Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มนุดปอ
•
ติดตาม
2 ก.ค. 2022 เวลา 13:31 • สุขภาพ
🎐"ฟังอย่างไร ไม่ให้ใจเราจมดิ่ง"
ผมเคยเขียนถึง #ทักษะการฟัง และ #การฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ ไปแล้วในบทความก่อน ๆ (Ep.ที่ 76-79 *เอาเลข Ep. ไปเสิร์ชหาในเพจมนุดปอได้เลยฮะ) ว่าการฟังที่ดีต่อทั้งตัวเขาและตัวเราเองก็ไม่เครียดไม่เศร้าไปด้วย คือการฟังที่เราไม่พยายามจะรับทุกสิ่ง เข้าใจทุกอย่าง อินกับทุกความรู้สึก รวมถึงไม่พยายามจะไปจัดการหรือหาทางออกของปัญหาให้อีกฝ่าย
แต่การฟังที่ดีคือการฟังอย่างเป็นกลาง ไม่ตัดสิน ไม่คิดไปก่อนหรือตั้งคำถามจี้ไม่ใช่การฟังแบบจมดิ่ง แต่ก็ไม่ใช่ให้ฟังแบบผ่าน ๆ ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ฟังไปงั้น ๆ อีกฝ่ายเขาก็จะรับรู้ได้ว่าเราไม่ได้สนใจฟังเขาจริง ๆ😥
"แล้วจะต้องฟังอย่างไร ไม่ให้ใจเราจมดิ่ง?"
ผมอยากให้เพื่อน ๆ ลองกำหมัดแล้วชกกำแพงด้วยแรงประมาณ 10 กิโลกรัมดูนะครับ สิ่งที่ได้กลับมาคือความเจ็บปวดขนาด 10 กิโลกรัมใช่มั้ยครับ เป็นกฎของ Action = Reaction ซึ่งคนส่วนใหญ่เวลาฟังเรื่องราวไม่สบายใจก็มักจะรับความเครียดเอาไว้ตรง ๆ เหมือนชกกำแพงแบบนี้ ความเครียดทั้ง 10 กิโลกรัมจึงตกอยู่ที่ตัวเองไปด้วย🤜🏻🧱
ทีนี้เพื่อน ๆ ลองกำหมัดแล้วชกไปที่ผ้าม่าน(ที่เปิดหน้าต่างอยู่) ด้วยแรงประมาณ 10 กิโลกรัมดูครับ ไม่เจ็บเลยใช่มั้ยครับ จะใส่แรง 20 30 หรือใส่ไปเป็น 100 ก็ไม่เจ็บเลยซักนิด ผ้าม่านที่โดนต่อยก็แค่ปลิวขึ้นไปแล้วก็ลอยกลับมา นี่คือ "กฎของผ้าม่าน" ครับ🤜🏻🎐
ดังนั้นเวลาที่เราฟังเรื่องไม่สบายใจหรือเรื่องเครียดใด ๆ ให้เราฟังโดยคิดไว้เสมอว่าตัวเองเป็นผ้าม่านที่พริ้วไหว ตั้งรับอย่างสบาย ๆ ฟังเรื่องของอีกฝ่ายอย่างนุ่มนวลและปล่อยให้อารมณ์เชิงลบเหล่านั้นปลิวผ่านผ้าม่านไป พร้อมกับสื่อบรรยากาศอันอ่อนโยนนั้นส่งต่อไปให้อีกฝ่ายได้รับรู้ผ่านการสื่อสารและท่าทางด้วยการยิ้มมุมปากซักเล็กน้อย พยักหน้าเป็นครั้งคราว สบตาเขาอย่างเหมาะสม หากเราทำเช่นนี้ได้เราก็จะไม่ต้องรับเอาความเครียดความเศร้าของอีกฝ่ายเข้ามา ในขณะที่อีกฝ่ายก็รู้สึกผ่อนคลายและเบาสบายลงด้วยเช่นกัน🍃
แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ ทั้งทักษะการฟังและการเข้าอกเข้าใจ รวมถึงการฟังแบบกฎของผ้าม่าน เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและความอดทนในการฝึกฝน
ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยถ้าเราจะฟังเรื่องของเขาแล้วเกิดอยากช่วย ฟังแล้วรู้สึกอิน มีอารมณ์ร่วมหรือจมดิ่งไปกับเรื่องของเขานั่นเป็นสิ่งที่คนเรามักเป็นเวลาให้คำปรึกษาหรือรับฟังปัญหาของคนอื่นโดยเฉพาะคนที่เราใกล้ชิดสนิทสนม แต่ถ้าเราฟังแบบนี้บ่อยเข้าแล้วรับเอาทุกปัญหา ทุกความรู้สึกของเขามาเป็นของเรา สุดท้ายแล้วเรานี่แหละครับที่จะจบปัญหาเหล่านั้นไม่ได้แล้วกลายเป็นเศร้าหรือเครียดตามเขาไปด้วย 🤯😰
การฟังอย่างการเข้าอกเข้าใจจึงไม่ใช่ "การเอาใจเขามาใส่ใจเรา" ไม่ใช่ "การเข้าใจเขาทุกอย่าง" แล้วก็ไม่ใช่ "การรับทุกความรู้สึก" แต่เป็นการฟังอย่างจริงใจ ไม่ตัดสิน ไม่ด่วนสรุป ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น เห็นในสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อทั้งคำพูด น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง แล้ววางตัวเป็นกลางมองปัญหาและรับฟังเขาจากวงนอก ไม่เข้าไปร่วมในวงปัญหากับเขาด้วย
ไม่ตั้งกำแพงหรือกั้นรั้วหนามขึ้นมาเพื่อสะท้อนอารมณ์เชิงลบกลับไป เขาจะได้ไม่ต้องชกกำแพง เราเองก็จะได้ไม่ต้องเจ็บ
ให้นึกภาพตัวเองเป็นผ้าม่านพริ้วไหวเข้าไว้ เวลาฟังเรื่องเครียดหรือเรื่องไม่สบายใจอะไรก็ให้ปล่อยอารมณ์ลบเหล่านั้นลอยลิ้วผ่านไปตามลม(แต่อย่าลืมเปิดหน้าต่างเปิดใจก่อนจะรับฟังใคร)🍃
ขอบคุณที่เปิดหน้าต่างอ่านบทความนี้จนจบ
"Just take a baby step." 👶🏻 By #มนุดปอ #manudpor
#psychology #จิตวิทยา #พัฒนาตนเอง #selfdevelopment #selfgrowth #listening #communication #relationships #empathy #sympathy #ความเครียด #สุขภาพจิต #MentalHealth | 061/2022 (มนุดปอ Ep.101)
👨🏻🏫อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม
📙หนังสือ
- The Power of OUTPUT "ศิลปะของการปล่อยของ" | Shion Kabasawa
- The Power of Input "ศิลปะของการเลือก รับ รู้" | Shion Kabasawa
📄บทความ
- "แค่เล่าก็เบาลง แค่ได้ปรึกษาใครซักคนก็เริ่มเห็นหนทาง" | มนุดปอ Ep.76
- "ฟัง" สิ่งที่เขาอยากพูด ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากฟัง | มนุดปอ Ep.77
- "4 เทคนิคการรับฟัง" ที่จะช่วยให้ผู้พูดเปิดใจได้มากยิ่งขึ้น | มนุดปอ Ep.78
- "การเข้าอกเข้าใจ" ต่างกันยังไงกับการสงสาร!? | มนุดปอ Ep.79
mentalhealth
communication
empathy
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย