1 ก.ค. 2022 เวลา 04:28 • ข่าวรอบโลก
*** เกิดอะไรขึ้นที่ศรีลังกา? ***
24
หากท่านเคยอ่านงานเขียนของผมเรื่อง “พยัคฆ์ทมิฬสิ้นชาติ” ท่านคงจะพอทราบคร่าวๆ ถึงเรื่องสงครามกลางเมืองศรีลังกาอันยาวนานหลายสิบปี และจบลงด้วยการที่ฝ่ายกบฏพยัคฆ์ทมิฬถูกกวาดล้างจนแทบสิ้นกำลังในปี 2009
ทว่าอย่างที่ผมเคยเขียนไว้ว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรจบลงจริงๆ สักอย่างเดียว…” สงครามครั้งนั้นก็เช่นกัน
1
จุดจบของมันกลับมีส่วนให้เกิดหายนะครั้งใหม่ในกาลต่อมา ภัยนี้ไม่ใช่มหาสงครามประหัตประหาร แต่เป็นหายนะทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ชาวศรีลังกาทั้งทมิฬและสิงหลเหมือนตายทั้งเป็น
เกิดอะไรขึ้นกันแน่กับศรีลังกา? ในบทความนี้ผมจะพาท่านไปย้อนดูตั้งแต่ความขัดแย้งในอดีตที่ทำให้เกิดสงครามใหญ่ เรื่องของกลุ่มวีรบุรุษที่กู้ชาติและทำลายมันลงกับมือในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี รวมไปถึงความผิดพลาดของศรีลังกาที่ทำให้เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน…
1
*** ประวัติย่อของศรีลังกา ***
ประเทศศรีลังกา เป็นเกาะเล็กๆ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย มีขนาดประมาณ 1 ใน 8 ของประเทศไทย มีประชากรราว 22 ล้านคน ร้อยละ 75 เป็นชาวสิงหล ร้อยละ 11 เป็นชาวทมิฬศรีลังกา นอกนั้นเป็นชาวมัวร์ มาเลย์ อินเดีย ชาวยุโรป และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ
ศรีลังกามีชัยภูมิดี เป็นท่าเรือสำคัญในการล่องเรือค้าขายระหว่างยุโรปกับเอเชีย มหาอำนาจต่างชาติจำนวนมากจึงหมายตา ดังนี้แต่โบราณมาบริเวณนี้จึงถูกแย่งชิงอยู่เสมอ จนกระทั่งอังกฤษมายึดเกาะทั้งหมดเป็นเมืองขึ้นในปี ค.ศ. 1815
เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองศรีลังกา ก็ใช้นโยบาย “แบ่งแยกแล้วปกครอง” เอาใจชาวทมิฬ และกดขี่ชาวสิงหล โดยให้อิสรภาพแก่ชาวทมิฬมากกว่า ให้การศึกษาและโอกาสที่ดีกว่า ชาวทมิฬมากมายได้เข้าทำราชการ จนข้าราชการส่วนใหญ่ของศรีลังกายุคอาณานิคมนั้นเป็นชาวทมิฬ
ภาพแนบ: ข้าราชการศรีลังกายุคอาณานิคม
อย่างไรก็ตาม ลัทธิอาณานิคมเสื่อมลงตามกาลเวลา ชาติใต้ปกครองพากันเรียกร้องเอกราช ศรีลังกาเองก็เช่นกัน…
พอการเมืองเปลี่ยนเป็นระบบรัฐสภาที่มีเลือกตั้งจากประชาชน ชาวสิงหลซึ่งมีจำนวนมากกว่าก็โหวตชนะ เรื่องราวจึงเริ่มกลับตาลปัตร จากที่ชาวทมิฬเคยมีสิทธิพิเศษมาตลอดก็กลายเป็นฝ่ายโดนกดขี่เสียเอง และเมื่อออกมาประท้วง รัฐบาลก็จัดการพวกเขาเด็ดขาด ความคับแค้นใจนี้ส่งผลให้ชาวทมิฬบางส่วนตั้งกองกำลังต่อต้านขึ้นมา ซึ่งก็มีทั้งแบบสันติวิธีและใช้กำลัง
ภาพแนบ: ศรีลังกาเป็นเอกราช
กองกำลังทมิฬอันโด่งดังที่สุด มีชื่อว่า “พยัคฆ์ทมิฬอีแลม” มีผู้นำคือ “เวฬุพิไล ประภาการัน” เป็นกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง ใช้วิธีการเหี้ยมโหดแบบก่อการร้าย สังหารเด็ก คนแก่ พระสงฆ์ เณร ชี ฯลฯ ไม่มีการยกเว้น
วีรกรรมเด่นๆ ของพยัคฆ์ทมิฬคือการใช้ “ระเบิดฆ่าตัวตาย” สังหาร ราจีฟ คานธี ผู้นำอินเดีย กลายเป็นต้นแบบให้กลุ่มก่อการร้ายทั่วโลกนำไปทำตาม
1
ภาพแนบ: เวฬุพิไล ประภาการัน
รัฐบาลศรีลังกาพยายามสู้รบกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ จนพวกทมิฬจวนเจียนจะมี “รัฐอีแลม” ของตนเอง และคงเป็นเช่นนั้น หากศรีลังกาไม่ได้ประธานาธิบดีคนใหม่นาม “มหินทา ราชปักษา” ในปี 2005
…เขาผู้นี้มีนโยบายถอนรากถอนโคนผู้ก่อการร้ายให้สิ้นซาก!
