4 ก.ค. 2022 เวลา 09:35 • ปรัชญา
7 สาเหตุว่าทำไมมนุษย์ถึงกลัวความตาย
ข้อมูลทั้งหมดนี้ได้จากหนังสือเรื่อง ‘ศพ’ (Smoke Gets In Your Eyes) ที่เขียนโดย ‘เคทลิน โดตี้’ (Caitlin Doughty) ผู้มีอาชีพเป็น สัปเหร่อ, นักเขียน และ ยูทูปเบอร์ของแชนแนล “Ask A Mortician” ที่มักเล่าถึงความตายในเชิงการศึกษา (Death Education)
โดยในบทสุดท้ายของหนังสือได้เขียนถึงเหตุผล 7 ประการที่มนุษย์เรานั้นหวาดกลัวความตาย ซึ่งทาง เคทลิน นั้นอ้างอิงจากบทความหายากจาก The Journal Of Abnormal And Social Psychology ที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1963 มาอีกที
สาเหตุนั้นเหล่านั้น ผมจะนำมาตีความยกสถานะการณ์ตัวอย่างเพื่อให้ภาพชัดเจนยิ่งขึ้นในแบบของตนเองด้วยบทความเต็ม ๆ ที่เจ้าตัวอ้างอิงก็ไม่สามารถหาอ่านได้ที่ไหนแล้ว (หากผู้อ่านสามารถหา source รบกวนส่งมาทาง Inbox หน่อยนะครับ)
ภาพโดย #adminDobyKong
มาเริ่มกันสาเหตุที่ 1 : ความตายของฉันจะสร้างความโศกเศร้าให้กับญาติ ๆ และเพื่อน ๆ
กับสาเหตุนี้จะไม่ตีความอะไรมากเพราะประโยคนี้มันจบในตัวอยู่แล้ว แน่นอนว่าการตายของเรานอกจากจะสร้างความเสียใจให้กับใครซักคน แต่อย่างน้อยใครซักคนที่ยังมีลมหายใจอาจได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการสูญเสีย เช่น ผู้ที่นอนอยู่ในโลงอาจต้องเป็นพวกเขาเองในซักวัน
ความเห็น (ไม่) ส่วนตัวของผม คือ ยามมีชีวิตอยู่ควรต่างเป็นคนที่ดีของกันและกันให้ได้มากที่สุด ก่อนที่ ‘เขา’ หรือ ‘เรา’ จะเป็นฝ่ายจากไปก่อน อาจเป็นประโยคโหล ๆ คลีเช่ที่ผู้อ่านได้ยินมาบ่อยครั้ง แต่มันจะช่างทรงพลังเมื่อถึงเวลาที่เราต่างได้เรียนรู้ในสถานะการณ์จริง
สาเหตุที่ 2 : แผนการและโครงการต่าง ๆ จะจบสิ้นลง
หนึ่งในสาเหตุที่ตัวผมกลัวมากที่สุด หากให้ยกตัวอย่างด้วยชีวิตของตัวเอง คือ ผมกำลังทำวงดนตรีวงหนึ่ง (ขอไม่เอ่ยชื่อวงเพราะไม่ได้ต้องการจะ tie-in ในบทความนี้ แม้จะบอกไปใช่ว่าใครจะรู้จัก) ที่ซึ่งทำเป็นงานอดิเรกราคาแพง ความฝันของพวกเราทั้ง 4 คนต่างมีเหมือนกันคือการมีอัลบั้มของตัวเอง
มันคงเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจหากใครซักคนในวง (หรือแม้แต่ผม) จะต้องตายจากโลกนี้ไปกันซักก่อน หากมันเป็นเช่นนั้น อัลบั้มของวงคงจะจากไปพร้อมกับจิตวิญญาณ เช่นเดียวกับความฝันของผู้ที่ยังมีลมหายใจ
ผมนิยามมันว่า ‘การจากไปอย่างน่าเสียดาย’ แม้วงดนตรีของพวกเรานั้นจะไม่ได้รุ่งโรจน์ดั่งวง Joy Division หรือ The Doors ก็ตาม
ดังนั้น สิ่งที่พวกเราทั้งสี่สามารถทำได้ยามมีชีวิต คือการ ‘ไม่ใช้ชีวิตอย่างประมาท’ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งสิ้นดีเพราะสารภาพกันตามตรงเลยนะครับ…ในวงเราต่างเป็นสิงอมควันตัวยง!
สาเหตุที่ 3 : ยามตายคงจะทรมาณ
เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้เหมือนกันว่ามันทรมาณจริงไหม ไม่สามารถตอบได้เพราะด้วยเหตุผลโง่ ๆ ว่า ‘ยังไม่เคยตาย’ (ผู้อ่านท่านไหนสามารถตอบได้สามารถมาคอมเมนท์แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ) แต่สิ่งที่ทรมาณที่สุดของการมีชีวิตทางรูปธรรมคือการมีโรคภัยติดตัวก่อนตาย ไม่ว่าจะโรคมะเร็งหรือเบาหวาน ต่าง ๆ นา ๆ อีกมากมายที่มนุษย์สามารถมีได้ สิ่งเหล่านั้นเป็นปัจจัยรูปธรรมที่สุดที่สิ่งมีชีวิตกายหยาบอย่างเราสามารถสัมผัสได้
สาเหตุที่ 4 : ฉันไม่สามารถรับรู้ได้อีกต่อไป
ในฐานะที่เป็นแฟนตัวยงของเรื่อง แฮรี่ พอตเตอร์ ไม่ว่าจะฉบับนิยายหรือภาพยนต์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ในช่วงที่ภาค 4 พึ่งออกมาใหม่ ๆ ในปี ค.ศ. 2005 ตัวผมที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.3 ก็เคยกลัวว่าวันถัดมาตัวเองจะหลับไม่ตื่นแล้วจะไม่ได้ติดตามภาคถัดไปของเรื่องนี้
นั่นคือสิ่งที่กลัวจากความตายสมัยวัยเยาว์
จนถึงปัจจุบัน เวลาช่างผ่านไปเร็วดั่งฝัน ผมได้เติบโตขึ้นแล้วมีสิ่งที่อยากจะทำกับสิ่งที่ยังไม่ได้ ‘รับรู้’ เรื่องทางโลกอีกมากมายนอกจากการตามหนังภาคต่อ ท้ายที่สุดแล้วผมก็ยังคงกลัวตายอยู่วันยังค่ำ
ผู้สูงวัยหลายท่านที่เคยสนทนาต่างพูดด้วยน้ำเสียงเบื่อหน่ายว่า รู้ไปก็เท่านั้น
ซึ่งผมก็ยังไม่สามารถสัมผัสได้ถึงความเบื่อระดับนั้นของผู้สูงวัยแต่พอจะรับรู้ได้แค่คร่าว ๆ จนได้ลองถามคุณลุงคนหนึ่งอย่างซื่อ ๆ ว่า หากลุงเบื่อหน่ายกับการรับรู้แล้วอะไรจะเป็นความน่าตื่นเต้นของลุงต่อไปล่ะ
คุณลุงตอบกลับมาสั้น ๆ ว่า "อ่าว ก็ความตายไง"
สาเหตุที่ 5 : ฉันไม่สามารถอยู่ดูแลคนที่ต้องพึ่งพาฉัน
จากการคาดเดานี่อาจเป็นเหตุผลที่คนหมู่มากกลัวที่สุด เช่นเดียวกันกับตัวผมเอง เป็นเรื่องที่เราต่างเข้าใจกันดีอยู่แล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายมาก
ขอยกตัวอย่างข่าวเมื่อนานมาแล้วว่า มีแม่ลูกคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในบ้านกันแค่สองคน ซึ่งลูกอายุเพียงแค่สองขวบเศษ ๆ อยู่มาวันหนึ่งคนเป็นแม่เสียชีวิตเพราะโรคประจำตัวกำเริบ โดยที่ไม่มีใครรู้แม้แต่ผู้เป็นลูกสาวที่นอนกอดศพแม่ 3 วัน จนมีคนเข้าไปพบเข้า
สิ่งที่น่าทึ่งของเรื่องนี้คือ ทางลูกสาวที่ใช่เวลานั้นยังไม่รู้จักความตายได้ให้การไว้ประมาณว่าตลอด 3 วันนั้นเอง คุณแม่คอยชงนมให้กินและได้นอนกอดแม่ทุกวัน
เรื่องราวชวนน้ำตาคลอนี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบางอย่างเป็นปัจเจก ซึ่งระหว่างที่นั่งฟังทางฝั่งพ่อเล่าผ่านรายการ The Ghost Radio จู่ ๆ ก็คิดถึงผู้เป็นแม่ขึ้นมา แม้ว่าแม่จะอยู่เพียงแค่ห้องถัดไปก็ตาม แต่ผมก็เปิดประตูออกไปแล้ววิ่งโผกอด เชื่อว่าคือช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง แต่มันยากยิ่งนักที่จะเขียนออกมา
เชื่อว่าผู้อ่านคงเข้าใจ
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องได้รับการพึ่งพานอกเหนือจากมนุษย์คือสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะหมา, แมว หรือสัตว์ตัวอื่นตามรสนิยมของผู้อ่าน ช่วงเวลาที่พวกมันหิว มันก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องให้อาหาร ช่วงที่พวกมันป่วย ก็เป็นหน้าที่ของเราอีกเช่นกันที่ต้องพาพวกมันไปหาหมอ
แล้วสิ่งที่เราได้ตอบแทนจากพวกมันคือ ความใสซื่อของสิ่งมีชีวิตที่เราไม่สามารถหาได้จากมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง
สาเหตุที่ 6 : ฉันกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับฉัน หากชีวิตหลังความตายมีจริง
เป็นเรื่องปกติมากที่มนุษย์มักจะกลัวในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ เช่นเดียวกันกับโลกหลังความตาย แม้ยิ่งกาลเวลาผ่าน ผู้คนเริ่มทะยอยไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้ แต่สำหรับคนบางกลุ่มมันก็ยังเป็นความจริงสำหรับพวกเขา
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมได้แต่บอกว่าทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เมื่อถึงคราวของพวกเราเดี๋ยวก็ได้รู้กันเองว่าชีวิตหลังความตายมีจริงหรือไม่
อิงจากความเชื่อส่วนบุคคล การตายในขณะที่ยังไม่ละกิเลสหรือบ่วงพันธนาการที่เรามีให้กับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบของการหวงแหนในทรัพย์สมบัติหรือความเป็นห่วงเป็นใยต่อคนรอบข้างจะทำให้เรากลายเป็นวิญญาณติดตามพวกเขาหรือกลายเป็นวิญญาณเฝ้าทรัพย์สมบัติในช่วงระยะเวลาที่ไม่สามารถล่วงรู้ได้ แล้วสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็จะเป็น ‘ความเหงา’ (บ้างก็ว่ากลายเป็นวิญญาณสัมภเวสีที่มีความหิวโหย) ที่เขาหรือใครก็ตามไม่สามารถมองเห็นเราหรือไม่แม้แต่สามารถรับรู้การมีอยู่ของเราจนกว่าจะสิ้นพันธะอะไรบางอย่าง
สิ่งนี้มันเป็นความจริงหรือไม่ ตอบไม่ได้เช่นกัน มันก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและความเชื่อของผู้อ่าน ไม่แน่มันอาจเป็นกุศโลบายของการละความโลภ, โกรธ, หลง ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นได้
