3 ก.ค. 2022 เวลา 04:31 • ครอบครัว & เด็ก
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับลูก...
โดยพ่อแม่ที่มาจากสถานะครอบครัวต่างกัน
หลายคนนึกถึงภาพที่ว่า สถานะต่างกันคงมีเพียง
ทายาทบ้านเศรษฐี แต่งกับลูกสาวกำนันจากตำบลไกลๆ เหมือนในหนัง
2
ซึ่งชีวิตจริง มันไม่ได้มีแค่นั้น
ถ้าไม่ซับซ้อนจนตามศึกษาแทบไม่ทัน
ก็คงไม่เรียกว่า "ชีวิต"
ในความเป็นจริง เราสามารถพบเจอคู่บ่าวสาวได้จากสถานะครอบครัวที่หลากหลายกว่านั้นมาก
แต่จะขอเจาะลงไปเพียง Type หนึ่ง ที่พบเจอได้แทบจะเป็นสัดส่วนหลักของประชากรไทย
นั่นก็คือ
ฝ่ายหนึ่งมาจากครอบครัวที่เคยลำบาก
กับอีกฝ่าย มาจากครอบครัวที่ค่อนไปทางยากจน
เราจะเห็นว่า ทั้งคู่อาจไม่ได้มีพื้นฐานเรื่องการเงินที่ดีกว่ากันสักเท่าไหร่
เมื่อเจอกันแล้วหมายมั่นจะปั้นชีวิตให้ดีกว่าที่เคยประสบ ก็ล้วนต้องสร้างเองทั้งสิ้น
ซึ่งบางคู่ก็ผ่านมาได้ แต่ยังไม่จบแค่นั้น
หลังการสร้างเนื้อสร้างตัว จนพอมีพอใช้เพื่อให้เกิดความมั่นคง มีบ้านมีรถ มีเงินเก็บสำรองยามฉุกเฉิน ฯลฯ
แล้วจึงตกลงใจ มีลูกด้วยกัน
มาถึงจุดนี้ บรรดาคนสนิทที่รู้จักคุณ อาจแสดงความยินดีและมองว่าพวกคุณจะมีความสุขตราบชั่วนิรันดร์ ... ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปนิด
เพราะในความเป็นจริง มรสุมลูกใหญ่ที่รอให้พ่อแม่ก้าวผ่านไปให้ได้นั้นก็คือ
การสอนลูก
หลายคน งง มันยากตรงไหน ?
... หากเรามีจุดหมายชัดเจนว่าในอนาคต ลูกจะต้องมีคุณภาพชีวิตยังไง ความนึกคิด Mindset เขาต้องเป็นแบบไหน
การสอนที่ดีจึงต้องมี Process ที่มากกว่า "สอนตามที่เรารู้, สอนตามที่พ่อแม่เคยสอนเรา, หรือแม้แต่ปล่อยให้เรียนรู้ตามธรรมชาติ"
เพราะมันต้องมีการ Balance ทั้งศาสตร์และศิลป์ ความเข้าใจเด็ก จิตวิทยา รวมถึงละทิ้งการใช้อารมณ์ทุกชนิด
(ไม่งั้นคงพลั้งมือทำร้าย มากกว่าเป็นการสอน)
รวมถึงคุณอาจต้องมีทักษะดาราเพิ่มขึ้น
เช่นการแสดง
บางครั้งให้ลูกเห็นว่าโกรธ แต่จริงๆ เราแสดงว่าโกรธ (เพราะถ้าโกรธจริง ไม้แขวนเสื้ออาจไปนาบก้นลูก ก่อนที่เราจะรู้ตัวเสียอีก แบบนี้ไม่เอา)
เพราะงั้นก่อนอื่นใด "เราจึงต้องเข้าใจตัวเองก่อน"
มันยากตรงนี้ไงครับ...
