30 มิ.ย. 2022 เวลา 12:45 • ธุรกิจ
Work from Home กับ Work from Office สรุปเอายังไงดี?
1
ท่ามกลางสถานการณ์ของโควิด-19 ในปัจจุบันที่ทุเลาลงแล้วในหลายประเทศ สภาพการทำงานเดิมที่คุ้นเคยสำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา คือ การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home : WFH) อาจจะถึงคราวสิ้นสุด เห็นได้จากบางบริษัทที่ได้วางนโยบายให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ (Work from Office : WFO) อย่างเต็มรูปแบบแล้ว 100%
1
อย่างไรก็ดี หลายบริษัทยังสนับสนุนแนวทางแบบ hybrid คือ การผสมผสานระหว่าง WFH กับ WFO เข้าด้วยกันตามสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ผู้ทำงานเองก็อาจมีจริตความชอบ สไตล์การทำงาน รวมถึงบทบาทในการทำงานที่แตกต่างกันด้วย (แน่นอนว่า ไม่นับรวมประเภทหรือบทบาทการทำงานที่ยังไงต้องเข้าออฟฟิศอยู่แล้ว ทำงานจากที่บ้านไม่ได้)
3
ผู้เขียนจึงขอสำรวจจุดเด่นสำคัญของการทำงานทั้งสองรูปแบบโดยไม่ได้เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น แต่อ้างอิงจากงานวิจัยและผลการสำรวจบางส่วนมาชวนท่านผู้อ่านคิดตามกันวันนี้ครับ ทั้งนี้ ต้องบอกไว้ก่อนว่า แต่ละองค์กรอาจมีลักษณะแตกต่างกันได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงาน บุคลิกลักษณะและความชอบของผู้บริหารและพนักงาน บางจุดเด่นก็อาจไม่ได้เป็นจริงกับองค์กรนั้น ๆ เสมอไป และบางจุดเด่นเองก็มีงานวิจัยที่ให้ข้อสรุปแตกต่างไปจากงานวิจัยส่วนใหญ่ด้วย
2
จุดเด่นสำคัญของ WFH มีอยู่หลายประการ อาทิ 1) ผลิตภาพ (productivity) ของคนทำงานที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากหลายงานวิจัย เช่น งานวิจัยอันโด่งดังจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด Bloom et al. (2015) ที่ศึกษาพนักงาน 16,000 คนในบริษัท CTrip (บริษัทเทคโนโลยีการท่องเที่ยวของจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น NASDAQ) และพบว่าพนักงานมีศักยภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับพนักงานที่ทำงานในออฟฟิศ
2
หรือ Choudhury et al. (2021) ที่พบว่าการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) เพิ่มผลิตภาพพนักงานถึง 4% แม้ว่าในปัจจุบันจะมีงานวิจัยที่ให้ข้อสรุปแตกต่างออกไป เช่น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก Gibbs et al. (2021) ที่ระบุว่าผลิตภาพของคนทำงานลดลงจากการ WFH
1
2) การประหยัดต้นทุนพลังงานและเวลาในการเดินทาง สะท้อนจากงานวิจัยล่าสุด เช่น Barrero et al. (2021) ซึ่งประเมินว่าช่วยประหยัดต้นทุนของคนทำงานกว่า 5-10% ในการทำงานในเมืองใหญ่ ๆ เมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤตโควิด ยิ่งหันกลับมามองประเทศไทยและสถานการณ์น้ำมันแพงในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสัญจรในเมืองใหญ่เช่น กรุงเทพฯ แล้ว จุดเด่นข้อนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ลง
1
3) ทำให้พนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะการได้ใช้เวลากับครอบครัว สะท้อนจากหลายงานวิจัยและผลสำรวจต่างประเทศ เช่น Barrero et al. (2021) หรือผลสำรวจในประเทศไทยเอง เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อปี 2564 ที่ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 45.3% ระบุว่าพึงพอใจจากการมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น
1
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางส่วน เช่น Bellmann and Hubler (2020) ชี้ให้เห็นว่า ความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่มีผลในระยะยาว หรือ Möhring et al. (2020) ที่พบว่า ความพึงพอใจดังกล่าวอาจถูกลดทอนในกรณีสถานที่ที่บ้านไม่พร้อมในการทำงาน โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีเด็กเล็กและใช้ห้องทำงานร่วมกัน
ในทางกลับกัน จุดเด่นสำคัญของ WFO ซึ่งเปรียบเสมือนเหรียญอีกด้านหนึ่งของ WFH เช่น 1) ความคล่องตัวในการทำงานที่ออฟฟิศที่มากกว่า WFH อาทิ อุปกรณ์การทำงานที่เพียบพร้อมกว่าที่บ้าน โดยเฉพาะอุปกรณ์และระบบ IT สะท้อนจากผลการสำรวจเช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
2
2) ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานในออฟฟิศที่ดีกว่า โดยการติดต่อประสานงานระหว่างทีมที่อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบทางการเสมอไป เช่น Gibbs et al. (2021) ซึ่งชี้ให้เห็นต้นทุนการสื่อสารระหว่างกันในการทำ WFH ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนทำงานด้วยกันอาจเกิดจากอวัจนภาษาในการพูดคุยแบบตัวต่อตัวได้มากกว่าการพูดคุยแบบออนไลน์ ตลอดจนการสอนงานหรือ coaching พนักงานใหม่ที่เวลาเจอหน้ากันจะทำได้ดีกว่า
3) ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout) ซึ่งอาจเกิดขึ้นน้อยกว่าการ WFH สะท้อนจากการ WFH ที่พบระยะเวลาในการทำงานยาวนานขึ้นในแต่ละวัน เช่น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด DeFilippis et al. (2020) ชี้ว่า WFH ทำให้ระยะเวลาในการทำงานต่อวันเพิ่มขึ้น 8.2% หรือ 48.5 นาทีต่อวัน มีประชุมถี่ขึ้นและไม่มีเวลาพักผ่อน
1
จากการทำงานทั้งสองรูปแบบดังกล่าว ซึ่งมีจุดเด่นของตนเองทั้งคู่ ผู้เขียนคงไม่อาจสรุปได้ว่าองค์กรหรือบริษัทควรจะไปทางไหนดี แต่ที่พอจะสรุปได้คือ ไม่จำเป็นต้องสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง แต่อาจเลือกแบบผสมผสาน ซึ่งนำข้อดีของแต่ละรูปแบบผสมกัน และที่สำคัญคือในแต่ละองค์กร ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน คงต้องหาแนวทางหรือจุดสมดุลที่ตกลงร่วมกันของผู้บริหารและพนักงานในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นสุขกันทุกฝ่ายต่อไปครับ!
1
ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
1
*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด*
โฆษณา