ภาพแนบ: มหินทา ราชปักษา
*** พญาราชปักษาครองประเทศ ***
“ตระกูลราชปักษา” เป็นตระกูลชาวนาร่ำรวยทางตอนใต้ของศรีลังกา พ่อและลุงของนายมหินทาลงเล่นการเมืองมายาวนานและได้รับเลือกเป็น ส.ส. ในเขตตนเรื่อยมา ลักษณะเด่นของตระกูลราชปักษาคือมีความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติเหนียวแน่น มีการส่งลูกหลานไปเรียนสูงๆ จากนั้นก็ให้กลับมาช่วยตระกูลในทางต่างๆ (คล้ายๆ ระบบกงสีของคนจีน)
ภาพแนบ: เครือญาติราชปักษา
พอมหินทาขึ้นเป็นประธานาธิบดีเขาก็วางญาติพี่น้องของตนในตำแหน่งสำคัญต่างๆ คนที่สำคัญที่สุดคือน้องชายแท้ๆ ชื่อ “โคตาพยา ราชปักษา” ซึ่งกลายเป็นรัฐมนตรีกลาโหมที่โหดเหี้ยมและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศรีลังกา…
1
ภาพแนบ: โคตาพยา ราชปักษา
เมื่อศึกใหญ่ระหว่างรัฐบาลศรีลังกาและพยัคฆ์ทมิฬเริ่มขึ้นในปี 2006 กองทัพศรีลังกาได้ทำการรบอย่างดุดัน สามารถตีชิงพื้นที่ในครอบครองของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ จนในปี 2009 ก็รุกไล่ชาวทมิฬนับแสนๆ ไปแออัดในพื้นที่ชายหาดแคบๆ ทางตะวันออก 20 ตารางกิโลเมตร เรียกว่า No Fire Zone
ตอนนั้นรัฐบาลได้กวาดล้างชาวทมิฬที่เหลือใน No Fire Zone อย่างโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ ไม่ต่างอะไรกับที่พยัคฆ์ทมิฬเคยทำกับประชาชนสิงหลเลย…
ภาพแนบ: ชาวบ้านทมิฬพยายามเอาตัวรอดด้วยการขุดหลุมหลบภัย (แต่ไม่ช่วยอะไร)
กบฏชาวทมิฬสิ้นฤทธิ์ไปในคราวนั้น และตระกูลราชปักษาก็ครองประเทศยาวนานสืบมาในฐานะวีรบุรุษที่นำพาความสงบมาสู่ชาติบ้านเมือง… พวกเขารุ่งเรืองอยู่ด้วยนโยบายชาตินิยมขวาจัดที่กดขี่ผู้เห็นต่างอย่างโหดร้าย และคนจำนวนมากก็พร้อมสนับสนุนเขาเสียด้วย
แต่ท่านครับ โลกแห่งความเป็นจริงมักไม่จบแบบนิทาน รัฐบาลศรีลังกาเสียเงินไปมากกับการทำสงครามกับชาวทมิฬ พื้นฐานทางเศรษฐกิจของศรีลังกาจึงง่อนแง่นมาแต่บัดนั้น …นี่คือปัญหาใหญ่ที่พวกราชปักษาต้องเผชิญในกาลต่อมา
*** เมื่อวีรบุรุษพาชาติล่ม ***
ตามที่ผมบอกไป ลักษณะเด่นของตระกูลราชปักษาคือมีความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติเหนียวแน่น ดังนั้นนอกจากมหินทาและโคตาพยา และคนอื่นๆ ในตระกูลก็มีตำแหน่งในรัฐสภาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้เกิดข้อครหาว่ารัฐบาลราชปักษากำลังร่วมกันฉ้อราษฎร์บังหลวง
ภาพแนบ: การ์ตูนล้อเลียนการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลราชปักษา
อย่างไรก็ตาม ต่อให้ไม่มีข้อหาดังกล่าว รัฐบาลก็บริหารงานผิดพลาดมาก กล่าวคือ ตระกูลราชปักษานั้นเป็นชาตินิยมขวาจัดซึ่งพึ่งพาแรงสนับสนุนจากกลุ่มพระสงฆ์ เนื่องจากพระสงฆ์นั้นมีแนวโน้มจะชอบรัฐสวัสดิการ “ที่ทำให้คนยากจนน้อยลง” มากกว่ารัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจทุนนิยม (ที่อาจเพิ่มความเหลื่อมล้ำ) จึงมีการพัฒนาสวัสดิการเป็นอันมาก แม้สิ่งนั้นจะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงบริการต่างๆ ได้มากขึ้นในราคาถูกลง แต่ก็แลกกับการใช้เงินจำนวนมากมาอุ้มประชาชน
