Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
6 ก.ค. 2022 เวลา 00:49 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เมื่อมนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับเครื่องจักร
ทั่วโลกตื่นเต้นกันขึ้นมาทันที เมื่อเจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ประกาศว่าจะลงทุนสร้าง “นิวรัลลิงก์ (Neuralink)” ที่จะช่วยเชื่อมต่อสมองเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง
https://neuralink.com/
ภาพลอยมาเลยว่า อีกหน่อยเราสามารถจะเล่นเฟซบุ๊ก (หรือแอปอื่น หากคุณว่าเฟซบุ๊กมัน “เอาต์” ไปแล้ว) ได้ โดยเพียงแค่การคิด ไม่ต้องเสียเวลากดแป้นพิมพ์อีกต่อไป!
แต่ถ้ามันไม่หยุดแค่นั้น ถ้าไปต่ออีกจนถึงขั้นที่เราสามารถเสียเงินซื้ออุปกรณ์เชื่อต่อดังกล่าว ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า เบรน-คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เฟซ (Brain-Computer Interface) หรือ BCI มาสวมใส่เพื่อ “เพิ่มไอคิว” ล่ะ
คุณจะยอมจ่ายเงินไหม?
แว่บแรกอาจจะมีคนตอบว่า ไม่เอาหรอก เรื่องอะไรจะเอาอุปกรณ์มาจิ้มกับสมอง เสี่ยงจะตายไป
แต่ ... สมมุติว่าถึงจุดหนึ่งที่เพื่อนร่วมงานจำนวนมากหรือส่วนใหญ่เลย มีไอ้เจ้านี่จิ้มหัวอยู่ แล้วทำงานดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา
คุณจะต้านกระแสต่อไปอีกได้นานแค่ไหน?
ประเด็นราวกับ “ไซไฟ” หรือนิยายวิทยาศาสตร์ทำนองนี้ มาถึงวันนี้กลับใกล้ตัวมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ก็เลยจะชวนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของ BCI และงานวิจัยใหม่ๆ ที่น่าจะต้องทำให้คุณอึ้งไปทีเดียวแหละ
รวมไปทั้งเล่าเกี่ยวกับนิวรัลลิงก์ ให้ละเอียดจนเห็นภาพว่า จะเอาเซนเซอร์ไปเชื่อมต่อเข้ากับสมองเราได้ยังไง รวมทั้งคุ้มค่าเพียงใดที่เราจะเสี่ยงเข้าไปอยู่ใน “มัลติเวิร์ส (multiverse)” ผ่านทางอุปกรณ์พวกนี้ ร่วมกับอุปกรณ์สร้างภาพอื่นๆ ไม่ว่าจะ AR หรือ VR?
หรือนี่จะเป็นก้าวย่างผิดพลาดครั้งใหญ่ของมนุษย์กันแน่?
