ้าสุดท้ายธนาคารกลางญี่ปุ่นสู้ไม่ไหว ต้องโดนบังคับขึ้นดอกเบี้ย พวกนักลงทุนก็จะได้เงินไป
2
ซึ่งตอนนี้ ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นยังต่อสู้เต็มกำลัง
อย่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ที่เมื่อมีการเทขายจากนักลงทุนออกมามาก ก็กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นจนจะเลยระดับ 0.25% ที่เป็นระดับเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น
1
สิ่งที่พวกเขาทำก็ คือ ทำการเข้าซื้อพันธบัตรเติมเต็มส่วนของส่วนที่ขายออกมา เพื่อปรับให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรกลับเข้าไปสู่กรอบอีกครั้ง
2
แต่หลายคนก็กังวลใจว่า การเข้าไปซื้อครั้งนี้ อยู่ในระดับที่มากเกินไปหรือเปล่า
อ้างอิงจากรายงาน Nikkei ตอนนี้ ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นถือครองพันธบัตรรัฐบาลเกินกว่า 50% แล้ว
2
หรือก็หมายความว่า “เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของรัฐบาลญี่ปุ่น คือ ธนาคารกลางญี่ปุ่น” เอง มันคลับคล้ายคลับคลาเหมือนกันว่า เป็นการพิมพ์เงินออกมาให้รัฐใช้จ่ายในอัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไปหรือเปล่า?
4
เรื่องนี้จะดำเนินต่อไปเช่นไร และจะมีจุดไหนไม่ว่าจะเป็นในปัญหาค่าเงิน เงินเฟ้อ หรือพันธบัตร ที่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นจะตัดสินใจหยุดงัดข้อกับตลาด
หรือในทางตรงข้าม จะมีจุดไหนที่ตลาดหยุดงัดข้อกับธนาคารกลางญี่ปุ่นเสียที ต้องคอยติดตามกันต่อไปครับ
1
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา