1 ก.ค. 2022 เวลา 03:30 • ข่าว
#BehindTheNews | "แพะรับบาป และการรื้อฟื้นคดี" จากเรื่องราวในละคร "ใต้หล้า" สู่ภาพความเป็นจริงในสังคมไทย
จบลงไปแล้วอย่างสวยงาม กับละครดัง "ใต้หล้า" ละครที่ไม่ใช่แค่การปล่อยฝีมือทางการแสดงของนักแสดงทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า แต่ยังเป็นละครที่แฝงคติการใช้ชีวิตที่น่าสนใจไว้มากมาย
หนึ่งในเส้นเรื่องสำคัญที่ละครเรื่องนี้สื่อสารออกมา คือ "กระบวนการยุติธรรม" ที่มีความน่าสนใจในหลายๆ ตอน ตั้งแต่เรื่อง "แพะรับบาป" การใช้อำนาจ การติดสินบนเจ้าพนักงาน ไปจนถึงการพยายามทำให้ตัวเองหลุดจากคดีที่ตนเป็นผู้กระทำความผิดจริง และความพยายามของคนคนหนึ่งในการ "รื้อฟื้นคดี"
วันนี้ News Rewind ชวนทุกท่านมาเรียนรู้ข้อกฎหมาย กรณี "แพะรับบาป" และ "การรื้อฟื้นคดี" ผ่านการมองเรื่องราวจากในละครเรื่องนี้ไปด้วยกัน
คำเตือน: บทความนี้ มีเนื้อหาบางส่วนที่เปิดเผยเนื้อหาของละคร
| ดู "ใต้หล้า" ก่อนอ่านเรื่องนี้ที่ https://oned.net/detail/6768 |
ทำความรู้จัก "แพะ" ในคดีอาญา
"แพะ" ในทางคดีอาญา สามารถแบ่งรูปแบบได้ 2 แบบ คือ
1. "แพะ" ในทางคดีอาญาจริง คือ ผู้ที่ถูกดำเนินคดี หรือถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดี แล้วภายหลังมีหลักฐานหรือศาลมีคำพิพากษาว่า "ไม่มีความผิด"
2. "แพะ" ที่กระทำการรับจ้างติดคุกแทนผู้กระทำความผิดตัวจริง
"แพะ" แบบที่ 1 ถ้าท่านได้มีโอกาสลองค้นหาข่าวเก่าๆ เกี่ยวกับแพะรับบาป จะพบหลายกรณีที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือกรณี 6 แพะรับบาปในคดี "เชอรี่แอน" เมื่อปี 2529 ที่พวกเขาทั้ง 6 ต้องสูญเสียอิสรภาพและโอกาสต่างๆ ในชีวิตไปนานถึง 6 ปี
ส่วน "แพะ" แบบที่ 2 เริ่มมีให้เห็นตามหน้าเว็บไซต์ข่าวบ้างเช่นกัน ตั้งแต่การร้องขอความเป็นธรรม จนถึงการที่ผู้รับจ้างฯ ออกมาเปิดโปงขบวนการรับจ้างติดคุกเองด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกับในละคร "ใต้หล้า" ที่ "สันติ" (รับบทโดย โอ อนุชิต) รับโทษคดีเมาแล้วขับแทน "หิรัญ" (รับบทโดย ไบรท์ นรภัทร) โดยจะได้รับผลประโยชน์หลังรับโทษด้วย รวมถึง "ชาญ" (รับบทโดย ภูริ หิรัญพฤกษ์) ที่ถูกทนายยื่นข้อเสนอเพื่อให้รับโทษทางอาญาแทนทั้งหมด ทั้ง 2 กรณีนี้ คือ "การรับจ้างติดคุก" ทั้งคู่
เป็น "แพะ" จริง ต้องได้รับการเยียวยา แต่ถ้าจงใจเป็น "แพะ" เจอคุกซ้ำ
หากคุณตกเป็น "ผู้ต้องหา" แล้วภายหลังมีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าคุณเป็น "ผู้บริสุทธิ์" ไม่ใช่แค่อิสรภาพเท่านั้นที่คุณต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ "โอกาส" ต่างๆ ที่คุณควรจะได้รับก็พาลหายไปด้วยเช่นกัน
พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2559) กำหนดสิทธิการเยียวยา "แพะรับบาป" ในฐานะผู้เสียหายจากคดีอาญา โดยแบ่งเป็น 2 กรณี
- กรณีที่ผู้เสียหายฯ ยังมีชีวิตอยู่ จะได้รับทั้งค่าทดแทนการถูกคุมขัง ค่ารักษาพยาบาล-ฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งกายและใจ ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ อ้างอิงตามค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดที่ทำการประกอบอาชีพ รวมถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นในการดำเนินคดี ตามที่กฎกระทรวงกำหนด
- กรณีผู้เสียหายฯ เสียชีวิตแล้ว จะได้ค่าทดแทนกรณีจำเลยถึงแก่ความตาย ค่าจัดการศพ ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งมีผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี
การเรียกร้องค่าชดเชยดังกล่าว จะต้องทำภายใน 1 ปี นับแต่ศาลให้อนุญาตถอนฟ้อง หรือวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด
แต่หากตกเป็น "ผู้ต้องหา" และภายหลังรับสารภาพว่า "รับจ้างติดคุก" นอกจากจะไม่ได้การชดเชยอะไรทั้งสิ้นแล้ว จะถูกดำเนินคดีซ้ำในความผิดฐานให้การ เบิกความอันเป็นเท็จ และผู้ที่จ้างให้ติดคุกแทนผู้กระทำผิดตัวจริง รวมถึงผู้กระทำผิดจริง อาจจะโดนความผิดที่หนักขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับกรณีที่ "สันติ" รับจ้างติดคุกแทน หากสารภาพกับตำรวจในภายหลัง ก็อาจต้องโทษซ้ำสองได้เช่นกัน
"การรื้อฟื้นคดี" พูดเหมือนทำได้ง่ายดาย แต่ความจริงต้อง 'สู้ยิบตา'
อีกหนึ่งประเด็นในละครที่เป็นจุดสำคัญของเรื่อง คือ "การรื้อฟื้นคดี" อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับพ่อและแม่ของ "ใต้หล้า" (รับบทโดย ต่อ ธนภพ) ที่เขาเองพยายามหาทางรื้อคดีดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ระบุเหตุที่ผู้เสียหายและต้องรับโทษแล้วจะสามารถขอรื้อฟื้นคดีได้ มี 3 กรณี คือ พยานให้การเท็จ พยานเอกสาร/วัตถุพยานเป็นของปลอม และมีพยานหลักฐานชิ้นใหม่
กลับมาที่กรณีในละคร "ใต้หล้า" การได้ตัวแพะรับบาปอย่าง "สันติ" มาช่วยรื้อฟื้นคดี ย่อมเป็นเรื่องดีแน่ ถ้าเขาไม่ได้รับจ้างติดคุกในคดีที่จะรื้อฟื้น และการมีหลักฐานที่ชัดเจน ก็ใช่ว่าศาลจะให้น้ำหนักชัดเจนตามหลักฐาน
เช่นเดียวกันกันบนโลกความเป็นจริงที่การให้น้ำหนักพยาน ย่อมไม่เท่ากัน อาจจะต้องสู้ยิบตากันอย่างมากในการค้นหาหลักฐานพยานชิ้นใหม่ที่มีน้ำหนักมากพอ ถึงจะรื้อฟื้นคดีได้สำเร็จ และการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ เป็นเพียงแค่การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจของจำเลยเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ผู้กระทำผิดตัวจริงได้รับโทษอย่างที่ควรจะเป็น
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการรื้อฟื้นคดีว่า การขอรื้อฟื้นคดี ต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ว่ามีเหตุให้รื้อฟื้นคดีได้ หรือภายใน 10 ปี นับตั้งแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุด รวมถึงการรื้อฟื้นคดี ยังมีช่องโหว่บางอย่างที่อาจทำให้รื้อฟื้นไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีที่มีการทุจริตของผู้พิพากษาคดีนั้นๆ หรือการตีความข้อกฎหมายผิดพลาด ทำให้กระทบต่อการใช้สิทธิขอรื้อฟื้นคดี
นี่เป็นเพียงเรื่องราวบางส่วน เท่าที่เราจะรวบรวมมาฝากทุกท่านได้ สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู เราเชื่อว่าถ้าคุณได้เปิดดูเรื่องนี้แล้ว คุณจะชื่นชอบและไม่ผิดหวังในฝีมือการแสดงของนักแสดงทุกคน พร้อมทั้งได้ข้อคิดดีๆ อย่างแน่นอน
#NewsRewindTH – More Than What Happened
ติดต่อโฆษณา: contact.newsrewind@gmail.com
#ใต้หล้า #ใต้หล้าตอนจบ #กฎหมาย #คดีอาญา
โฆษณา