9 ก.ค. 2022 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
6 ตัวอย่างของเทคโนโลยีสำหรับหน่วยกู้ชีพ
เหตุการณ์ต่างๆ เช่น รถชน, การได้รับบาดเจ็บที่บ้าน, ไฟไหม้, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกิดขึ้นแทบจะทุกนาที หากผู้ประสบภัยได้รับการรักษาไม่ทันเวลา อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้รักษาผู้ป่วยได้ยากขึ้นหรือผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้
เมื่อผู้ป่วยขาดออกซิเจนเพียงแค่ 4 นาที อาจทำให้สมองเกิดการเสียหายอย่างถาวร และอาจเสียชีวิตได้ หากขาดออกซิเจนอีก 4-6 นาที ดังนั้นเทคโนโลยีใหม่ๆทางด้านการแพทย์จะช่วยให้ผู้เห็นเหตุการณ์และหน่วยกู้ชีพ สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ดีขึ้น ในสถานการณ์ที่ต้องแข่งขันกับเวลา
จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตั้งแต่รถยนต์ไร้คนขับ, โดรน ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence, A.I.) จะช่วยพัฒนาการทำงานของหน่วยฉุกเฉินทางการแพทย์
ในประเทศฮังการีมีหน่วยงาน National Ambulance Service(OMSZ ในภาษาฮังการี) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการเรียกรถพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฮังการี โดยดำเนินงานมากว่า 133 ปี ได้พัฒนานวัตกรรมทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก โดย CEO ของ OMSZ คุณ Gabor Csató ได้กล่าวว่า นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ใน DNA ขององค์กร OMSZ
แม้ว่าสื่อดังๆจะทำให้ภาพลักษณ์ของการแพทย์ฉุกเฉินเป็นที่น่ายกย่อง และเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อย่างไรก็ตามศาสตร์ดังกล่าวยังถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ และกำลังได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก
จุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางการแพทย์ฉุกเฉินยุคใหม่ ต้องย้อนไปในช่วงต้นปี 1960 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยศาสตร์นี้เกิดขึ้นมาเพื่อรับมือกับอุบัติเหตุบนท้องถนน หลังจากนั้นก็มีหลายๆประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, แคนาดา, ฮ่องกง และสิงคโปร์ ได้มีการพัฒนาศาสตร์ดังกล่าวในเวลาต่อมาในช่วงปี 1970 และ 1980 จากนั้นก็มีการเผยแพร่ไปยังหลายประเทศในทวีปยุโรป
ทำให้แพทย์ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการช่วยปฐมพยาบาลผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ หรือที่บ้าน ก่อนนำผู้ป่วยส่งมาที่โรงพยาบาล ซึ่งการแพทย์ฉุกเฉินมี 2 รูปแบบหลักๆคือ การรักษาผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ และการส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาล
ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีโมเดลหนึ่งในการดูแลผู้ป่วย โดยหากไม่จำเป็นจริงๆจะไม่ทำการรักษาผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ แต่จะรีบส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ในปัจจุบัน ประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยทั้ง 2 แบบที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การแพทย์ฉุกเฉินถูกพัฒนาไปในรูปแบบของการรักษาผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ ดังเช่นใน 6 ตัวอย่างของเทคโนโลยีทางการแพทย์ฉุกเฉินต่อไปนี้
1. การใช้ A.I. มาช่วยในการขนย้ายผู้ป่วย
จากการที่ A.I. ได้เข้ามาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์มากมาย ตั้งแต่การคิดค้นยาชนิดใหม่ จนถึงการช่วยวินิจฉัยโรคที่ถูกตรวจพบได้ยาก โดย OMSZ ได้มีการใช้ A.I. ในการขนย้ายผู้ป่วยในทุกๆวัน
โดย A.I. จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมากกว่า 3,000 ครั้งต่อวัน รวมถึงจำนวนรถพยาบาลของ OMSZ ที่มีจำนวนมาก
ซึ่ง ดร. Csató ได้อธิบายถึงการนำเทคโนโลยี A.I. มาใช้งานว่า A.I. ไม่รู้หรอกว่า จะมีอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นที่ไหนและในช่วงเวลาใดบ้าง แต่ A.I. สามารถทำนายแนวโน้มของการเกิดอุบัติเหตุได้จากสถิติที่ผ่านมา ทำให้พวกเราสามารถวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในแต่ละวันได้ และสามารถนำรถพยาบาลไปประจำการ ณ บริเวณที่มีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที
ในปี 2020 บริษัท Hexagon ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ ก็ได้นำ A.I. มาใช้ในงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินเช่นกัน ซึ่งระบบ HxGN OnCall Dispatch ของทางบริษัท เป็นระบบที่สามารถให้คำแนะนำและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ real-time เพื่อค้นหารูปแบบและจุดเกิดเหตุ เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินได้เตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ
2. แอพพลิเคชั่นสำหรับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน
จากสถิติพบว่า 80% ของความผิดพลาดในการรักษา เกิดจากการสื่อสารกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน ต้องมีการลดความผิดพลาดดังกล่าวลงให้ได้มากที่สุด จึงมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้งานในด้านนี้ขึ้นมา
บริษัท Pulsara จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม HIPAA-compliant ขึ้นมาเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะ รวมถึงการบริหารจัดการรถพยาบาล
การใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ช่วยให้หน่วยกู้ชีพสามารถแจ้งเตือนข้อมูลกับแผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาล เพื่อเตรียมการรักษาได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล โดยแอพพลิเคชั่นสามารถคำนวณระยะเวลาในการเดินทางจากจุดเกิดเหตุไปยังโรงพยาบาลจากระบบ GPS อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถส่งต่อข้อมูลสำคัญทางการแพทย์เช่น สัญญาณคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ, หรือภาพถ่ายจากจุดเกิดเหตุ ซึ่งช่วยลดเวลาในการรักษาได้กว่า 30%
แอพพลิเคชั่น จากบริษัท Pulsara
ในประเทศฮังการี ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีรูปแบบคล้ายกับ Pulsara ที่มีชื่อว่า Szív City โดยทาง ดร. Csató ได้อธิบายว่า ผู้ใช้งานที่เป็นอาสาสมัครซึ่งพบเห็นเหตุการณ์ สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เพื่อแจ้งเตือนรถพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงในรัศมี 500 เมตร รวมถึงการได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการทำ CPR เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยก่อนที่รถพยาบาลจะเดินทางมาถึง
จากการที่มีอาสาสมัครใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้กว่า 30,000 คน ทำให้ OMSZ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการให้คำแนะนำในการทำ CPR ณ จุดเกิดเหตุได้เพิ่มเป็น 2 เท่าภายในเวลาเพียง 1 ปี
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีแอพพลิเคชั่นจาก American Heart Association ชื่อว่า Full Code Pro ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้ดาวน์โหลดฟรีผ่านระบบ iOS โดยเป็นเครื่องมือสำหรับติดตามการทำ CPR และช่วยให้คำแนะนำกับผู้ใช้งานเกี่ยวกับการทำ CPR
อีกทั้งผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่น Full Code Pro ยังสามารถบันทึกประวัติการใช้ยาของผู้ป่วย, เริ่มบันทึกเวลาในการทำ CPR, ใช้ฟังก์ชันนับจังหวะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำ CPR โดยข้อมูลต่างๆที่ถูกบันทึกภายในแอพพลิเคชั่น จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น และช่วยลดเวลาในการจัดทำเอกสารของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
นอกจากนี้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเกิดขึ้นได้ในที่อื่นๆ เช่น บนเครื่องบิน เป็นต้น จึงมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า airRx ขึ้นมา ซึ่งภายในแอพพลิเคชั่นจะมีคำแนะนำในการดูแลรักษาผู้ป่วยในระหว่างการเดินทางบนเครื่องบินกว่า 23 สถานการณ์ เพื่อช่วยแนะนำหมอที่เดินทางด้วยเครื่องบินในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
