Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
8 ก.ค. 2022 เวลา 00:48 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หลังห้วงความตาย
Photo by Grant Whitty on Unsplash
มนุษย์เราอึดอัดใจกับเรื่องความตายและชีวิตหลังความตาย เพราะไม่รู้ว่าหลังจากตายจะเป็นอย่างไรกันแน่ จะมีนรกและสวรรค์จริงหรือไม่ และเราแต่ละคนจะเอาตัวรอดในชีวิตหลังความตายไปได้อย่าไงร
บันทึกเก่าแก่เกี่ยวกับความคิดในเรื่องทำนองนี้มีให้สืบค้นได้นับเป็นพันปี หนังสือเรื่อง รีพับลิก (Republic) ของเพลโต้ (Plato) มีกล่าวถึงนักรบกรีกชื่อ เออร์ (Er) ที่ตายในสมรภูมิ แต่ก็กลับคืนชีพกลับมาเล่าเรื่องราวหลังความตายให้ผู้คนได้ฟัง
https://www.bookdepository.com/The-Republic-Plato/9780486411217?redirected=true&utm_medium=Google&utm_campaign=Base1&utm_source=TH&utm_content=The-Republic&selectCurrency=THB&w=AF5NAU9S507FHMA8VT1T&gclid=Cj0KCQjwn4qWBhCvARIsAFNAMiiSczpvGwKBLhjui-70M56ZngYS2vMmGHSLudIxeNquIYJkwHUIQvcaAtXOEALw_wcB
ในทางพระพุทธศาสนา ก็มีพระสูตรนอกพระไตรปิฏกชื่อ มาลัยเทวสูตร (หรือ ปรมัตถโชติกาฏีกามาลัยเทวสูตร) ที่พระมาลัยเถระชาวลังกาทวีป ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์และสามารถเดินทางไปโปรดสัตว์ที่ตายลงและไปอยู่ในนรกหรือสวรรค์
หลักฐานทางศิลปะในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็น่าสนใจครับ ศิลปินชาวดัทช์ชื่อ ฮีเอโรนีมัส โบสช์ (Hieronymus Bosch) วาดภาพชื่อ Ascent of the Blessed ที่แสดงให้เห็นถึง “อุโมงค์แสง” ที่นำพาวิญญาณของสาวกผู้ศรัทธาขึ้นสู่สรวงสวรรค์ จึงจะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องภายหลังการตายจะมีแสงสว่างนำทางมีมานานอย่างน้อยก็ 600 ปีมาแล้ว
ในทางวิทยาศาสตร์มีศัพท์คำหนึ่งที่คิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1975 โดยจิตแพทย์ชื่อ เรย์มอนด์ มูดี้ (Raymond Moody) โดยตีพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ ชีวิตหลังชีวิต (Life After Life) คือ คำว่า “ประสบการณ์เฉียดตาย (Near–Death Experience, NDE)”
โดยหนังสือเล่มดังกล่าวบันทึกประสบการณ์ของคนมากกว่า 100 คนที่เคยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า “ตายไปแล้ว” แต่ภายหลังก็กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้
หนังสือเล่มนี้ขายได้มากกว่า 13 ล้านเล่ม ทำให้ NDE กลายเป็นตัวย่อที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ว่าใช้แทนประสบการณ์ทำนองนี้
Photo by Mathew Schwartz on Unsplash
ผู้ที่มี NDE มักจะรู้สึกสงบสุขอย่างประหลาด มักเห็นแสงที่คอยนำทาง ลักษณะเป็นแสงที่อบอุ่น
บางครั้งอาจเห็นอุโมงค์แสงด้วย มักจะมีผู้มาคอยรับอยู่ บางทีก็เป็นญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่บางทีอาจเป็นยมทูตที่มาในรูปแบบต่างๆ กัน อาจเป็นร่างกาย แต่คล้ายแสงจ้าไม่เห็นหน้าตา
และอาจเห็นภาพห้วงเวลาต่างๆ ในชีวิตปรากฏอย่างชัดเจน
ในปี ค.ศ. 1983 จิตแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ บรูซ เกรย์สัน (Bruce Greyson) ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์คนที่เคยมีประสบการณ์ NDE รวม 74 คน ซึ่งต่อมาชุดคำถามที่เขาใช้ก็ได้รับการขนานนามเป็น Greyson NDE scale ที่ใช้วัดระดับ NDE จนถึงปัจจุบัน
เขาพบว่า ผู้หัวใจวายราว 23% ที่มีประสบการณ์ NDE จดจำได้ชัดเจน
แต่คำว่า NDE นี่ บางคนก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะคิดว่าเป็นประสบการณ์การตาย “จริง” ถ้าถือตาม “นิยาม” การตายในปัจจุบัน ไม่ได้แค่ “เฉียดตาย” เพราะหัวใจหยุดเต้น ไม่มีการสูบฉีดเลือดต่อไป สมองหยุดทำงานแทบทันที ร่างกายขาดการตอบสนองแม้แต่ระบบอัตโนมัติต่างๆ เช่น รูม่านตาก็ไม่ตอบสนองเมื่อกระตุ้นด้วยแสงไฟ และอวัยวะต่างๆ ก็หยุดทำงานจริง
มีงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2014 (วารสาร Resuscitation 85, 1799–1805,
dx.doi.org/10.1016/j.resuscitation.2014.09.004
) ทำโดยนักวิจัยจาก NYU Langone School of Medicine ในกรุงนิวยอร์ก
โดยในงานวิจัยนี้มีผู้เข้าร่วม 2,060 คน ข้อมูลครอบคลุมโรงพยาบาล 15 แห่งในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรีย ถือเป็นอาสาสมัครที่เกิดอาการหัวใจหยุดเต้น แต่กู้ชีพกลับมาได้จำนวนมากที่สุดที่เคยวิจัยทีเดียว
ผลวิจัยสรุปว่ามีราว 46% ของคนในกลุ่มนี้ที่จำเรื่องราวต่างๆ ขณะเสียชีวิตได้ โดยมีอยู่ 9% ที่เห็นภาพเหตุการณ์หลังแพทย์ประกาศการเสียชีวิตไปแล้วด้วย ก่อนที่หัวใจตัวเองจะกลับมาเต้นอีกครั้ง โดยได้ยินเสียงคุยกันของหมอและพยาบาล รวมถึงการกู้ชีพด้วย
Photo by National Cancer Institute on Unsplash
ฉะนั้น นี่เป็นหลักฐานว่าอย่างน้อยที่สุดไม่กี่นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น (หรือ “ตาย” ตามมาตรฐานการแพทย์ปัจจุบัน) สติสัมปชัญญะยังไม่สูญหายไปทันที
ประสบการณ์ NDE นี่น่าสนใจมาก เพราะมีหลายรายที่อ้างว่า รู้สึกราวกับตัวเอง “ถอดจิต” ลอยออกจากร่าง มองลงมายังร่างกายตัวเองกับแพทย์และพยาบาลได้ ซึ่งตามประสานักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ก็มีคนที่นำเอาภาพบางอย่างไปติดไว้ในห้องในโรงพยาบาลนับพันห้อง (อย่างลับๆ)
โดยวางอยู่บนชั้นสูงที่คนทั่วไปไม่อาจมองเห็นได้ แต่หากผู้ป่วยลอยออกนอกร่างจริงๆ ก็ควรจะเห็นภาพพวกนี้
ผลก็คือ....ไม่มีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นแม้แต่คนเดียวที่รายงานว่าเห็นภาพดังกล่าว
ซึ่งก็แสดงว่ามีแนวโน้มสูงมากกว่า....ไม่ได้มีการถอดร่างจริง เป็นแต่การสร้างภาพขึ้นมาในสมองตามสภาวะร่างกายที่ผิดเพี้ยนไป
การทดลองในสัตว์ยิ่งน่าทึ่งมากขึ้นไปอีก มีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารดังระดับโลกอย่าง Nature (568, 302-304, doi: 10.1038/d41586-019-01169-8) ปี ค.ศ. 2019 นี้เอง โดยทีมวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล โดยมีการผ่าตัดแยกเอาสมองหมูออกจากหัวที่ผ่านการชำแหละมาแล้วนาน 4 ชั่วโมง
ก่อนนำมาเชื่อมต่อกับระบบที่สร้างขึ้นและตั้งชื่อว่า เบรนเอกซ์ (BrainEx) ระบบที่ว่านี้มีทั้งปั๊ม ระบบความร้อน และตัวกรอง โดยมีคอมพิวเตอร์คอยควบคุมการไหลเวียนเลือด อุณหภูมิ และส่วนประกอบอื่นๆ ที่จำเป็น และทำเช่นนี้ต่อไปนาน 6 ชั่วโมง
เนื่องจากการทดลองแบบนี้ถ้าไปกระตุ้นให้หมูเกิดรู้สึกตัวขึ้น ก็ต้องถือว่าผิดจริยธรรม จึงต้องตรวจวัดกระแสประสาทว่าไม่ได้มีการหลั่งสารสื่อประสาทในลักษณะเดียวกับหมูเป็นๆ และไม่เกิดการรับรู้ความเจ็บหรือความเครียดใดๆ
ผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจทีเดียว เพราะมีการไหลเวียนของเลือดผ่านทางเส้นเลือดต่างๆ ไปจนถึงเส้นเลือดฝอยได้ และเซลล์ยังตอบสนองต่อยาและมีการเผาผลาญพลังงานและสร้างสารต่างๆ แบบเดียวกับเซลล์สมองหมูทั่วไป
แม้ว่าจะไม่มีการส่งกระแสประสาทก็ตาม ดูราวกับจะสามารถผดุงชีพสมองต่อไปได้เรื่อย แต่นักวิจัยก็หยุดการทดลองไว้ที่ 6 ชั่วโมง
การทดลองนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะรักษาสภาพของเซลล์สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนานหลังจากที่ตายไปหลายชั่วโมง
เรื่องนี้ก่อให้เกิดการถกเถียงเรื่องการผ่าตัดเอาอวัยวะของผู้เสียชีวิตที่บริจาคร่างกายเพื่อนำไปเปลี่ยนถ่ายให้ผู้ป่วยอื่นว่า ควรจะทำเมื่อใดกันแน่
Photo by Stormseeker on Unsplash
จากทั้งหมดที่เล่ามาจะเห็นได้ว่า การตายไม่ใช่ “จุดเวลา” อย่างที่การแพทย์ปัจจุบันยึดถือกันอยู่ แต่เป็นกระบวนการที่ทอดเวลายาวกว่านั้น
และที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ เรามีเครื่องมือและเทคนิคที่ดีพอที่จะทำให้สมองทำงานต่อไปได้อีกนานหลังเสียชีวิต (แม้ว่าด้วยเหตุผลทางจริยธรรม เราจึงไม่ทดลองกับมนุษย์ และแม้ทดลองในสัตว์ก็ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดการหลั่งกระแสประสาท จึงทำให้ไม่เหมือน 100% ก็ตาม)
“ชีวิต” หลังความตายจึงมีลักษณะแตกต่างจากที่เราเคยคิดกันไม่น้อย
nde
death
research
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย