2 ก.ค. 2022 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
ทำไม เด็กสมบูรณ์ ถึงมาทำ ไอศกรีม
เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา หยั่น หว่อ หยุ่น เจ้าของซีอิ๊วแบรนด์ดังอย่างเด็กสมบูรณ์ ได้ออกสินค้าเป็น “ไอศกรีม”
บางคนมองว่ามันดูไม่เข้ากันกับแบรนด์เอาเสียเลย
1
เพราะที่ผ่านมาเด็กสมบูรณ์ มีภาพติดตาคือทำแต่ซอสปรุงรสอย่างซีอิ๊วขาว หรือซีอิ๊วดำ ซึ่งมันก็ทำให้แบรนด์ดูเหมาะกับการเป็นแบรนด์ที่ทำมาเพื่อของคาว
ซึ่งพอมาทำสินค้าเป็นไอศกรีมที่เป็นของหวาน ก็เลยดูจะขัดกันในความรู้สึกของเรา
แต่เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะเด็กสมบูรณ์ไม่ได้ทำไอศกรีม เพื่อให้เป็นแค่กระแสในระยะสั้น ๆ
แต่มีการเปิดหน้าร้านขายไอศกรีมอย่างจริงจัง
แล้วเด็กสมบูรณ์คิดอะไร ทำไมถึงเลือกทำสินค้าเป็นของหวาน ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง..
1. ปัดฝุ่นแบรนด์อายุ 75 ปี เพื่อให้เด็กและคนทุกวัย เข้าถึงได้มากขึ้น
จากบทสัมภาษณ์ และการเปิดตัวสินค้าใหม่ของกลุ่มบริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น เจ้าของแบรนด์เด็กสมบูรณ์ ในงาน THAIFEX ช่วงปี 2018
ทางบริษัทก็ได้ระบุว่า เป้าหมายของการเปิดตัวสินค้าใหม่เป็นไอศกรีมนี้ ก็เพื่อต้องการทำให้แบรนด์ดูเด็กลง
โดยที่ผ่านมา ถึงแม้เด็กสมบูรณ์จะเป็นหนึ่งในเจ้าตลาดเรื่องซอสปรุงรส แต่ก็ต้องยอมรับว่า แบรนด์ยังมีภาพลักษณ์ที่ดูแก่ เพราะกลุ่มลูกค้าที่จะซื้อก็คือ กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่ที่ทำอาหาร หรือกลุ่มผู้สูงอายุ
ซึ่งถ้ามองในแง่ของกลุ่มเป้าหมาย แบรนด์เด็กสมบูรณ์ยังเกาะคนได้แค่กลุ่มเดียว ไม่สามารถขยายไปหากลุ่มเด็ก และกลุ่มวัยรุ่นได้ ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ลูกค้าวัยอื่น ๆ เข้าถึงแบรนด์ได้ก็คือ การออกสินค้าใหม่ นั่นเอง
โดยกลยุทธ์แรกของแบรนด์ที่จะทำให้คนกลุ่มอื่น เข้ามาหาแบรนด์ได้ก็คือ “ของหวาน” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุสามารถทานได้
ทางแบรนด์จึงได้นำเอาซอสซีอิ๊วขาวสูตร 1 ไปปรับปรุงและพัฒนาสูตรใหม่ เพื่อให้สามารถกลายเป็น
ซอส 4 รสชาติ
คือ ไซรัปรสบ๊วย, ท็อปปิงรสพริกศรีราชา, ท็อปปิงรสซีอิ๊วดำ, ไซรัปรสคาราเมลซีอิ๊วขาว
จากนั้นก็ได้เปิดตัวไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟรสชาติต่าง ๆ เริ่มจากรสเต้าเจี้ยว รสซีอิ๊วดำ
โดยราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ถ้วยละ 30 บาท ซึ่งปัจจุบันมีหน้าร้านอยู่ 2 แห่ง คือที่เยาวราช และซอยไผ่เงิน สาธุประดิษฐ์
ซึ่งทางแบรนด์ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะให้สินค้าไอศกรีม มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในตลาด แต่แค่ต้องการทำให้คนเห็นว่าแบรนด์เด็กสมบูรณ์ สามารถเป็นได้มากกว่าแบรนด์ซีอิ๊วขาว
2. เพิ่มรายได้และกระจายความเสี่ยง ด้วยกลยุทธ์ Brand Extension
เราคงจะเห็นแล้วว่าแบรนด์ใหญ่ ๆ ทั้งระดับประเทศ และระดับโลก ก็มักจะมีการออกสินค้าใหม่ หรือรสชาติใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งกลยุทธ์นี้เรียกว่า Brand Extension
หรือก็คือ การขยายแบรนด์โดยการตั้งชื่อแบรนด์ให้กับสินค้าในประเภท หรือหมวดหมู่ใหม่ ซึ่งประเภทของสินค้าที่ตั้งขึ้นมาใหม่นั้น อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทเดิมของแบรนด์ที่เคยทำอยู่ หรืออาจเป็นประเภทสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องเลยก็ได้
1
โดยแบรนด์ไหนที่มีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง และประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็จะช่วยให้แบรนด์นั้น สามารถเปิดตัวสินค้าใหม่ ในประเภทใหม่ ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ซึ่งบางแบรนด์ที่ต้องการแตกไลน์ประเภทสินค้าใหม่ ๆ มักจะทำเพื่อกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ
เช่น ธุรกิจเดิมอาจจะมีส่วนแบ่งการตลาดน้อยลง มีคู่แข่งมากขึ้น หรืออาจถูกดิสรัปชันด้วยเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ทำให้ต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ
แต่สำหรับเด็กสมบูรณ์ ก็ถือเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำรายได้ พร้อมกับอยากให้ธุรกิจเติบโตมากยิ่งขึ้น เหมือนอย่างแบรนด์อื่น ๆ
เช่น แบรนด์โก๋แก่ก็หันไปทำไอศกรีม เพราะอยากขยายฐานลูกค้าให้เติบโต และเพิ่มรายได้ให้กับแบรนด์มากขึ้น นั่นเอง
หรือถ้ามองไปที่ตัวอย่างแบรนด์ระดับโลก ที่ใช้กลยุทธ์นี้ก็คือ Nike ที่สินค้าหลักคือ รองเท้ากีฬา แต่ก็ขยายแบรนด์ออกมาเป็นเสื้อกีฬา แว่นกันแดด ลูกฟุตบอล ลูกบาสเกตบอล เป็นต้น
สรุปง่าย ๆ ก็คือ การที่แบรนด์ใหญ่อย่างเด็กสมบูรณ์ หันมาทำสินค้าใหม่อย่างไอศกรีม จะเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แบรนด์ดูเด็กลง
และการที่ใช้ชื่อเด็กสมบูรณ์ จะทำให้สินค้าใหม่ขายได้ง่ายขึ้น เพราะชื่อเสียงเดิมของแบรนด์ที่ผ่านมา ก็ทำให้คนเชื่อถืออยู่แล้ว
ดังนั้นการที่แบรนด์เก่า มาทำสินค้าใหม่ภายใต้หมวกใบเดิม ที่มีคนเชื่อถือมากพอ
ก็มีโอกาสที่จะทำรายได้ใหม่ ได้ง่ายยิ่งขึ้น นั่นเอง..
โฆษณา