อีกทั้งยังมีแอพลลิเคชั่นสำหรับลูกเรือบนเครื่องบิน ชื่อว่า MedAire Aviation เพื่อช่วยให้ลูกเรือสามารถติดต่อกับแพทย์ได้โดยตรง ในการขอคำแนะนำสำหรับการประเมินอาการของผู้ป่วย ซึ่งแอพดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับสายการบิน Icelandair แล้ว
3. เกมส์สำหรับฝึกฝนบุคลากรทางการแพทย์
บริษัท Level Ex ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พัฒนาเกมส์มือถือสำหรับฝึกฝนบุคลากรทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่น Airway Ex ซึ่งช่วยจำลองสถานการณ์จริงเพื่อฝึกบุคลากรทางการแพทย์ในการเตรียมการรักษาอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ
โดยแอพพลิเคชั่นจะมีการให้คะแนนในด้านความรวดเร็ว, ความเสียหาย, เลือดออก, และตรวจดูสัญญาณชีพของผู้ป่วยในขณะที่ทำการรักษา ยิ่งกว่านั้นแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ยังสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกในทุกๆที่ เช่น บ้าน, รถไฟฟ้าใต้ดิน และอื่นๆ
4. อุปกรณ์สำหรับวินิจฉัยผู้ป่วยแบบพกพา
การมีเครื่องมือวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยที่มีขนาดเล็ก, พกพาง่าย, และใช้งานง่าย จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการแพทย์ฉุกเฉิน เครื่องมือวินิจฉัยที่มีขนาดใหญ่ เช่น เครื่องวัดคลื่นสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจหรือการทดสอบต่างๆในห้องทดลอง จะกลายเป็นเพียงอดีต เนื่องจากในปัจจุบันหมอสามารถพกพาเครื่องมือเหล่านี้โดยนำมาใส่ในกระเป๋าได้แล้ว
เมื่อก่อน มีเพียงนักรังสีวิทยาเท่านั้นที่สามารถทำการวินิจฉัยผู้ป่วยด้วยเครื่อง Ultrasound ได้ แต่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินทางการแพทย์ สามารถใช้เครื่อง Ultrasound ที่สามารถวางไว้ข้างเตียงผู้ป่วย เพื่อตรวจดูอาการคร่าวๆได้ เช่น อาการเลือดไหลในช่องท้อง เป็นต้น
อีกทั้งยังมีเครื่อง Ultrasound ที่มีขนาดเล็กและสามารถพกพาได้ เช่น Clarius, Philips Lumify ซึ่งช่วยให้หมอและผู้พบเห็นเหตุการณ์ สามารถประเมินอาการของผู้ป่วยได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
นอกจากนี้ก็ได้มีการพัฒนาเครื่องตรวจคลื่นสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจ(ECG) ที่มีขนาดเล็กและเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้ เพียงแต่ว่าเครื่องมือดังกล่าวสามารถใช้สายรับสัญญาณได้เพียงสายเดียว(one-lead) เท่านั้น ทำให้ถึงแม้ว่าจะแสดงสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจได้ แต่ก็ไม่แม่นยำเท่ากับเครื่องมือดังกล่าวแบบมาตรฐานที่ใช้สายรับสัญญาณกว่า 12 สาย
ทำให้ในกรณีผู้ป่วยมีอาการหัวใจล้มเหลว แพทย์ที่ใช้เครื่อง ECG แบบ one-lead อาจไม่สามารถตรวจพบอาการดังกล่าวได้
ในปัจจุบันได้มีเครื่อง Smart Heart Pro ซึ่งเป็นเครื่อง ECG ที่สามารถรับสัญญาณคลื่นไฟฟ้าจาก 12 สายได้ และยังเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ อีกทั้งยังมีความแม่นยำเทียบเท่ากับเครื่อง ECG แบบมาตรฐาน จึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
รวมถึงยังมีเครื่องมือตรวจเลือดแบบใหม่ ที่มีขนาดเล็ก เช่น i-STAT จากบริษัท Abbott จะมาแทนที่การตรวจเลือดในรูปแบบเดิม ที่ต้องรอผลจากห้องทดลองเป็นเวลานาน
เครื่องมือดังกล่าว สามารถใช้ตรวจเลือดได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทำให้หมอสามารถนำมาใช้ตรวจเลือดคนไข้ได้ในสถานที่เกิดเหตุและส่งผลลัพธ์ไปให้หมอเฉพาะทางได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวงการแพทย์ฉุกเฉิน
5. การนำโดรนมาใช้ในด้านการแพทย์
ปัจจุบันมีการนำโดรนมาใช้ในการขนส่งยา, วัคซีน, เครื่องมือปฐมพยาบาล ซึ่งช่วยลดเวลาในการขนส่งครุภัณฑ์ทางการแพทย์ได้
ในประเทศรวันดา บริษัท Zipline ได้ใช้โดรนในการส่งครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ไปยังโรงพยาบาลประจำท้องถิ่น ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้ทางโรงพยาบาลได้รับสิ่งของดังกล่าว เช่น เลือดสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ ภายในเวลาแค่เพียงไม่กี่นาที แทนที่จะเป็นหลายชั่วโมง
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 บริษัท Zipline ได้ขยายบริการมายังประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อช่วยขนส่งครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงชุด PPE แบบไร้การสัมผัส
