5 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
การปลงพระชนม์หมู่ “ราชวงศ์เนปาล”
การปลงพระชนม์หมู่ราชวงศ์เนปาล เป็นข่าวใหญ่และเรื่องราวสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์เนปาล
ที่เนปาล กษัตริย์นั้นไม่ใช่เป็นเพียงกษัตริย์ หากแต่คือสมมติเทพ
เชื่อกันว่ากษัตริย์คือ ร่างมนุษย์ของ “พระกฤษณะ (Krishna)” ซึ่งเป็นเทพฮินดู เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์
2
ดังนั้นเมื่อผู้ศักดิ์สิทธิ์ถูกปลงพระชนม์ ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา
“สมเด็จพระราชาธิบดีพีเรนทราแห่งเนปาล (Birendra of Nepal)” สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ชาห์ที่ปกครองเนปาลมาตั้งแต่ปีค.ศ.1769 (พ.ศ.2312) โดยเริ่มจาก “พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ (Prithvi Narayan Shah)” รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์ชาห์ ได้พิชิตศัตรูและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์
สมเด็จพระราชาธิบดีพีเรนทราแห่งเนปาล (Birendra of Nepal)
หากแต่ก็มีสิ่งที่รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์ชาห์ทรงทำผิดพลาด
ตามตำนาน พระเจ้าปฤถวีได้พบเจอกับผู้วิเศษในป่า ซึ่งก็คือโยคีซึ่งเชื่อว่ามีชีวิตอมตะและพลังวิเศษ
พระเจ้าปฤถวีได้บูชาโยคีด้วยการพระราชทานนมเปรี้ยว ซึ่งโยคีก็รับไปดื่มก่อนจะคายออกมา และทูลให้พระเจ้าปฤถวีเสวยนมเปรี้ยวนี้ต่อ
1
พระเจ้าปฤถวีทรงปฏิเสธและปัดภาชนะใส่นมเปรี้ยวตกพื้น สร้างความโมโหให้โยคี และทำให้โยคีสาปแช่ง โดยแช่งว่าราชวงศ์ของพระองค์จะถึงกาลอวสาน จะดำรงอยู่เพียงสิบรัชกาล
และพระเจ้าพีเรนทรา ก็คือรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์ชาห์
พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ (Prithvi Narayan Shah)
พระเจ้าพีเรนทรา เป็นกษัตริย์ที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือ
พระองค์ทรงต่างจากกษัตริย์องค์ก่อนๆ โดยพระองค์มีพระราชประสงค์จะให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และปูทางให้เนปาลเดินไปสู่ยุคสมัยใหม่ ทันโลก
พระองค์ทรงยกเลิกอำนาจเบ็ดเสร็จของกษัตริย์ในปีค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) และทรงตกลงที่จะปกครองร่วมกับสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกเข้ามา
พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของประชาชน หลายคนมองพระองค์เป็น “พ่อ” เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคง เป็นที่รักและเคารพของประชาชน
แต่แล้ว ค่ำคืนวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ณ วังนารายัณหิตี ซึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์และพระราชวงศ์ วังแห่งนี้ได้เปลี่ยนตัวเองเป็นเวทีเลือด
ฆาตกรก็คือพระราชโอรสของพระองค์เอง นั่นคือ “เจ้าชายทิเปนทรา (Crown Prince Dipendra)” หรือภายหลังคือ “สมเด็จพระราชาธิบดีทิเปนทราแห่งเนปาล (Dipendra of Nepal)”
จากปากคำของผู้รอดชีวิต เจ้าชายทิเปนทราทรงเมาสุรา และได้ก่อเหตุฆาตกรรม และยังเผยถึงเรื่องราวลึกๆ ของราชวงศ์เนปาล
ต้นเหตุของการปลงพระชนม์หมู่นี้ ก็คือหญิงที่เจ้าชายทิเปนทราทรงรัก
1
สมเด็จพระราชาธิบดีทิเปนทราแห่งเนปาล (Dipendra of Nepal)
จากบันทึกและการสอบปากคำ ทำให้ทราบว่าเจ้าชายทิเปนทราทรงรักหญิงผู้หนึ่ง และหญิงผู้นั้นก็เป็นลูกสาวสมาชิกสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมาจากวรรณะที่เป็นศัตรูกับราชวงศ์ชาห์มานับร้อยปี
ความรักของทั้งคู่เกิดขึ้นที่อังกฤษ ในขณะที่เจ้าชายทิเปนทราทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษ และได้มีความสัมพันธ์กับหญิงสาวผู้นี้
หากแต่พระราชบิดาและพระราชมารดาต่างไม่พอพระราชหฤทัยและทรงคัดค้านความสัมพันธ์นี้ เหตุผลก็มาจากเรื่องของวรรณะและการที่ครอบครัวของหญิงสาวมีความเกี่ยวข้องกับอินเดีย ซึ่งในเวลานั้นมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเนปาล
1
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ของเจ้าชายทิเปนทรากับพระราชบิดาและพระราชมารดานั้นตึงเครียด และหนักถึงขนาดที่พระเจ้าพีเรนทราทรงขู่จะตัดเจ้าชายทิเปนทราออกจากราชบัลลังก์
1
และในช่วงไม่กี่เดือนก่อนเหตุฆาตกรรม พฤติกรรมของเจ้าชายทิเปนทราก็ทรงเปลี่ยนไป โดยพระองค์นั้นทรงหงุดหงิดง่าย และมักจะประทับอยู่ตามบาร์เหล้าต่างๆ เสวยเหล้าอย่างหนัก
ในที่สุด วันที่ถึงจุดจบก็มาถึง นั่นคือวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ในงานเลี้ยงของราชวงศ์
พระเจ้าพีเรนทราทรงจัดเลี้ยงในวังนารายัณหิตี และในงานเลี้ยงนี้เอง เจ้าชายทิเปนทรา ซึ่งมีพระอาการมึนเมา ได้เสด็จเข้ามาในงาน โดยทรงพกอาวุธครบ ทั้งปืนไรเฟิล ปืนกล ปืนลูกซอง และปืนพก
จากนั้น เจ้าชายทิเปนทราทรงยิงทุกผู้คนในงาน และทำให้พระราชบิดาและพระราชมารดาสวรรคต รวมทั้งพระญาติและพระพี่น้องต่างก็สิ้นพระชนม์เช่นกัน
1
จากนั้น พระองค์ทรงจ่อปืนพกเข้าที่พระเศียร ก่อนจะลั่นไก ปลงพระชนม์องค์เอง
แต่พระองค์ยังไม่สวรรคตในทันที โดยพระองค์ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและได้ขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชาธิบดีทิเปนทราแห่งเนปาล (Dipendra of Nepal)” แทนพระราชบิดา
2
หากแต่หลังจากประทับอยู่ในโรงพยาบาลได้เพียงสามวัน พระเจ้าทิเปนทราก็สวรรคต และพระอนุชาของพระเจ้าพีเรนทรา นั่นคือ “สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทราแห่งเนปาล (Gyanendra of Nepal)” ก็ได้ขึ้นครองราชย์แทน
จนถึงทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ชาวเนปาลจำนวนมากก็ไม่เชื่อว่าพระเจ้าทิเปนทราทรงเป็นผู้สังหารพระราชวงศ์ และเกิดทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ มากมาย
พระเจ้าชญาเนนทรา เป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนนัก เนื่องมาจากพฤติกรรมหลายๆ อย่างที่ประชาชนมองว่าไม่เหมาะสม
มีคำถามต่างๆ เกี่ยวกับพระองค์ตามมามากมาย ทำให้เกิดข้อสงสัย
สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทราแห่งเนปาล (Gyanendra of Nepal)
“ในค่ำคืนเกิดเหตุ พระเจ้าชญาเนนทราไม่ได้อยู่ในงาน แต่พระองค์อยู่นอกเมือง นี่คือเรื่องบังเอิญหรือ?”
“พระมเหสีและพระราชโอรสของพระองค์ก็อยู่ในงานในขณะเกิดเหตุ หากแต่ทั้งสองพระองค์ก็รอดมาได้ราวกับปาฏิหาริย์ นี่ก็คือเรื่องบังเอิญหรือ?”
เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ทำให้ประชาชนสงสัย
1
ที่ผ่านมา หลายคนทราบดีว่าพระเจ้าชญาเนนทราไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเชษฐานัก เหตุผลก็มาจากการที่พระเจ้าชญาเนนทราทรงปรารถนาในราชบัลลังก์มาเป็นเวลานาน
อีกข้อสงสัยก็คือ ภาพลักษณ์ของพระเจ้าทิเปนทรานั้น คือพระราชโอรสที่ทรงเชื่อฟังและเคารพพระราชบิดา ถึงแม้พระองค์จะเสวยเหล้าและมักจะปาร์ตี้บ่อยๆ แต่ประชาชนก็ชื่นชอบพระองค์เนื่องจากพระอุปนิสัยที่เป็นมิตร ไม่ถือพระองค์ ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์จะเป็นผู้ลงมือสังหารหมู่ครั้งนี้จริงหรือ
1
เป็นเรื่องจริงที่พระเจ้าทิเปนทรานั้นมีพระราชประสงค์จะอภิเษกสมรสกับหญิงที่พระองค์ทรงรัก แต่พระองค์จะทรงยอมปลงพระชนม์ครอบครัวพระองค์เองได้จริงหรือ
สิ่งที่ประชาชนสงสัยก็คือ น่าจะเป็นฝีมือการจัดฉากของพระเจ้าชญาเนนทรา หรือไม่ก็เป็นฝีมือของกลุ่มการเมือง
และจนถึงทุกวันนี้ ประชาชนจำนวนมากก็ยังเชื่อเช่นนี้ และปริศนาการปลงพระชนม์หมู่ก็ยังคงติดอยู่ในประวัติศาสตร์เนปาล
โฆษณา