สิ่งนี้ไม่เหมาะกับศรีลังกาที่ขาดดุลการค้ามานาน แม้พวกเขาจะส่งออกเสื้อผ้าและใบชาได้มาก แต่ก็เทียบไม่ได้กับปริมาณสินค้านำเข้า เมื่อมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก เงินก็ร่อยหรอ เมื่อไม่มีเงินก็ต้องกู้จากชาติอื่น เป็นการพอกพูนหนี้สินขึ้นเรื่อยๆ
2
ระหว่างนี้ ศรีลังกาไปกู้เงินมาจากหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น IMF, ญี่ปุ่น, หรือจีน ซึ่งจีนนี่เองได้สนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคในศรีลังกามากมาย เด่นๆ ก็เช่น โรงไฟฟ้าลังคะวิชัยยะ, สนามบินมัทธาลา ราชปักษา (มัทธาลาเป็นชื่อเมือง ไม่ใช่สมาชิกตระกูลราชปักษาอีกคนนะครับ) รวมไปถึงท่าเรือฮัมบันโตตา และ เมืองท่าโคลอมโบซึ่งสองอันหลังจีนจ่ายเงินขอเช่าที่ 99 ปีพ่วงมาด้วย
2
ภาพแนบ: ท่าเรือฮัมบันโตตา
ที่ให้กู้มาสร้างเยอะขนาดนี้ ไม่ใช่ว่าจีนใจใหญ่หรอกครับ แต่เพราะจีนมองศรีลังกาเป็นหนึ่งใน “โครงการเข็มขัดและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) หรือ “เส้นทางสายไหมใหม่” เพื่อขยายอิทธิพลทางการค้าของตัวเอง
ซึ่งนอกจากศรีลังกาแล้วจีนได้ให้เงินประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งกู้เป็นอันมาก แล้วเข้าไปครอบครองกิจการต่างๆ เพื่อทำให้การค้าขายสะดวกขึ้น ต่อมาถูกวิจารณ์มากว่าทำให้ประเทศเหล่านี้มีปัญหาหนี้สินหัวโตและต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลจีน
(อนึ่ง เคยมีการเปิดโปงเรื่องนายมหินทารู้เห็นเป็นใจ ไปพูดกับข้าราชการศรีลังกาเองว่า "ถ้าใช้หนี้จีนไม่หมดก็ไม่เป็นไร ยกท่าเรือให้จีนไปแล้วขอยกเลิกหนี้เอาก็สิ้นเรื่อง"
1
นอกจากนี้ การมาทำธุรกิจของจีน ใช่จะเป็นแบบชาติอื่นๆ ที่จ้างคนท้องถิ่นมาทำงาน โดยมีคนชาติตัวเองมาคุมเพียงจำนวนหนึ่ง แต่เป็นการนำแรงงานจีนมาทำทุกอย่างตั้งแต่ระดับแรงงานไปจนถึงผู้บริหาร ดังนั้นแทนที่ศรีลังการจะมีรายได้เข้าประเทศ และประชาชนมีงานทำ สิ่งต่างๆ ก็เลยตกเป็นของจีนหมด
…นี่เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลโดนวิพากษ์วิจารณ์มากว่า “ขายชาติ”
1
ภาพแนบ: แรงงานก่อสร้างชาวจีนในศรีลังกา
ถึงจะเงินเหลือน้อยลงเรื่อยๆ แต่ตระกูลราชปักษายังดำเนินแนวทางประชานิยมอีกหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2019 ที่นายโคตาพยาหาเสียงให้ตัวเองได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เขาได้ชู “นโยบายลดภาษี” เพื่อเอาใจประชาชนอีก ทำให้พอได้รับเลือกจริงๆ มีผู้ไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นนับล้านคน
…แต่เมื่อไม่มีเงินภาษีแล้ว ศรีลังกาจะเอาเงินจากไหนมาใช้หนี้ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน…
*** เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ***
ศรีลังกาพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่ง พอเจอกับเหตุก่อการร้ายในปี 2019 ซ้ำด้วยโควิดตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ภาคการท่องเที่ยวที่เคยเฟื่องฟูก็สูญหาย ทำให้ค่า GDP หรือมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดในประเทศน้อยลงไปอีก จนในปีนั้นงบประมาณของศรีลังกาขาดดุลถึง 12.2%
1
