5 ก.ค. 2022 เวลา 04:00 • สิ่งแวดล้อม
คลื่นความร้อนทั่วโลกรุนแรงขึ้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ผิดปกติไหม?
ผลการศึกษาใหม่เผยว่า มนุษย์มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศถึง 30 เท่า โดยเฉพาะการทำให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงในเอเชียใต้และหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่า มันไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
เกิดปรากฎการณ์การทุบสถิติคลื่นความร้อนรุนแรงหลายประเทศ อาทิ เดือนมีนาคมอินเดียเผชิญคลื่นความร้อนรุนแรงในรอบ 122 ปี ทำอุณหภูมิสูงถึง 49 องศาเซลเซียส สูงสุดเป็นประวัติการณ์จนทำให้มีประชาชนล้มตายเนื่องจากการเป็นลมแดด ซึ่งคลื่นความร้อนนี้ก็ได้แผ่ขยายไปยังปากีสถานด้วย ส่วนในสเปนก็อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส แอนตาร์กติกในเดือนมีนาคมก็เผชิญอุณหภูมิที่สูงขึ้น 15 องศาเซลเซียสจนทำให้ทุบสถิติตลอดกาลครั้งก่อน
นักวิทยาศาสตร์เผยว่า คลื่นความร้อนเหล่านี้ เปรียบเสมือนเป็นสัญญาณเตือน และปรากฎการณ์ที่เกิดถี่เหล่านี้เริ่มดูเหมือนภัยพิบัติทางสภาพอากาศแล้ว ตั้งแต่นั้นมา สถานีตรวจวัดสภาพอากาศทั่วโลกก็ปรากฎภาพการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในปรอทที่เพิ่มสูงขึ้น
Vikki Thompson นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศที่สถาบัน Cabot แห่งมหาวิทยาลัย Bristol อธิบายว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้นและยาวนานขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากมนุษย์ สัญญาณการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเหล่านี้สามารถตรวจจับได้ชัดเจน อย่างเช่น จำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากคลื่นความร้อน”
Friederike Otto อาจารย์อาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศที่ Grantham Institute, Imperial College London กล่าวว่า ในบางพื้นที่ของยุโรปเกิดคลื่นความร้อนถี่ขึ้นถึง 100 เท่า เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น
ความร้อนประเภทนี้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์มาก ทั้งส่งผลโดยตรงอย่างการเป็นลมแดดและทางอ้อมเช่นความเครียด และการทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำให้เกิดไฟป่า และส่งผลกระทบต่อผู้คนที่มีกำลังทรัพย์น้อยในการให้ตนเองหลบพ้นจากคลื่นความร้อนเหล่านี้
เกษตรกรและคนทำงานกลางแจ้งคือคนได้รับผลกระทบเรื่องนี้มากสุด มีโอกาสเป็นลมแดดได้ง่ายๆและหลายหลังคาเรือนไม่มีงบในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ
ใครได้รับผลกระทบมากสุดในเรื่องนี้?
คนจนคือคนที่ทนทุกข์ทรมานมากที่สุดในเรื่องนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่พวกเขาทำงานในที่แจ้ง เช่น ทุ่งนาและโรงงาน หรือบนถนนร้อน ๆ ที่ไม่มีที่พักพิงหลบแดด รวมไปถึงไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการซื้อเครื่องปรับอากาศเมื่อกลับถึงบ้าน
ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรอาจจะได้รับผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน อันเนื่องมาจากคลื่นความร้อนก่อให้เกิดภัยแล้ง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพืชผลทางการเกษตรให้แห้งเหี่ยวจน ไม่ได้ผลผลิตตามเป้าหรือคุณภาพที่ดี
ยกตัวอย่างเช่น ซอสพริกศรีราชาขาดตลาดในสหรัฐอเมริกา อันเนื่องมาจากวิกฤตขาดแคลนพริก วัตถุดิบหลัก พริกส่วนใหญ่นำเข้ามาจากอเมริกาใต้ แต่อเมริกาใต้ถูกคลื่นความร้อนโจมตีจนทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพและปริมาณตามที่บริษัทกำหนดไว้ รวมไปถึงอากาศร้อนทำให้น้ำเพื่อการเกษตรขาดแคลน จนนำมาดูแลพืชผลได้ไม่เพียงพอ
มันจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
ตอนนี้เรายืนและทำกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกที่อุ่นขึ้น ไฟโลกจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังย่างเราอย่างช้า ๆ อุณหภูมิที่สูงขึ้นของโลก จะทำให้เราเริ่มทุกข์ทรมานและมันจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความร้อนในปัจจุบันก่อให้เกิดความท้าทายซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุก ๆ ทวีปที่มีผู้คนอาศัยอยู่ และสร้างภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์เป็นวงกว้างมากขึ้น
มีการคาดการณ์มากมายเกี่ยวกับอนาคตของเราที่ร้อนขึ้น เช่น เกือบ 70% ของประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองภายในปี 2050 จะได้เผชิญกับอากาศร้อนจัด หรือ ภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขนาดของคลื่นความร้อนในอีก 100 ปีข้างหน้า
แน่นอนหลายคนที่กำลังอ่านอยู่นี้คงมีชีวิตอยู่ไม่ถึงช่วงเวลานั้นแน่นอน แต่เคยคิดไหมว่า การกระทำของเราวันนี้มันจะส่งผลต่ออนาคตของคนรุ่นต่อไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะประเทศไทยที่หลายคนมักบอกว่าคนไทยทนชินกับอากาศร้อน เพราะเป็นประเทศที่อยู่บนเส้นศูนย์สูตร ที่มีความร้อนเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าลืมว่าร้อนไทยกับร้อนยุโรปนั้นต่างกัน
หลายประเทศในเขตอบอุ่น ที่มีฤดูหนาวที่เย็นจัดไม่ได้สัมผัสกับอากาศร้อนชื้นในฤดูร้อนเหมือนบ้านเรา ความร้อนของฝั่งยุโรปนั้น จะเป็นสภาพอากาศที่ร้อนแห้ง และจะแสบผิวมากกว่าปกติ ซึ่งรุนแรงต่อสุขภาพโดยตรงของผู้คน มนุษย์เรามักเผยเฉยหรือรับรู้ชั่วคราวของเหตุการณ์ต่าง ๆ เนื่องจากมันไม่ได้จวนตัวหรือกระทบกับตนเองโดยตรงมากนัก
แต่เรื่องนี้ เราจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะกระทบจวนตัวหรือไม่ก็ตาม เพราะมันคือผลลัพธ์ที่จะถูกส่งต่อไปยังยุคหลังจากนี้ อนาคตจะดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับเราในตอนนี้แล้ว คุณอยากให้ลูกหลานของคุณเผชิญกับภัยอันตรายข้างหน้า เพียงเพราะมากจากรุ่นเราหรือเปล่า ?
โฆษณา