Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เกร็ดความรู้จากโคนัน
•
ติดตาม
4 ก.ค. 2022 เวลา 14:51 • การ์ตูน
"เกร็ดความรู้จากโคนัน"
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ห่างหายกันไปนานเลยสำหรับซีรีส์นี้ วันนี้ผมจะพาทุกท่านมารู้จักเกี่ยวกับรูปแบบต่าง ๆ ของ "ภาพลวงตา" (ภาษาอังกฤษ: Optical Illusions) ซึ่งเป็นภาพที่หลอกตาให้มองเห็นและรับรู้ผิดพลาดไปจากความเป็นจริง เป็นธรรมชาติของมนุษย์อันน่ามหัศจรรย์ ที่ปรากฏในยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 14 ตอนที่ 704-707 ยาพิษและดีไซน์ลวงตา และ ปี 18 ตอนที่ 898-899 ชมรมนักสืบเยาวชนในฝูงชน
ที่มาภาพ: https://movie.trueid.net/th-th/series/VPmGdma9EqN1/Wq6vvZbYwALq/VOv55nyE6PvY/j1JNeevPPxd1
ที่มาภาพ: https://movie.trueid.net/th-th/series/VPmGdma9EqN1/5XE22veoRdMA/BOY99YBqkx1O/gDgaX10wXEdA
ภาพลวงตาชนิดแรก คือ ภาพลวงตาสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน (ภาษาอังกฤษ: Crazy diamond) จะมองเห็นเหมือนกับว่าภาพของรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่เรียงต่อ ๆ กัน มีการไล่ระดับสีจากสีอ่อนไปถึงสีเข้ม แต่แท้ที่จริงแล้ว รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนทุกรูปมีสีเดียวกันครับ ที่เราเข้าใจผิดไปแบบนั้นก็เพราะ รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแต่ละรูป ด้านบนจะมีสีอ่อนกว่าและด้านล่างจะมีสีเข้มกว่าเล็กน้อย และที่ระหว่างรูปสี่เหลี่ยมแต่ละรูปไม่มีเส้นคั่นระหว่างกัน จึงทำให้เรามองเห็นความแตกต่างของสีได้ชัดเจนขึ้น จนมองเห็นการไล่ระดับสีครับ
ที่มาภาพ: https://www.moillusions.com/blue-diamonds-optical-illusion
เมื่อเราตัดรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่อยู่ในแถวบนมาเปรียบเทียบสีกับรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่อยู่ในแถวด้านล่าง จะเห็นว่ารูปสี่เหลี่ยมทั้งสองรูปมีสีเดียวกันครับ
การพิสูจน์ Crazy diamond
ชนิดถัดไปที่จะกล่าวถึง คือ ภาพลวงตาจัสโทรว์ (ภาษาอังกฤษ: Jastrow illusion) คิดค้นโดย Joseph Jastrow นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ. 2432 เป็นภาพชิ้นส่วนโค้งสองชิ้นที่มีขนาดเท่ากัน แต่ชิ้นล่างจะดูมีขนาดใหญ่กว่าชิ้นบน สาเหตุที่ดูเป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์ในการเปรียบเทียบขนาดของวัตถุ จะเปรียบเทียบสิ่งที่อยู่ติดกันเป็นอันดับแรก สมองของเราจึงเปรียบเทียบด้านที่สั้นกว่าของชิ้นบนกับด้านที่ยาวกว่าของชิ้นล่าง จึงทำให้ชิ้นล่างดูมีขนาดใหญ่กว่าชิ้นบนนั่นเองครับ
ที่มาภาพ: https://th.wikipedia.org/wiki/ภาพลวงตาแจสตรอล
เมื่อเราตัดรูปชิ้นส่วนโค้ง B ไปวางซ้อนทับบนรูปชิ้นส่วนโค้ง A จะเห็นว่าชิ้นส่วนโค้งทั้งสองนี้สามารถซ้อนทับกันได้พอดี ซึ่งแปลว่าทั้งชิ้นส่วนโค้ง A และ B มีขนาดที่เท่ากันครับ
การพิสูจน์ Jastrow illusion
ชนิดถัดไป คือ ภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์ (ภาษาอังกฤษ: Ebbinghaus illusion) หรือ วงกลมทิตเชนเนอร์ (ภาษาอังกฤษ: Titchener circles) คิดค้นโดย Hermann Ebbinghaus นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน แต่เพราะ Edward Titchener นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ เป็นคนที่ทำให้เป็นที่รู้จักโดยตีพิมพ์ในตำราภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1901 เป็นภาพมีวงกลมขนาดเท่ากันสองวงอยู่ติดกัน วงกลมหนึ่งล้อมรอบด้วยวงกลมใหญ่ ขณะที่อีกวงกลมหนึ่งล้อมรอบด้วยวงกลมเล็ก เอาชุดวงกลมมาวางต่อกัน วงกลมตรงกลางที่ล้อมรอบด้วยวงกลมใหญ่ดูเล็กกว่าวงกลมที่ล้อมรอบด้วยวงกลมเล็ก
