5 ก.ค. 2022 เวลา 14:04 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน
ปัญหาด้านการคอร์รัปชัน เป็นหนึ่งในปัญหาที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่แม้ว่าจะมีการตระหนักรู้ถึงปัญหาอย่างกว้างขวางแล้ว การปรับปรุงแก้ไขกลับไม่ได้ง่ายดายและรวดเร็วดั่งใจนึก
แม้ว่าจะมีการริเริ่มแก้ไขปัญหามาแล้วอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ภาคส่วน แต่ปัญหาก็ยังคงมี และเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำไปซ้ำมา โดยไม่ค่อยมีความคืบหน้าในทางที่ดีขึ้นเท่าใดนักในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้นแล้ว จึงถึงเวลาที่จะต้องหาแนวทางการรับมือใหม่ ๆ โดยการพึ่งเครื่องมือใหม่ ๆ แล้ว และหนึ่งในทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ การเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส
การเปิดเผยชุดข้อมูลต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างความน่าเชื่อถือต่อภาคประชาชน ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าอยากรู้กันแล้วว่าสามารถนำการใช้ข้อมูลมาเพื่อเปิดเผยเพื่อความโปร่งใสได้อย่างไรบ้าง รวมถึง Data Visualization นั้นเข้ามามีบทบาทอย่างไร ไปดูกันเลย!
ข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมณัฐ ณัฐภัทร เนียวกุล ปัจจุบันเป็นผู้จัดการโครงการข้อมูลเปิดเผยเพื่อความโปร่งใสของบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เราทำงานโดยมีความตั้งใจเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในสังคม สร้างระบบนิเวศน์ของการ ต่อต้านคอร์รัปชัน และเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในสังคมที่ทำงานในเรื่องนี้เข้ามาทำงานร่วมกัน
ทุกท่านคงทราบดีว่า ปัญหาคอร์รัปชัน เป็นปัญหาที่เราพูดซ้ำวนเวียนมานานว่า แก้ไม่ได้สักที แม้ว่าเราจะพยายามทำยุทธศาสตร์ชาติ ออกกฎหมาย เขียนกฎหมายใหม่ก็หลายต่อหลายครั้ง มีองค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดอันดับ ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index; CPI) ย้อนหลังไปเป็น 10 ปี คะแนนประเทศไทยก็ไม่ค่อยขยับไปไหน แต่อันดับที่เราได้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ กลับลดลงเรื่อย ๆ
การจะรับมือ และจัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่เพื่อหาวิธีการ และเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาช่วย “ข้อมูล” จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะข้อมูลจะมีส่วนช่วยทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่า ต่างฝ่ายต่างมองเห็นสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังทำอยู่ ปิดบังซ้อนเร้นไม่ได้ (ในเงื่อนไขที่ว่าข้อมูลภาครัฐถูกเปิดเผยทั้งหมด)
จากการศึกษาของคณะทำงาน G20 Anti-Corruption ได้มีการกำหนดชุดข้อมูลที่สำคัญที่ภาครัฐควรเปิดเผยเพื่อส่งเสริมความโปร่งใส และต่อต้านการคอร์รัปชันไว้ ประกอบด้วย ข้อมูลนิติบุคคล (Company Registers) ข้อมูลผู้ได้รับประโยชน์ (Beneficial Ownership) ข้อมูลคู่สัญญาของรัฐ (Government Contractors) ข้อมูลงบประมาณภาครัฐ (Government Budgeting) ข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (Government Spending)
ข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Public Procurement) ข้อมูลทางการเงินของพรรคการเมือง (Political Financing) ข้อมูลการลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภา (Voting Records) ข้อมูลการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ (Meeting Records) ข้อมูลบัญชีทรัพย์สิน (Assets Declarations) ข้อมูลการครอบครองที่ดิน (Land Registers) เป็นต้น
จากการทำงานที่ผ่านมาเราพบว่าชุดข้อมูลเหล่านี้ถูกเปิดเผยกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน ถ้าโชคดีหน่อยก็อยู่ในรูปแบบ Machine Readable Format (ซึ่งเป็นส่วนน้อย) เช่น เว็บไซต์ data.go.th ที่มีการอัปเดตเวอร์ชัน และเพิ่มชุดข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
หรือระบบภาษีไปไหน ที่ทำให้เห็นข้อมูลโครงการภาครัฐรายโครงการ ที่แม้จะมีรายละเอียดไม่เท่ากับข้อมูลที่อยู่บนหน้าเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาข้อมูลที่ดี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วข้อมูลมักจะอยู่ในรูปแบบ PDF ที่มีการสแกนเข้าไป โชคร้ายสุด ๆ คือบางชุดข้อมูลไม่ถูกเปิดเผยเลย (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม)
ขอออกตัวก่อนนะครับว่า ผมอาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเรื่อง Data ในเชิงลึก แต่จากงานที่กำลังทำอยู่ คือโครงการข้อมูลเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส ทำให้มีความจำเป็นต้องทำงานที่เกี่ยวกับชุดข้อมูลต่าง ๆ ค่อนข้างมาก และได้มีโอกาสไปร่วมงานในการพัฒนาเครื่องมือที่ชื่อ ACT Ai (https://actai.co) ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับการต่อต้านคอร์รัปชัน
โดยการรวบรวมชุดข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อมูลนิติบุคคล ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินนักการเมือง ข้อมูลคำชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. เป็นต้น มาไว้ในที่เดียวกัน นำมา Digitize (การแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล) ข้อมูลทั้งหมดร่วมกับภาคประชาชน และจัดการข้อมูลให้อยู่ในมาตรฐาน Open Data Standard สร้างการเชื่อมโยงระหว่างชุดข้อมูล และวิเคราะห์ “ความเสี่ยง” ต่อการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการเสนอราคาของโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
เพื่อเป็นเครื่องมือสาธารณะให้ภาคประชาชนเข้าถึงข้อมูล ติดตาม และตรวจสอบการใช้จ่ายของภาครัฐได้ ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาเป็น Open Data Website for Anti – Corruption ให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ ตัวอย่างการตรวจสอบโครงการสร้างถนน
นอกจากนี้เรายังเพิ่มเครื่องมือ Data visualization ในประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม ร่วมกับทีม Punch UP เช่น ข้อมูลงบประมาณ และเงินกู้โควิด ในชื่อ “จับโกงงบโควิดด้วย ACT Ai” (https://covid19.actai.co) ที่ต้องขอชื่นชมการเปิดเผยข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ ที่ทำข้อมูลออกมาได้ค่อนข้างดี ทำให้สามารถนำข้อมูลมาจัดการต่อได้ง่าย นำเสนอข้อมูลในรูปแบบแผนที่ และมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงการทุจริตในขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ข้อมูล
โครงการก่อสร้างภาครัฐภายใต้โครงการ CoST Thailand ในชื่อ “BUILD BETTER LIVES by CoST (https://costthailand.org)” ที่มุ่งเน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ เพื่อสร้างความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ เช่น เอธิโอเปีย ฮอนดูรัส กัวเตมาลา และประเทศไทยเอง
หลังจากที่มีโครงการก่อสร้างภาครัฐเข้าร่วม CoST แล้วกว่า 1,400 โครงการ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 123,626.31 ล้านบาท (*คิดจากส่วนต่างระหว่างงบประมาณรวมและมูลค่าสัญญา) จากการที่ตัวแทนภาคประชาชนสามารถสะท้อนความเห็นและทำงานร่วมกับภาครัฐหลังจากที่ได้เห็นข้อมูลงบประมาณที่ภาครัฐวางแผนดำเนินการ
ในอนาคตเรากำลังรวบรวมข้อมูลแผนงบประมาณของท้องถิ่นเพื่อมาเชื่อมโยงให้เห็นทั้งกระบวนการงบประมาณ ตั้งแต่การวางแผนใช้จ่ายงบฯ จนไปสู่การจัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ มีความโปร่งใสหรือไม่ ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองที่มักจะเปิดเผยในระยะเวลาจำกัด
แต่เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างมีความสำคัญ และรวมไปถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ที่จะพัฒนาเป็นเครื่องมือให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องความโปร่งใส และสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนของเราให้ดีขึ้น ไว้เครื่องมือและชุดข้อมูลเรียบร้อยแล้วจะขออนุญาตมาเล่าให้ทุกท่านได้ฟังในโอกาสต่อไป
สุดท้ายนี้อยากจะขอเชิญชวนให้ทุกท่านทดลองใช้เว็บไซต์และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ได้เล่ามาในช่วงต้นครับ หากมีข้อแนะนำที่จะช่วยพัฒนาเครื่องมือ และข้อมูลให้ดีขึ้น หรือหากท่านสนใจมาร่วมกันพัฒนาชุดข้อมูลต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสไปด้วยกัน ก็ยินดีเสมอนะครับ….
เนื้อหาโดย ณัฐภัทร เนียวกุล
ตรวจทานและปรับปรุงโดย เมธิยาภาวิ์ ศรีมนตรินนท์
โฆษณา