https://neuralink.com/
"ก่อนจะฝันถึงนิวรัลลิงก์"
เทคโนโลยีแต่ละแบบไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แบบเสกเอานะครับ ต้องมีประวัติที่มาและพัฒนาการมาเรื่อยๆ เป็นเรื่องธรรมดา
คนแรกที่น่าจะเป็นผู้แสดงให้เห็นได้ว่า เราอาจจะใช้ BCI ในการเชื่อมต่อสมองของมนุษย์กับระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์คือ ฌากส์ ไวดัล (Jacques Vidal) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขาได้ใช้เครื่องอ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalogram) หรือที่นิยมเรียกย่อๆ ว่า อีอีจี (EEG) แบบที่ไม่ต้องเจาะทะลุกะโหลก ก็สามารถอ่านค่าคลื่นสมองได้
เขาและทีมงานบันทึกรูปแบบค่าคลื่นสมอง โดยเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ได้ตั้งแต่ ค.ศ. 1973 ถือเป็นการเปิดศักราชของ BCI สำหรับชาวโลก
ความก้าวหน้าครั้งใหญ่เกิดขึ้นในอีก 15 ปีต่อมา เมื่อคณะนักวิจัยจากอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ใช้สัญญาณอีอีจีจากสมองไปควบคุมสิ่งของทางกายภาพคือ หุ่นยนต์ ได้เป็นครั้งแรก
โดยในการทดลองนี้สัญญาณสมองส่งมาจากผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ทำได้แค่กะพริบปิดเปิดเปลือกตาเท่านั้น
อีก 3 ปีต่อมา ริชาร์ด เอ. นอร์แมนน์ (Richard A. Normann) ได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า ยูทาห์อาร์เรย์ (Utah Array) ขึ้น อธิบายง่ายๆ มันคือ แผงขั้วไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่มีขั้วไฟฟ้าอยู่ถึง 100 ขั้ว โดยสามารถนำยูทาห์อาร์เรย์ไปฝังลงในสมอง เพื่อ (ใช้ไฟฟ้า) กระตุ้นเซลล์สมอง หรือบันทึกรูปวงจรไฟฟ้าที่สมองสร้างขึ้นได้
พอถึง ค.ศ. 1997 ก็มีความก้าวหน้าครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งคือ องค์การอาหารและยา สหรัฐฯ อนุมัติให้มีการฝังขั้วไฟฟ้าลึกลงไปในสมองผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นเซลล์สมอง อันเป็นส่วนหนึ่งของการักษาอาการสั่น เนื่องจากโรคพาร์กินสันได้
ผ่านไปอีก 3 ปี ตอนกำลังขึ้นสหัสวรรษใหม่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊กในรัฐนอร์ธ แคโรไลนา สร้าง BCI ที่สามารถถอดรหัสสัญญาณสมองของลิงได้ และนำรูปแบบรหัสดังกล่าวมาใช้บังคับควบคุมการเคลื่อนไหวมือของหุ่นยนต์ได้สำเร็จ
ค.ศ. 2005 แมธิว เนเกิล กลายมาเป็นคนแรกที่สามารถใช้แค่ “ความคิด” ในการขยับแขนเทียมได้ เขาเป็นผู้ป่วยที่ไม่อาจขยับตัวได้ตั้งแต่ส่วนคอลงไป
อุปกรณ์ที่ใช้เป็นนวัตกรรมของบริษัทชื่อ ไซเบอร์ไคเนติกส์ (Cyberkinetics) ซึ่งยังนำไปใช้เล่นเกม เปิดปิดควบคุมโทรทัศน์ และจัดการอีเมลได้อีกด้วย
เรียกว่าเปิดโลกใหม่อย่างที่ไม่มีใครคิดฝันถึงว่าจะเป็นไปได้ สำหรับผู้ป่วยลักษณะนี้มาก่อน
กระโดดข้ามมาอีกทศวรรษ ค.ศ. 2016 ผู้ป่วยอัมพาตอีกรายหนึ่งคือ เนธาน โคปแลนด์ ได้กลายมาเป็นผู้ป่วยคนแรกที่สามารถ “รับรู้สัมผัส” ได้ผ่านทางแขนหุ่นยนต์ที่ใช้ความคิดควบคุม ผลงานชิ้นนี้เป็นของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ซึ่งค้นพบตำแหน่งและวิธีการกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัส
พอถึง ค.ศ. 2019 อีลอน มัสก์ ก็พูดถึงแผนการทำ “นิวรัลลิงก์” ของเขา
https://neuralink.com/
"นิวรัลลิงก์ คืออะไรกันแน่?"
มันคือ อุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยเซนเซอร์ (sensor) จำนวนมาก ยกตัวอย่าง รุ่น n1 จะบรรจุมาในกล่องวงกลมปิดสนิท ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 มิลลิเมตร และหนา 4 มิลลิเมตร เซนเซอร์จะฝังประกบติดอยู่แผงวงจรภายในกล่อง
เซนเซอร์แต่ละตัวจะเชื่อมต่ออยู่กับขั้วไฟฟ้าที่บางคล้ายเส้นด้ายจำนวน 1,024 ขั้ว โดยแต่ละขั้วจะสามารถส่งและรับสัญญาณไฟฟ้าจากเซลล์ประสาทในสมองได้ ขั้วไฟฟ้าแต่ละเส้นเล็กขนาดแค่หนาเพียง 1/10 ของเส้นผมของคนเท่านั้น!
ในตอนใช้งานจริง ขั้วไฟฟ้าที่มีลักษณะยืดหยุ่นเหล่านี้ แต่ละขั้วก็จะถูกสอดเข้าไปในชั้นนอกสุดของสมองที่เรียกว่า คอร์เท็กซ์ (cortex) ผ่านทางช่องขนาด 8 มิลลิเมตรบนกะโหลก
แล้วช่องจิ๋วที่ว่ามาจากไหนกัน?
ช่องที่ว่าจะได้มาจากการผ่าตัด โดยใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งจะใช้เข็มขนาด 24 ไมโครเมตรจัดวางตำแหน่งขั้วไฟฟ้านั้นๆ ในสมอง (1 ไมโครเมตร = 1/1,000 มิลลิเมตร)
เซนเซอร์ทั้งหมดจะโดนนำไปหย่อนลงผ่านช่องเดียวกันทั้งหมด โดยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว จะมีผิวหนังมาปิดตำแหน่งดังกล่าว พูดง่ายๆ คือ สังเกตไม่เห็นจากภายนอก โดยจำนวนเซนเซอร์ที่นำไปฝังอาจจะทำได้มากถึง 10 ตัว
นั่นก็คือ ขั้วไฟฟ้ามากที่สุดที่ฝังได้คือ 10,000 ขั้ว
https://www.techspot.com/news/89244-elon-musk-neuralink-reveals-video-monkey-playing-pong.htmlhttps://neuralink.com/
เซนเซอร์จะเชื่อมต่อสัญญาณยังไง?
เซนเซอร์จะเชื่อมต่อกับขดลวดเหนี่ยวนำที่ฝังใต้ผิวหนังอีกเช่นกัน โดยตำแหน่งคือทางด้านหลังหู และขดลวดดังกล่าวจะต่อกับขนลวดเส้นเล็กๆ มีตำแหน่งอยู่ใต้หนังศีรษะอีกที เมื่อเกิดการเหนี่ยวนำสัญญาณไฟฟ้าขึ้น ก็จะส่งต่อสัญญาณผ่านผิวหนังไปยังอุปกรณ์สวมใส่ที่เรียกว่า “เดอะลิงก์ (The Link)”
โดยเดอะลิงก์จะมีตำแหน่งอยู่ใต้ใบหูลงไป โดยจะสามารถสื่อสารกับเซนเซอร์ที่ฝังไว้ได้ผ่านทางบลูทูธ
อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าไม่รู้สึกหวาดเสียวขึ้นมาบ้าง ก็คงแปลก!
คราวนี้ ลองกลับไปอ่านคำถามที่ผมถามไว้ตอนต้นบทความว่า ถ้าสมมุติว่าถึงจุดหนึ่งที่เพื่อนร่วมงานจำนวนมากหรือส่วนใหญ่เลย มีไอ้เจ้านี่จิ้มหัวอยู่ แล้วเรียน หรือมีสมาธิ หรือทำงาน หรือ ฯลฯ ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา และถ้าคุณมีเงินพอจะจ่ายไหว
คุณยังจะต้านกระแสต่อไปอีกได้นานแค่ไหน?
แต่ว่านี่มันเหมือนกับที่เราเห็นในภาพยนตร์บางเรื่องเลยนะครับ ยินดีต้อนรับสู่โลก “เดอะเมทริกซ์” ของจริงในอนาคตอันใกล้ครับ!
neuralink
นิวรัลลิงก์
bci
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย