3 ก.ค. 2022 เวลา 12:32 • การศึกษา
เมื่อซอมบี้รุกรานเอเชีย
ชำแหละหนังศพเดินได้ ที่ทั้งปังและพัง
หากจะถามถึงต้นกำเนิดของซอมบี้ คงต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1932 หรือเกือบร้อยปีที่แล้ว หนังซอมบี้บรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุด ของฝูงซอมบี้ในปัจจุบัน คือเรื่อง White Zombie จึงนับได้ว่า ซอมบี้ชาวอเมริกัน คือซอมบี้ชนชาติแรกของโลก ก่อนที่ในวันนี้ ซอมบี้หรือผีดิบเดินได้ จะเริ่มวิวัฒนาการตัวเอง แพร่พันธุ์สู่พื้นที่ต่าง ๆ แทบทุกทวีป แม้ว่าบางเรื่องจะย้อนช่วงเวลากลับไป จนถึงยุคประวัติศาสตร์ก็ตาม
ในภูมิภาคเอเชีย ก็เหมือนจะรับเอาเชื้อนี้เข้ามาอยู่พอสมควร ตลอดหลายสิบปีที่ที่ผ่านมา ทวีปเอเชียให้กำเนิดลูกหลานเหล่าซอมบี้กันอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่า ทายาทซอมบี้จากฝั่งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือเอเชียโซนบน จะค่อนข้างได้รับความนิยมมากกว่าโซนล่างอย่างชัดเจน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อตัวร้าย หรือไม่ก็คงเป็นปัจจัยทางด้านเทคนิคงานสร้าง ก็เป็นได้
เริ่มที่ประเทศอินเดีย นับเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ค่อนข้างใหญ่ แม้ว่าหลัก ๆ แล้ว จะขายกันในเฉพาะในประเทศก็ตาม ซึ่งนอกจากหนังสไตล์บอลลีวูดแบบเดิม ๆ แล้ว ผู้สร้างก็เคยจับเอาหนังพล็อตซอมบี้ มาปรุงแต่งให้ผู้ชมได้ลิ้มรสกันอยู่เหมือนกัน เรื่องแรก ๆ เลยน่าจะเป็น Rise of the Zombie แต่อาจเป็นเพราะหนังทุนสร้างต่ำ จึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก
ส่วนที่พอไปวัดไปวาได้ คือเรื่อง Go Goa Gone หนังใช้โลเคชั่นจากป่าเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่เน้นความหวือหวา หรือทุ่มทุนงานสร้างไปกับตึกรามบ้านช่องมากนัก ก็ทำให้หนังได้รับเสียงวิจารณ์ไปในทางที่ดี ส่วน The Dead 2 นั้น ก็ทำออกมาได้น่าดูชมพอสมควร แม้จะยังคงแฝงไว้ด้วยกลิ่นอายความเป็นดราม่า ซึ่งบอกตัวตนความเป็นอินเดียได้อย่างชัดเจน
ฝั่งฮ่องกงก็มีไอเดียงานสร้างที่แม้จะดู ๆ ไปแล้ว เหมือนได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Dawn of the Dead ก็ตาม แต่หนังจากผู้กำกับ วิลสัน ยิป ผู้กำกับมือดี อย่าง Bio zombie ก็ทำออกมาได้ค่อนข้างเข้าตาทีเดียว โดยเรื่องราวหลักนั้น เกิดขึ้นจากการระบาดของเชื้อ ทั่วเกาะฮ่องกง
เหตุการณ์ส่วนใหญ่เล่าถึงการเอาชีวิตรอด ของคนที่ติดอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า หากใครเป็นคอหนังนักเลงสไตล์หนังฮ่องกง อย่าง "กู๋ หว่า ไจ๋" น่าจะชอบหนังเรื่องนี้ คือนอกจากต้องหนีซอมบี้แล้ว ยังต้องตีรัน ฟันแทงกันเอง เพื่อเอาชีวิตให้รอดพ้น จากกฎหมู่ภายในห้างสรรพสินค้าอีกด้วย