ที่มาภาพ: https://www.cleareyes.com/eye-care-blog/201711/exploring-relative-size-optical-illusions
สาเหตุที่เรามองเห็นเป็นแบบนั้น ก็เพราะขนาดสัมพัทธ์ของวงกลมตรงกลางและวงกลมที่ล้อมรอบอยู่ ถ้าวงกลมตรงกลางถูกล้อมด้วยวงกลมใหญ่ ก็จะดูมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับวงกลมรอบ ๆ ในทางกลับกันด้วย มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งเสนอว่า องค์ประกอบสำคัญสองอย่างที่ทำให้เกิดการลวงตาคือ ระยะทางของวงกลมที่ล้อมรอบจากวงกลมตรงกลาง และความสมบูรณ์ของวงที่ล้อมรอบครับ ภาพลวงตานี้จึงคล้ายกับภาพลวงตาอีกอย่างหนึ่งคือ Delboeuf illusion (ภาพลวงตาของอาหารบนจาน ปริมาณอาหารจะดูมากขึ้นเมื่อใส่บนจานเล็ก ในทางกลับกัน จะดูน้อยลงเมื่อใส่บนจานใหญ่)
เมื่อเราตัดรูปวงกลมตรงกลางที่ล้อมรอบด้วยวงกลมใหญ่ไปวางใกล้ ๆ กับวงกลมตรงกลางที่ล้อมรอบด้วยวงกลมเล็กเพื่อเปรียบเทียบขนาด จะเห็นว่าขนาดของวงกลมตรงกลางทั้งสองวงมีขนาดเท่ากันครับ
การพิสูจน์ Ebbinghaus illusion
และภาพลวงตาชนิดสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ ภาพลวงตาการตัดกันของสี (ภาษาอังกฤษ: Colour contrast illusion) ลักษณะคล้ายกับภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์ คือ สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ มีผลต่อการรับรู้ถึงวัตถุ ซึ่งสิ่งที่มีผลในภาพลวงตานี้คือ สี เมื่อนำวัตถุ 2 ชิ้นที่มีสีเดียว (สีเทา) กันไปวางบนพื้นหลังสีดำและสีขาว วัตถุที่วางอยู่ในพื้นหลังสีดำจะมีสีที่ดูอ่อนกว่าความเป็นจริง ในทางกลับกัน วัตถุที่วางอยู่ในพื้นหลังสีขาวจะมีสีที่ดูเข้มกว่าความเป็นจริงครับ
ที่มาภาพ: https://www.researchgate.net/figure/Simultaneous-contrast-illusion-Identical-gray-squares-appear-different-when-placed-on_fig1_268880910
เมื่อเราตัดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่อยู่ตรงกลางของพื้นหลังสีดำ ไปเปรียบเทียบสีของรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่อยู่ในพื้นหลังสีขาว จะเห็นว่าสีของรูปสีเหลี่ยมจัตุรัสทั้งสองรูป เป็นสีเดียวกันครับ และการตัดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสจากพื้นหลังสีขาว ไปเปรียบเทียบสีของรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่อยู่ในพื้นหลังสีขาว สีของรูปสีเหลี่ยมจัตุรัสทั้งสองรูป ก็เป็นสีเดียวกันเช่นเดียวกันครับ
การพิสูจน์ Colour contrast illusion
การพิสูจน์ Colour contrast illusion
ยังมีภาพลวงตารูปแบบอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากทั้ง 4 แบบที่นำมาให้ชมกันในวันนี้ แต่ละรูปแบบก็มีความน่าสนใจด้วยกันทั้งสิ้น หากผู้อ่านท่านใดสนใจในภาพลวงตา ก็สามารถสืบค้นเพื่อรับชมภาพลวงตารูปแบบอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ครับ ซึ่งภาพลวงตาก็เป็นอะไรที่เพลิดเพลินพอสมควรเลย
อย่าลืมรอติดตามเกร็ดความรู้จากโคนันเรื่องถัดไปด้วยนะครับ ◠‿◠
*********************************************************************** สามารถรับชมยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ได้ฟรีแบบถูกลิขสิทธิ์ตั้งแต่ปี 1-19 ได้ที่ TrueID :
https://movie.trueid.net/th-th/series/VPmGdma9EqN1
เกร็ดความรู้
ความรู้รอบตัว
อนิเมะ
3 บันทึก
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย