2 ก.ค. 2022 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
“เก๋งนุกิจราชบริหาร” อาคารสถาปัตยกรรมจีนหนึ่งเดียวในวังหน้า
ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร มีอาคารทรงเก๋งจีนชั้นเดียวขนาดย่อมหลังหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระวิสูตรวาลี (มลิ) สร้างขึ้นที่บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
ซึ่งเป็นพระที่นั่งประทับของพระองค์ ปัจจุบันใช้เป็นห้องพระบวรราชานุสรณ์ จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ เครื่องที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และมรดกทรงคุณค่ามากมาย
อาคารเก๋งนุกิจราชบริหารที่ตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งนั้น ตัวอาคารหลังคามุงกระเบื้องจีน บริเวณจั่ว หน้าบัน และสันหลังคาเขียนสีลายกระบวนจีน ประตูด้านหน้าเป็นประตูบานพับไม้แกะสลักเขียนสีเป็นรูปเครื่องตั้งและแจกันปักเครื่องมงคลจีน
ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งสามด้าน เขียนเรื่องนวนิยายห้องสิน (เฟิงเสินปั่ง 封神榜 หรือสถาปนาเทวดา) เรื่องเดียว ฝีมือช่างจีนชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๔ มีความสวยงามประณีตลายเส้นอ่อนช้อย เขียนชื่อตัวละครสำคัญเป็นภาษาจีนบนภาพจิตรกรรม
ห้องสินจัดเป็นยอดแห่งนวนิยายอิทธิปาฏิหาริย์ของจีน ประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง ช่วงปีค.ศ.๑๕๖๗-๑๖๒๐ ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ซึ่งถือเป็นยุคทองของวรรณกรรม เนื้อเรื่องโดยสังเขปใช้ประวัติศาสตร์ตอนปลายราชวงศ์ซางถึงต้นราชวงศ์โจว พระเจ้าติวอ๋อง (โจ้วหวาง) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซางลุ่มหลงนางขันกี โหดร้ายทารุณต่ออาณาประชาราษฎร์ จิวบุ๋นอ๋อง (โจวเหวินหวาง) ราชาแห่งแคว้นโจว จำต้องยกทัพธรรมมาปราบ
โดยมีเกียงจูแหย (เจียงจื่อหยา) เป็นแม่ทัพ อีกทั้งมีเทวดาและเทพปกรณัมจีนมากมายมาช่วยรบทั้งสองฝ่าย ก่อนศึกครั้งนั้นอาจารย์เทพของเกียงจูแหยได้มอบบัญชี “ห้องสินปั่ง” เป็นรายชื่อผู้ที่จะต้องตายในการรบ ๓๖๕ คน โดยให้เกียงจูแหยนำไปตั้งศาลรักษาไว้ เรียกว่า “ห้องสินไต้”
เมื่อผู้ใดตายลง ดวงวิญญาณ ก็ไปสถิตอยู่ ณ ที่นั้น และเมื่อครั้นสงครามสิ้นสุดด้วยชัยชนะของจิวบู๊อ๋อง (สืบสานงานต่อจากบิดา) เกียงจูแหยจึงทำพิธีสถาปนาดวงวิญญาณทั้ง ๓๖๕ ดวงขึ้นเป็นเทวดา
ในอดีตภายในเก๋งนุกิจราชบริหารแขวนประดับแผ่นป้ายถวายชัยมงคลอักษรจีน (คำกลอนคู่หรือตุ้ยเหลียน) ซึ่งสันนิษฐานว่า ได้รับพระราชทานจากราชสำนักจีนถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสรับบวรราชาภิเษก เมื่อพ.ศ.๒๓๙๔ ข้อความบนป้ายเขียนคำมงคลว่า
• ฝูจื้อเชียนชิวเหรินเล่อเหยาเทียนเกอเซิ่งซื่อ
มีบุญวาสนาพันปีปวงประชาสุขเกษม ร้องรำทำเพลงแซ่ซ้องยุคสมัยแห่งความไพบูลย์ (ดั่งสมัยเหยาตี้*)
• โซ่วหลิงไป่ไต้หมินซินซุ่นรื่อชิ่งเซิงผิง
อายุยืนร้อยปีเหล่าข้านิกรสรรเสริญ เฉลิมฉลองความสงบสันติในบ้านเมือง (เสมือนสมัยซุ่นตี้*)
(*เหยาตี้ซุ่นตี้เป็นกษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถในยุคสมัยโบราณของจีน)
ระบุปีที่เขียนในฤดูร้อนปีซินไห่ ตรงกับพ.ศ.๒๓๙๔ (ค.ศ.๑๘๕๑ ในรัชกาลจักรพรรดิเสียนเฟิงแห่งราชวงศ์ชิง) ปัจจุบันแผ่นป้ายทั้งสองได้นำไปจัดแสดงอยู่ภายในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
เก๋งนุกิจราชบริหารและแผ่นป้ายถวายชัยมงคล จึงเป็นงานศิลปกรรมแบบจีนที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยจีน ที่มีมาอย่างยาวนานต่อเนื่องในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้ได้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.jeenthainews.com/china-news/42746_20220701
ติดตามข่าวเด่นประเด็นร้อนจากแดนมังกรและทั่วทุกมุมโลก: https://www.jeenthainews.com/
โฆษณา