ดังกระหึ่มทั่วเอเชีย ทีเดียวสำหรับคอหนังซอมบี้สัญชาติเกาหลีใต้ เรื่อง Train To Busan ที่ออกฉายเมื่อปี 2016 ของผู้กำกับยอนซังโฮ ที่บอกเล่าเรื่องราวสุดวินาศสันตะโร บนรถไฟขบวน KTX 101 จากโซลไปปูซาน แม้ว่าต่อมาจะมีภาคต่อ อย่าง Peninsula ออกมาเอาใจสาวกผีดิบ แต่ก็ยังสู้ความสำเร็จขั้นสุด ในภาคแรกไม่ได้
โดย Train To Busan นั้นกวาดรางวัลมาได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะเวที Baeksang Art Awards 2017 ทว่ายังมีหนังแอนิเมชันอีกเรื่องหนึ่ง ที่คุณไม่ควรพลาด นั่นก็คือ Seoul Station ที่กล่าวถึงจุดเริ่มต้นแห่งหายนะซอมบี้ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อน Train To Busan นั่นเอง
บ้านเราเอง ก็มีหนังสไตล์ซอมบี้ให้ได้ดูอยู่ไม่ขาดเหมือนกัน ซึ่งพล็อตแต่ละเรื่องนั้น ก็สร้างความแปลกใหม่ได้พอสมควร เริ่มจาก "ผีห่าอโยธยา" ที่เล่าเรื่องราวย้อนไปในปี พ.ศ. 2108 ช่วงศึกระหว่างอโยธยากับหงสา เกิดโรคระบาดไข้ห่า ทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก มิหนำซ้ำ ยังฟื้นคืนชีพมาไล่ล่าชาวบ้านอีก
เรื่องต่อมาคือ ขุนกระบี่ ผีระบาด ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2547 เล่าเรื่องของพระเอกตัวพ่อ "ขุนกระบี่" ที่ต้องไปพาลูกสาวเจ้าพ่อกลับมา หลังจากถูกจับตัวไว้ในคอนโด ปัญหาคือ ในคอนโด ดันมีงานทดลองเกี่ยวกับเชื้อไวรัส และนักวิจัยพลาดทำเชื้อแพร่กระจายไปทั่วตึก เป็นที่มาของทั้งเหล่าซอมบี้ และอสุรกายต่าง ๆ
อีกเรื่องคือ ห้าแพร่ง ตอน Backpacker ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2552 เป็นจักรวาลหนังสยองขวัญ ที่คุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดี ในตอนนี้เล่าเรื่องของรถบรรทุก ขนแรงงานต่างด้าวเข้าเมือง ซึ่งแรงงานท้ายรถได้เสียชีวิตทั้งหมดเพราะสารเสพติด เคราะห์กรรมเป็นของคู่รักชาวญี่ปุ่น ที่ต้องติดรถคันนี้ไปด้วย เพราะเมื่อซากศพคืนชีพ ซอมบี้ต่างด้าวก็เลยอาละวาด
ข้ามไปที่หนังจากไต้หวัน จะบอกว่ามันเป็นหนังที่ทำให้เรา รู้สึกถึงความดิบเถื่อน จนบางทีก็ยากจะแยกออกจากกัน ระหว่างหนังซอมบี้ หรือหนังสำหรับขาโหดกันแน่ เริ่มที่หนังเรื่อง The Sadness เล่าถึงเชื้อกาฬโรคที่เปลี่ยนแปลงจิตใจมนุษย์ ผู้ติดเชื้อจะถูกผลักดันให้ทำในสิ่งที่โหดร้ายรุนแรงทั้ง ทรมาน ฆ่า ข่มขืน คำว่าซอมบี้ หรือผีที่เชื่องช้า จึงอาจใช้ไม่ได้กับหนังเรื่องนี้ แนะนำว่าคนขวัญอ่อน ควรข้ามไปน่าจะดีกว่า สำหรับ The Sadness ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนเรื่อง Crossed