ความสำคัญของการใช้โดรนในด้านการแพทย์อีกอย่างหนึ่งคือ การขนส่งเครื่องกระตุ้นหัวใจ(Automatic External Defibrillators, AEDs) ไปยังผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวายโดยตรง
โดยทางนักวิจัยได้ศึกษาแนวคิดดังกล่าวในประเทศเนเธอร์แลนด์และแคนาดา รวมถึงยังมีการทดสอบการใช้งานโดรนชนิดนี้ในเมือง Stockholm ประเทศสวีเดน และได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ โดยสามารถขนส่งเครื่อง AEDs ได้เร็วกว่าการใช้รถพยาบาลประมาณ 25%
ยิ่งกว่านั้น โดรนยังสามารถนำมาช่วยให้คำแนะนำแก่ผู้เห็นเหตุการณ์ในการทำ CPR, การใช้เครื่องมือ AED, และช่วยติดต่อกับหน่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ผ่านทางวิดีโอคอล
ในปี 2019 บริษัท Everdrone ผู้พัฒนาโดรนจากประเทศสวีเดน ได้ประกาศความร่วมมือกับ Karolinska Institutet ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์ชั้นนำของประเทศสวีเดน ในการพัฒนาให้สามารถใช้โดรนเพื่อขนส่งครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงยา ให้กับผู้ป่วยวิกฤติได้ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน
อย่างไรก็ตาม การใช้โดรนในด้านการแพทย์ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ซึ่งต้องรอการพัฒนาในอนาคต เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานอย่างกว้างขวางต่อไป
6. การขนส่งผู้ป่วยรูปแบบใหม่ - รถพยาบาลไร้คนขับ
ปัญหาในด้านการขาดแคลนระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยทั่วโลก ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้
ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยกว่า 3.6 ล้านคนในทุกๆปี ไม่สามารถเข้าพบแพทย์ได้ตามนัด เนื่องจากบริการด้านการขนส่งที่แย่ แต่ว่าด้วยการมาถึงของบริการเรียกรถ เช่น Uber, Lyft ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้
โดยทางบริษัท Uber ได้เปิดใช้งานบริการ Uber Health ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับขนส่งผู้ป่วยแบบไม่ฉุกเฉิน ส่วนทางบริษัท Lyft ก็ได้ขยายบริการมาในด้านนี้เช่นกัน โดยเน้นไปที่การขนส่งผู้ป่วยที่พลาดนัดพบหมอ อีกทั้งยังมีบริษัทสตาร์ทอัพอีกหลายแห่งเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ เช่น Circulation, Kaizen Health, และ Veyo
บริษัทเหล่านี้ได้ช่วยขนส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยบริษัท Circulation ได้ยืนยันว่าสามารถช่วยลดการผิดนัดพบแพทย์ได้กว่า 68%
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีรถพยาบาลไร้คนขับเพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น
อีกทั้งรัฐบาลของบางประเทศ ก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ โดยเปรียบเทคโนโลยีรถพยาบาลไร้คนขับเป็นเหมือนแท็กซี่ทางการแพทย์ เพื่อรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมาก ไปส่งยังสถานพยาบาลในบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งเทคโนโลยีดังกล่าวยังช่วยให้เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินทางการแพทย์ ไม่จำเป็นต้องออกไปรับผู้ป่วยในทุกๆเคสที่มีการแจ้งเหตุให้เรียกรถพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่จะไปรับผู้ป่วยเพียงแค่ในเคสที่มีอาการหนักเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีรถพยาบาลไร้คนขับอาจไม่สะดวกต่อการใช้งานกับผู้ป่วยในช่วงแรกๆ แต่ก็คงไม่ยากนักในการทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดังกล่าวในอนาคต
ตัวอย่างของเทคโนโลยีทั้ง 6 ที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยให้เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินทางการแพทย์สามารถรับมือสถานการณ์ต่างๆได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยวิกฤติได้รับความช่วยเหลือทันเวลา ซึ่งเมื่อก่อนอาจเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อีกทั้งยังช่วยให้เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการดูแลรักษา ในอนาคตอันใกล้นี้
References:
โฆษณา