นอกจากนี้ศรีลังกายังมีการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเรื้อรังซึ่งทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ (ทำให้ค่าเงินอ่อนหรือถูกลง และสินค้านำเข้าซึ่งเป็นสินค้าส่วนใหญ่ก็แพงขึ้นตามไปด้วย)
1
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายช่วงต้นปี 2022 จนคนสามารถเที่ยวศรีลังกาได้ ก็ปรากฏว่าเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวสองชาตินี้ที่เคยเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ได้หายไป อีกทั้งรายได้จากการส่งออกชาให้รัสเซียหลายร้อยล้านเหรียญก็หายไปด้วย
1
แต่ต่อให้ไม่มีสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้เช่นด้านบน ศรีลังกาก็อาจไม่รอด เพราะนอกจากนโยบายประชานิยมและการพึ่งพาทุนจีน รัฐบาลยังผิดพลาดอีกหลายประการรัวๆ
1
…เช่น ปี 2021 โคตาพยาได้ออกนโยบายห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง โดยอ้างว่าต้องการเปลี่ยนให้ศรีลังกาทำการเกษตรแบบออร์แกนิค ช่วยรักษาสุขภาพของประชาชน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลต้องการลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีต่างหาก (เพราะไม่มีเงินแล้ว)
1
ปรากฏว่าสิ่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุแห่งความวิบัติ เพราะการไม่ใช้สารเคมีทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของศรีลังกามีจำนวนน้อยลง เช่น ข้าวที่เป็นอาหารหลัก นั้นได้หายไปจากท้องตลาดถึง 20% จึงเกิดความอดอยากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมจากต่างประเทศมาชดเชย ทั้งชาที่เป็นสินค้าส่งออกหลักก็ได้รับผลกระทบอีก แม้จะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าวไปภายหลัง แต่ความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว
1
…สรุปยิ่งแก้ยิ่งแย่ เหมือนรัฐบาลแกล้งเขียนบทมาให้ชาติล่มสลาย…
*** จุดวิกฤติ ***
นับแต่เดือนมีนาคมปี 2022 ประชาชนศรีลังกาได้ลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาล มีการสร้างแคมเปญ GoHomeGota2022 หรือ GotaGoHome เพื่อขับไล่นายโคตาพยาลงจากตำแหน่ง
นายโคตาพยาพยายามแถลงให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาล แต่ปรากฏว่าศรีลังกาไม่อาจชำระหนี้ต่างประเทศจำนวน 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ (ประมาณ 1.716 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เป็นเอกราช ทั้งที่ในปี 2022 นี้ อินเดียและจีนให้เงินช่วยเหลือและลดหนี้ให้ศรีลังการวมแล้ว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนทุนสำรองก้อนสุดท้ายประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต้องกันไว้นำเข้าสินค้าจำเป็น
ภาพแนบ: โคตาพยากับนายนเรนทระ โมดี นายกอินเดีย
ผลกระทบตามมาคือศรีลังกาหมดความน่าเชื่อถือในการค้าขาย สาธารณูปโภคจำเป็นเช่นอาหาร ยา เชื้อเพลิง ล้วนขาดแคลน จะนำเข้าจากต่างประเทศก็ไม่มีใครขายให้ จะผลิตเองก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ สุดท้ายราคาของทุกอย่างเลยพุ่งขึ้นไปสูงลิ่ว
1
ตัวอย่างคือ ข้าวสารราคาขึ้นไป 93% ส่วนมะพร้าวซึ่งเป็นหนึ่งในของโปรดของคนศรีลังกา ก็ขึ้นราคาจาก 50 รูปีศรีลังกา ไป 91 รูปีศรีลังกา นอกจากนั้นเงินก็ยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง
ส่วนในด้านพลังงาน ศรีลังกาต้องตัดไฟ 13 ชั่วโมงต่อวัน และงดการขายน้ำมันแก่บุคคลทั่วไป เพื่อเก็บสำรองพลังงานที่แทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้วไว้ใช้ในยามจำเป็น นอกจากนี้ยังมีการสั่งปิดโรงเรียนและงดทำงานด้วย …เพื่อเป็นการประหยัดทุนทุกอย่าง
ภาพแนบ: เจ้าหน้าที่เฝ้าปั๊มน้ำมันไม่ให้ประชาชนมาแอบเติมเว้นแต่ได้รับอนุญาต
…พอไม่มีน้ำมันการขนส่งของศรีลังกาก็หยุดชะงัก ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักตาม
1
…สิ่งที่ตามมาคือวิกฤตอาหารและมนุษยธรรม
…ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนโกรธแค้นมาก ชาวศรีลังกาได้รวมกันเผาบ้านของนายมหินทา ราชปักษา อดีตวีรบุรุษสงคราม แม้เขาจะยอมลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม ซึ่งจากการรายงาน เกิดการกวาดล้างผู้ประท้วงทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 คน บาดเจ็บอีก 200 คน
ในห้วงวิกฤต รัฐบาลราชปักษาพยายามลดแรงกดดันโดยดึงนายรานิล วิกรมสิงเห ซึ่งเป็นนักการเมืองอาวุโสสายกลางขึ้นมาบริหารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม
นายรานิลรับเผือกร้อนมาถืออย่างยากลำบาก สุดท้ายพอวันที่ 22 มิถุนายน เขาได้ออกแถลงการณ์ว่า “เศรษฐกิจของศรีลังกาล่มสลายลงโดยสมบูรณ์แล้ว” (completely collapsed)
3
ภาพแนบ: นายรานิล วิกรมสิงเห
*** บทส่งท้าย ***
ในฐานะผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ ท่านคงจะเห็นว่าเรื่องราวหลายอย่างมักเวียนซ้ำเสมอ เรื่องของการ “สิ้นชาติ” ของศรีลังกาในครั้งนี้ ก็อาจรวมอยู่ในหมวดหมู่นั้นได้
สำหรับชาวทมิฬ ประภาการันคือวีรบุรุษ และวีรบุรุษคนเดียวกันนี้ พาชาติล่มสลาย
สำหรับชาวสิงหล ตระกูลราชปักษาคือวีรบุรุษ และวีรบุรุษกลุ่มเดียวกันนี้ พาชาติล่มสลาย
…แท้จริงวีรบุรุษต่างจากผู้ร้ายเพียงใด อะไรทำให้วีรบุรุษกลายเป็นผู้ร้ายได้เพียงนั้น?...
ในวิกฤตศรีลังกาปัจจุบันนี้ แม้รัฐบาลจะยังพยายามดิ้นรนขอกู้เงินมาหมุนต่อ และบากหน้าไปขอซื้อน้ำมันจากรัสเซีย (ที่ถูกชาติตะวันตกจะบอยคอตอยู่) แต่ชาวศรีลังกาสูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐไปมาก และบางส่วนที่ยังพอมีเงินก็พากันหนีออกจากนอกประเทศไป ไม่ต่างกับที่เคยเกิดในช่วงสงครามกลางเมือง
1
จากการวิเคราะห์ ดูเหมือนทางออกเดียวของศรีลังกาคือต้องกู้เงินเพิ่มจาก IMF ส่วนอดีตนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกชาวศรีลังกาก็ออกมาแสดงความเห็นว่ารัฐจำเป็นต้องลดเงินอุดหนุนราคาสินค้าหลายอย่าง ซึ่งเท่ากับยิ่งซ้ำเติมประชาชนในช่วงเวลานี้
…มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวอีกว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ร้ายแรงยิ่งกว่าสงครามกลางเมืองนาน 30 ปีที่สร้างชื่อให้ตระกูลราชปักษาเสียอีก…
วิกฤตนี้จะปริวรรตไปเป็นอย่างใดนั้น มีแต่เวลาที่บอกได้…
โฆษณา