3 ก.ค. 2022 เวลา 00:00 • ธุรกิจ
เขียน OKRs อย่างไรให้เร้าใจ
ปัญหาที่ผมมักจะพบในองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะบรรยายอย่างไรก็ตาม ก็มักจะเห็นหลาย ๆ คนเขียน OKRs มาแบบเป็นงานประจำทั่ว ๆ ไป ทำกันได้อยู่แล้ว เหตุผลหนึ่งก็อาจจะเกิดจากการที่เขาชินกับการเขียน KPIs ในรูปแบบนี้ ยิ่งพยายามให้เขียนให้ท้าทาย ยิ่งยาก เพราะโดยปกติการที่เราตั้งเป้าหมายอะไรสักอย่าง เราจะต้องทำให้ได้ ถ้าไม่ได้ เราก็มักจะไม่ได้รับรางวัล หรือ ในบางกรณีอาจจะโดนทำโทษด้วยซ้ำ
ผมเลยพยายามคิดค้นวิธีที่จะช่วยกระตุ้นให้เรากล้าเขียน OKRs ที่ท้าทาย ลองทดลองทำตามขั้นตอนนี้กันนะครับ
1. ให้ทำตารางอันหนึ่ง ให้พนักงานเขียนว่า งานประจำที่เขาต้องทำมีอะไรบ้าง ใส่มาให้หมด
2. มาถึงตอนเขียน OKRs ให้ทำตามลำดับดังนี้
2.1 OKRs ที่เขียน ต้องห้ามซ้ำกับงานประจำที่เขียนมาในข้อที่ 1
2.2 หรือถ้าจะเขียนซ้ำ มันต้องดีกว่าเดิม เช่น พนักงานฝ่ายผลิตเขียน OKRs ถ้าจะเขียนว่าผลิตสินค้า แบบนี้จะซ้ำกับงานประจำ แต่ถ้าเขียนว่าจะผลิตสินค้าให้ของเสียลดลงจาก 5% เป็น 0% แบบนี้ได้ เพราะดีขึ้นกว่าเดิม
ข้อที่ 1 และ 2 นี้จะเป็นการช่วย Screen งานประจำออกจาก OKRs คือเขาจะได้เห็นว่า อะไรคืองานประจำ อะไรคือ OKRs ไม่งั้นคนเขียนก็นึกไม่ออก หรือ อดไม่ได้ที่จะเอางานประจำเข้ามาใส่
3. ก่อนที่จะเขียน OKRs ให้เขียนข้อความทำนองนี้ครับ
ชื่อ............... ตำแหน่ง.............. หน่วยงาน................
ขอเสนองานชิ้นสำคัญมากที่สุด ที่จะมีส่วนช่วยองค์กรเป็นอย่างมากในไตรมาสที่ 1 ดังต่อไปนี้
แล้วค่อยตามด้วย OKRs การเขียนแบบนี้ จะช่วยลดการเขียน OKRs ที่ไม่ท้าทายจนหมดครับ ผมยกตัวอย่าง เช่น ถ้าผมจะเขียน OKRs ของผมนะครับ...
นภดล ร่มโพธิ์ ตำแหน่งศาสตราจารย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเสนองานชิ้นสำคัญมากที่สุดเพื่อช่วยเหลือคณะ ฯ อย่างมากในไตรมาสที่ 1 ดังต่อไปนี้
Objective: เข้าร่วมประชุม
Key Result "เข้าประชุม 2 ครั้งต่อเดือน"
คือจะเห็นว่า ผมคงไม่กล้าที่จะเขียนแบบนั้น เพราะมันดูยังไม่ใช่เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ผมควรนำเสนอภายใต้ชื่อและตำแหน่งของผม คือ เขาต้องการผมเพื่อมาประชุม 2 ครั้งต่อเดือนแค่นี้เหรอ มันจะช่วยเหลือองค์กรได้มากเลยเหรอ
หรือเอาจริง ๆ นะครับ ถ้าจะจ่ายเงินเดือนหลายหมื่น มาเพื่อเข้าประชุม 2 ครั้งต่อเดือน ดูแล้ว ผมว่าองค์กรอาจจะคิดใหม่เลยนะครับ ว่าคนนี้ทำได้แค่นี้เองเหรอ
ดังนั้นเราอาจจะต้องคิดใหม่ ทำใหม่เลย ทำให้เหมาะสมกับชื่อและตำแหน่งของผมเลย เช่น นภดล ร่มโพธิ์ ตำแหน่งศาสตราจารย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเสนองานชิ้นสำคัญมากที่สุดเพื่อช่วยเหลือคณะ ฯ อย่างมากในไตรมาสที่ 1 ดังต่อไปนี้
Objective: เป็นอาจารย์ที่เก่งที่สุดในประเทศไทย
Key Result: ตีพิมพ์ผลงานวิจัยใน International Journal ในระดับ Q1 จำนวนอย่างน้อย 1 บทความ
แบบนี้จะเห็นว่า OKRs แบบนี้มันเร้าใจกว่า มันเหมาะสมกับชื่อและตำแหน่งเรามากกว่า การเขียน OKRs มันคือ Brand ของเราเลยนะครับ เขียนแล้วมันจะถูกแบ่งปันให้ทุกคนได้เห็น รวมถึงเจ้านายเรา เขียนดี ๆ นะครับ ผู้บริหารบางคนถึงกับบอกกับผมว่า จริง ๆ ผมไม่ได้สนผลเท่าไรหรอก แค่อ่าน OKRs ผมก็ให้ Grade ได้แล้วว่าจะ Promote ใคร เพราะฉะนั้นการเขียน OKRs จึงเป็นสิ่งที่สำคัญจริง ๆ
แต่ก็อย่างที่บอกครับ ไม่มีถูก มีผิด อะไรที่ใช้แล้วมัน work ใช้ไปได้เลยครับ ผมเพียงแต่อยากจะนำเสนออีกแนวทางหนึ่งเท่านั้นครับ
โฆษณา