แต่เชื่อว่าเราล้วนต่างไม่อยากให้มันเป็นเรื่องจริงกันทั้งนั้น เพราะนั่นก็อาจเป็นหนึ่งในความทรมาณที่เราไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดเมื่อไร หากในเมื่อจิตวิญญาณเราปราศจากกายหยาบ เราคงจะไม่สามารถตายได้อีกแล้วเราก็ต้องอยู่กับความทุกข์กับไม่มีใครเห็นที่ซึ่งเป็นอนันต์
สาเหตุที่ 7 : ฉันกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายของฉัน หลังจากตายไปแล้ว
ขึ้นชื่อว่า 'ร่างกาย' ล้วนเป็นของส่วนตัวของปัจเจกบุคคล หลังจากที่เราตายไป ร่างกายของเราก็ต้องได้รับการชันสูตร เจาะนู่นนี่นั่นจนตัวพรุน แล้วจบด้วยการเน่าสลาย แต่หากช่วงเวลานั้นมาถึง เราจะไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งสิ้นนอกจากว่าต้องเต็มใจละสังขาร
จะเล่าว่าเมื่อปีที่แล้ว ผมไปฉีดวัคซีนเข็มที่สาม (หวังว่าจะเข็มสุดท้าย) ซึ่งหลังจากที่ฉีดเสร็จใหม่ ๆ ยังไม่มีอาการใด ๆ ตามมาจึงออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนได้อย่างสบายใจเฉิบ จนกระทั่งหลังจากเที่ยงคืนเท่านั้นล่ะ อาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัวก็รุมเล่นงานซะเกือบช็อค แล้วจู่ ๆ ก็ภาพตัด ตื่นขึ้นมาอีกที นึกว่าตนเองได้ตายกลายเป็นวิญญาณไปแล้วจึงอยากจะสูบบุหรี่ซักตัวแล้วลงไปดูแม่ก่อนที่จะมียมบาลมารับดวงวิญญาณโสมมดวงนี้ แต่…ผีที่ไหนเขาสูบบุหรี่กัน
หลังจากเหตุการณ์นั้นจึงได้เรียนรู้ว่า ท้ายที่สุดแล้วร่างกายก็ไม่ใช่ของ ๆ เราอย่างแท้จริง ทางรูปธรรมเราอาจจะสามารถกีดกันคนอื่นให้ไม่มายุ่งกับร่างกายได้
กลับกันในทางนามธรรม เราจะต้องชดใช้ในสิ่งที่เราทำไว้กับร่างกายโดยไม่สามารถต่อรองกับมันได้เลยซักนิด
ผมจึงมองว่าท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะเช่าร่างกายนี้อยู่ มันไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริงตั้งแต่แรก เพราะเราไม่สามารถห้ามความเจ็บปวดใด ๆ ได้กับร่างกายนี้ กลับกันมีแต่เราที่ต้องชดใช้ด้วยความเจ็บป่วยอันมีเหตุจากการกระทำต่างปัจจัยที่ผ่านการตัดสินใจของเรา
คิดง่าย ๆ หากร่างกายเป็นของเราแล้วเราสามารถควบคุมมันได้ดั่งใจนึก เหตุใด ยามหิวก็ต้องกิน ยามปวดปัสวะหรืออุจจาระ เราก็ต้องขับถ่าย เมารถหรือเมาค้างก็ต้องอ้วก
เราอาจกลั้นสิ่งเหล่านี้ได้ในชั่วขณะ แต่ถึงเวลาจริงก็ต้องปล่อย
เพราะฉะนั้น คิดซะว่าเมื่อต้องถึงคราวของเราจริง ๆ จงปล่อยมัน แล้วทำวันนี้ให้มันดีที่สุด
- Media vita in morte sumus
#adminShadow
7 สาเหตุว่าทำไมมนุษย์ถึงกลัวความตาย
โฆษณา