ซึ่งปัญหาคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะดำเนินตาม Stage นี้ได้ แม้กระทั่งคนใกล้ชิดที่สุดของเราก็ตาม
เมื่อพยายามหาสาเหตุเพื่อแก้ปัญหา หลังจากที่คุยกันมาหลายครั้งแต่ก็ยังวัดผลได้ว่า ไม่ได้ดีขึ้นกว่าครั้งก่อนเลย
ทำให้ค้นพบว่า อาจต้องลองย้อนกลับไปศึกษาถึงสถานะครอบครัวแต่ละประเภท เพื่อดูแนวโน้มที่มันส่งผลถึงปัจจุบัน
จากการสังเกตครอบครัวทั้ง 2 แบบที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงได้ข้อสรุปคร่าวๆ คือ
1. ฝ่ายที่มาจากครอบครัว เคยลำบาก
จะสามารถสอนลูกได้เด็ดขาดกว่า
เพราะเขารู้ว่าความลำบากมันน่ากลัวแค่ไหน
ถ้าลำบากมากกว่านี้ (กว่าการโดนดุ) มันเป็นยังไง
ความเป็นไปได้อย่างเดียวคือ ไม่ขอกลับไปอยู่ในสถานะแบบนั้นอีก
2. ต่างกับฝ่ายที่ครอบครัว ค่อนไปทางยากจน (จนชิน) ที่มองว่าความลำบากเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แย่อะไร ยิ่งถ้าตอนนี้สบายแล้วก็ขออย่างเดียวคือ
อย่าให้ลูกโดนดุ
เพราะคนพวกนี้จะรู้สึกถึงการโดนดุด่าว่ากล่าวที่รุนแรงไปจากปกติ เนื่องจากวัยเด็กมีการทะเลาะวิวาทกันในบ้านของพ่อแม่ที่หนักมาก จึงเข้าใจว่าการโดนดุ เป็นเรื่องที่รับไม่ได้
(บางคนหนักถึงขนาดที่ว่า สอนยังไม่ได้)
การเห็นลูกเสียใจ ... หรืออีกนัยยะคือ ไม่ดีใจ
จะทำให้คน Type นี้ใจแทบสลาย ชีวิตที่ผ่านมาทรมาณพอแล้ว อย่าให้ลูกต้องรับรู้อีกเลย ฯลฯ
เราจะเห็นว่าทััง 2 ฝ่าย มีความคิดเรื่องการสอนลูกที่ต่างกันสุดขั้ว ฝ่ายนึงอาจถึงขั้นลงมือลงไม้ได้ ในขณะที่อีกฝ่ายห้ามสัมผัสเด็กแรงเกินการสัมผัส
หลายคนก่อนมีลูก รักกันมาก
แต่พอมีลูกถึงขั้นต้องแยกทางกันก็มี
หา Balance ให้เจอ เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ 2 คนต้องคุยกันให้จบ ก่อนจะไปคุยกับเด็ก
หรือก่อนจะคุยกับอีกฝ่าย อาจต้องคุยกับตัวเองก่อน
หาข้อเสีย ข้อที่สร้างปัญหาในชีวิตให้เจอ
เพราะต่อไปจะไม่ใช่ปัญหาแค่ตัวเรา
แต่มันจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรในบ้าน
ถ้าทำได้ คุณจะสบายใจยันรุ่นลูก (และรุ่นหลานสืบไป) เพราะ Mindset หรือหลักคิดแกนกลาง มันถูกต้องแต่แรก
ชีวิตจริงไม่ใช่ละคร ที่มีตัวร้ายชัด ตัวคุณธรรมชัด หรือเกิดมารวยเลย นั่งเฉยๆ มีคนรับใช้
เมื่อชีวิตจริงไม่ใช่แบบนั้น เราก็ต้องสร้างเอง
และสร้างให้ถูก เพื่อห่างไกลจากความ "ทุกข์"
เมื่อห่างทุกข์ สมองเราก็มีพื้นที่ว่างพอให้คิดหาทาง "สุข"
และสุขที่ดี คือสุขระยะยาว
เราทำได้ ทุกคนทำได้ สังคมรอบตัว ก็จะเริ่มมีปัญหาน้อยลง
เป็นแรงใจช่วยทุกครอบครัว ที่หมายมั่นจะมีชีวิตให้ดีกว่าตอนที่เราเป็นเด็กครับ 🙂
โฆษณา