4 ก.ค. 2022 เวลา 13:29 • ข่าวรอบโลก
--เศรษฐกิจสินค้าแบบซองกับปัญหาขยะพลาสติกในฟิลิปปินส์--
สินค้าอุปโภคบริโภคที่เห็นวางขายตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายของชำมีบรรจุภัณฑ์แบบเป็นซอง ไม่ใช่ว่าเป็นที่นิยมในไทยเท่านั้น อย่างที่ฟิลิปปินส์ ก็เป็นขนาดของสินค้าที่ผู้บริโภคมากมายนิยมซื้อไปใช้ จริง ๆ แล้วมันเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน
อย่างร้านขายของร้านหนึ่งที่กรุงมนิลา เปิดร้านมากว่า 36 ปี กลอเรีย โมลินา เจ้าของร้านวัย 70 บอกกับผู้สื่อข่าวว่าของที่ขายดีและขายหมดบ่อย ๆ คือพวกสินค้าที่มาแบบบรรจุซอง
"สินค้าแบบซองขายง่ายกว่าแบบอื่น เช่นเป็นขวด เพราะแบบนี้คือขนาดที่คนมีรายได้น้อยจะซื้อได้ แบบขวดหรือที่ขนาดใหญ่ขึ้นก็ราคาสูงขึ้น ส่วนตัว ฉันก็ชอบแบบซองมากกว่าค่ะ จ่ายน้อยกว่า" กลอเรียกล่าว
ถึงซองเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นมิตรกับสถานการณ์เศรษฐกิจของผู้บริโภคจำนวนมาก แต่มันไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเอาเสียเลย
ซองเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นพลาสติกและอลูมิเนียมฟอยล์เป็นชั้น ๆ และไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซองเหล่านี้กำลังกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนา เพราะเป็นพื้นที่ที่คนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในบรรจุภัณฑ์ปริมาณพอใช้เท่านั้น ซึ่งก็คือส่วนใหญ่มาในรูปแบบซอง ไม่ว่าจะเป็น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก เครื่องปรุงอาหาร ขนมขบเคี้ยว หรือซองเครื่องดื่ม
สินค้าขนาดใช้ครั้งเดียวแบบนี้ เป็นเครื่องมืออย่างดีของผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกที่จะเข้าถึงตลาดเกิดใหม่ ด้วยการขายสินค้าให้กลุ่มครัวเรือนคนรายได้ต่ำ แต่อีกด้านก็คือ กลายเป็นส่งเสริมพฤติกรรมการใช้พลาสติกทั่วโลกให้สถานการณ์มลพิษพลาสติกยิ่งหนักขึ้นไปอีก
จากการศึกษาโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่าฟิลิปปินส์ที่มีประชากรราว 110 ล้านคน มีการใช้สินค้าบรรจุซองแบบที่ว่านี้ถึงวันละราว 163 ล้านซอง และหลักฐานให้เห็นคือขยะพลาสติกที่เต็มแม่น้ำในกรุงมนิลา
ปัญหานี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ก็รู้ดี จึงกำลังมองหาวิธีที่จะทำให้เกิดการใช้น้อยลง ล่าสุด มีความพยายามผ่านร่างกฎหมายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ก็ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนในสภามากเท่าพอ
แต่ก็ยังมีแผนออกกฎหมายบังคับให้ทางฝั่งผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคช่วยออกค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและกำจัดขยะพลาสติก ซึ่งกฎหมายฉบับนี้กำลังรอประธานาธิบดีคนใหม่ลงนาม
ทางฝั่งเจ้าของร้านค้าปลีกเองก็ยอมรับว่าพวกเขาได้กำไรจากการขายสินค้าแบบซองมากกว่าแบบอื่น และอย่างโมลินาเอง ก็บอกว่ามันเหมาะกับการจัดการค่าใช้จ่ายของครอบครัวมากกว่า ถึงแม้ว่าเทียบปริมาณต่อขนาด ต่อราคาที่จ่าย ซองเล็ก ๆ เหล่านี้จะมีราคาสูง แต่ว่าการที่ต้องจ่ายครั้งละไม่มาก เป็นการใช้จ่ายที่เหมาะกับครอบครัวรายได้ต่ำมากกว่า
และด้วยสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกตอนนี้ สินค้าแบบซองยิ่งขายดีมากขึ้นไปอีก
ทางฝั่งนักวิชาการได้มีการรวมตัวกันทำการศึกษาวิจัยเรื่องส่วนประกอบมลพิษพลาสติกในสิ่งแวดล้อมในอ่าวมนิลา ซึ่งจากมุมมองของนักวิชาการ มองว่าไม่ควรรีบเร่งห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะอุตสาหกรรมในประเทศต้องการใช้เวลาในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ต้รทุนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับสินค้าขนาดบรรจุเล็ก ๆ เหล่านี้
ศาสตราจารย์ มาเรีย โรซาริโอ การ์เซีย มหาวิทยาลัยซานโตโทมัส กล่าวว่า สินค้าแบบซองใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพมาก สะดวก หมายความว่ามันใช้งานได้จริง ๆ ปริมาณพอดี และใช้เงินครั้งละน้อยกว่าในการซื้อ เธอคิดว่าทั้งรัฐบาลและผู้ผลิตควรจะพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคที่ยั่งยืน ค่อย ๆ ทำทีละชนิด ไม่ใช่ว่าจะแค่หยุดใช้พลาสติกแล้วมองหาสิ่งทดแทน ต้องค่อย ๆ ทำทีละอย่าง
ในรายงานที่ว่า มีการออกข้อแนะนำรัฐบาลว่าควรออกกฎหมายที่จะส่งเสริมความรับผิดชอบจากฝั่งผู้ผลิต มีระเบียบบังคับการรีไซเคิลที่เข้มงวดขึ้น และการกำจัดขยะในชุมชนตามชายฝั่งที่เหามะสม
ขณะเดียวกัน ก็มีที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลฟิลิปปินส์ว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการขยะในประเทศนั้นไม่เข้มแข็งพอ ทำให้ทั้งรัฐบาลและชุมชนเองต้องดิ้นรนเพื่อจัดการกับวิกฤตมลพิษจากซองพลาสติก
ทางฝั่งเอกชนในฟิลิปปินส์ก็รับทราบปัญหาขยะพลาสติก และรับปากว่าจะหาทางออกกับปัญหามลพิษ แต่ก็อย่างที่เราเห็นตามข่าวว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น
ข้อมูลจากโครงการ Our World in Data ของมหาวิทยาลัย Oxford ของสหราชอาณาจักร อัพเดตเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนถึง 36 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกทั่วโลก
โฆษณา