ส่วนอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ Zombie Fight Club เล่าเรื่องในตึก ภายหลังจากหน่วยจู่โจมบุกทลาย กลับพบว่า ภายในถูกใช้เป็นสถานที่คุมขังเหล่าซอมบี้ เพื่อใช้ต่อสู้บนสังเวียน จุดพลิกคือ หน่วยจู่โจมถูกจับเข้าไปสู้กับฝูงซอมบี้ จุดขายที่สำคัญอีกอย่าง ของหนังเรื่องนี้คือ "เจสสิกา แคมเบนซี" ผู้ทำให้หนุ่ม ๆ น้ำลายย้อย
ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา ก็มีซอมบี้กับเค้าเหมือนกัน เริ่มที่พี่น้องชาวกัมพูชา อย่างเรื่อง "Run" ที่เนรมิตกรุงพนมเปญ ให้เป็นแหล่งระบาดของไวรัสมรณะ อัดแน่นไปด้วยฝูงซอมบี้ ผู้ชมอาจไม่ต้องมองหาอะไรใหม่ เพราะผู้สร้างเดินตามสูตรสำเร็จของหนังซอมบี้มาอย่างไม่ผิดเพี้ยน ความแปลกใหม่เดียวที่มองเห็นคือ ฉากหลังเกิดขึ้นในกัมพูชาเท่านั้นเอง
ยังไม่หมด..!! ไวรัสนี้ลุกลามไปยังมาเลเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหนังใช้ชื่อว่า "KL Zombie" หรือกัวลาลัมเปอร์ซอมบี้นั่นเอง อย่างที่เข้าใจกัน เพราะเหตุการณ์มันเกิดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มันก็เลยต้องใช้ชื่อนี้ แต่เวอร์ชันนี้ ไม่ได้ดูซีเรียสแบบหนังจากกัมพูชา เพราะผสานความฮาเข้าไปด้วย
ส่วนบนเกาะฟิลิปปินส์ ก็มีหนังเรื่อง "The Grave Bandits" เหมือนกัน แต่เผอิญว่าเชื้อไวรัสบนเกาะนี้ มันติดมากับอุกกาบาตที่ตกลงบนโลก ส่วน "Hsien of the Dead" เป็นหนังซอมบี้จากสิงคโปร์ ที่เน้นขายความฮา บนความเป็นซอมบี้ ซึ่งก็เน้นไปที่ตลาดภายในประเทศเป็นหลัก
มีหนังซอมบี้จากแดนปลาดิบเรื่อง "One Cut of The Dead" มันกลายเป็นหนังที่ฉีกทุกกฎของวงการซอมบี้ไปเลย นี่เป็นหนังทุนสร้างเพียง 25,000 เหรียญ แต่กวาดรายได้ทั่วโลกไปถึง 30 ล้านเหรียญ เนื้อเรื่องนั้นไม่ได้ถือว่ามีอะไรใหม่ แต่การเล่าเรื่องทำได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยหนังเรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ละครเวทีเรื่อง Ghost on the Box
นักวิจารณ์ทั่วโลกต่างยกนิ้วให้ One Cut of The Dead เป็นหนึ่งในหนังระดับตำนาน มีความครีเอทีฟสุด ๆ อาทิเช่น การถ่ายทำแบบ Non Stop ด้วยความยาว 37 นาที เป็นต้น ล่าสุดนั้น ผู้กำกับรางวัลออสการ์อย่าง "มิเชล ฮาซานาวิเซียส" ได้นำผลงานนี้ ไปรีเมกเป็นที่เรียบร้อย โดยใช้ชื่อว่า "Final Cut"
สุดท้ายแล้วหนังพล็อตซอมบี้ น่าจะอยู่คู่กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปอีกหลายสิบปี ด้วยความเป็นซอมบี้ ที่สามารถสร้างเซอร์ไพรส์แก่คนดูได้ตลอดเวลา พล็อตเรื่องใหม่ ๆ จึงน่าจะถูกนำมาต่อยอดอีกเรื่อย ๆ ซากศพเดินได้ ไวรัสมรณะ และงานวิ่งหนีตาย จะยังสไตล์ที่อยู่กับคนทั่วโลกไปอีกนาน
ติดตามบทความย้อนหลังได้ที่
www.topranking.one
โฆษณา