9 ก.ค. 2022 เวลา 02:09 • ประวัติศาสตร์
วันนี้ในอดีต - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2359 : ประเทศอาร์เจนตินาประกาศเอกราชจากสเปน
ประเทศอาร์เจนตินา (Argentina) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอาร์เจนตินา (República Argentina) ประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในทวีปอเมริกาใต้ (รองจากบราซิล) และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก มีประชากรทั้งประเทศราว 47 ล้านคน และใช้ภาษาสเปนในการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่
1
9 กรกฎาคม พ.ศ. 2359
หลักฐานการมีอยู่ของมนุษย์ในประเทศอาร์เจนตินาปรากฎขึ้นตั้งแต่สมัยยุคหินเก่า เมื่อชาวพาลีโออินเดียน (Paleo-Indians) อพยพย้ายถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อล่าสัตว์ มนุษย์ในยุคนั้นอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ในเขตอเมริกาใต้
เมื่อมนุษย์มีการรวมกลุ่มกันเป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้นได้ก่อเกิดกลุ่มอารยธรรมโบราณต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ จักรวรรดิอินคา ที่ขึ้นมีอำนาจในประเทศเปรูและได้ขยายอิทธิพลมายังบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอาร์เจนตินา
ต่อมาในยุคการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิสเปน กองกำลังทหารที่นำโดย ฟรันซิสโก ปิซาร์โร ได้บุกเข้าโจมตีอาณาจักรอินคาซึ่งในขณะนั้นมีความอ่อนแอเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติและโรคฝีดาษที่แพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้ทหารสเปนสามารถเข้ายึดครองได้โดยง่าย
ภาพวาดแสดงการโจมตีอาณาจักรอินคาของสเปน
สเปนได้ยึดเอาดินแดนอาณาจักรอินคาเดิมและขยายอำนาจไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วอเมริกาใต้ หนึ่งในนั้นคือประเทศอาร์เจนตินาที่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวอินเดียนพื้นเมืองอาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศ และได้รวมเขตต่าง ๆ ก่อตั้งเป็นเขตอุปราชแห่งริโอเดลาปลาตา (Virreinato del Río de la Plata) เขตการปกครองภายใต้จักรวรรดิสเปน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา
บัวโนสไอเรสกลายเป็นเมืองท่าสำคัญที่จัดส่งสินค้า อาหาร เสื้อผ้า รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ไปยังอาณานิคมเปรูและเขตเหมืองแร่ต่าง ๆ ส่งผลให้เมืองอื่น ๆ ในอาร์เจนตินากลายเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญตามไปด้วย มีการเข้ามาอยู่อาศัยของแรงงานจำนวนมาก การเติบโตของเมืองแบบก้าวกระโดดจนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ด้วยความเจริญรุ่งเรืองของกรุงบัวโนสไอเรส ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต้องการที่จะแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน เนื่องจากข้อจำกัดทางการค้ากับต่างประเทศในตอนนั้นมีความเข้มงวดเป็นอย่างมาก ทำให้การค้าขายอย่างเสรีเพื่อให้ได้ผลกำไรสูงสุดเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่ง
ราวปี พ.ศ. 2349 กองเรืออังกฤษได้บุกยึดท่าเรือในเขตอุปราชแห่งริโอเดลาปลาตา อุปราชผู้ปกครองจากสเปนได้หลบหนีไป แต่กองกำลังทหารของชาวอาณานิคมที่นำโดย ซานติอาโก เด ลิเนียส (Santiago de Liniers) ยืนหยัดที่จะต่อสู้และสามารถขับไล่กองทัพอังกฤษออกไปได้
วิลเลียม เบเรสฟอร์ด ผู้บัญชาการทหารอังกฤษยอมจำนนต่อ ซานติอาโก เด ลิเนียส
ด้วยเหตุนี้ยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำท้องถิ่นและประชาชนชาวอาณานิคมว่าจะสามารถปกครองตนเองได้ ตลอดจนช่วงที่อังกฤษยึดท่าเรือไว้ทำให้การค้าขายสินค้าเป็นไปอย่างเสรี ทุกคนเล็งเห็นว่าหากได้รับเอกราชและเปิดการค้าอย่างเสรี ชาวอาณานิคมจะสามารถซื้อสินค้าต่าง ๆ ได้ในราคาที่ถูกลงอย่างมาก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2351 กองทัพฝรั่งเศสของจักรพรรดินโปเลียนได้แผ่อำนาจมายังสเปน กษัตริย์เฟร์นันโดที่ 7 แห่งสเปนทรงสละราชสมบัติและเปิดทางให้พี่ชายของนโปเลียนคือ โจเซฟ โบนาปาร์ต ขึ้นปกครอง
ในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2353 ชาวอาณานิคมได้กดดันขับไล่อุปราชที่ส่งมาจากสเปนและให้คณะทหารขึ้นปกครองแทน โดยให้เหตุผลในการไม่ยอมรับอำนาจของฝรั่งเศส และได้ตั้งรัฐบาลที่เรียกว่า Primera Junta ขึ้นที่เมืองตูกูมัน นับเป็นรัฐบาลแรกของอาร์เจนตินา
คณะรัฐบาล Primera Junta รัฐบาลแรกของอาร์เจนตินา
ภายหลังกษัตริย์เฟร์นันโดที่ 7 แห่งสเปนทรงขึ้นครองราชย์อีกครั้ง พระองค์มิทรงยินยอมให้อาณานิคมอาร์เจนตินาปกครองตนเอง จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์สเปนและฝ่ายที่ต้องการปกครองตนเองซึ่งนำโดยนายพล โฆเซ เด ซาน มาร์ติน (José de San Martín)
โฆเซ เด ซาน มาร์ติน ผู้นำทหารในการประกาศเอกราชอาร์เจนตินา และปลดปล่อยอเมริกาใต้ตอนล่างจากสเปน
สงครามครั้งนี้กินเวลายาวนานหลายปีกว่าจะสามารถขับไล่กองกำลังสเปนออกจากอาณานิคมบางส่วนได้ รัฐบาลได้เรียกผู้นำจากรัฐต่าง ๆ ในเขตปกครองมาประชุมร่วมกันที่รัฐสภา และในที่สุดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2359 สภาคองเกรสแห่งตูกูมันก็ได้ออกแถลงการณ์ประกาศอิสรภาพของประเทศอาร์เจนตินาอย่างเป็นทางการ และกำหนดให้วันที่ 9 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันหยุดประจำชาติ
💡รู้หรือไม่ : ครั้งหนึ่งประเทศอาร์เจนตินาเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยอันดับ 7 ของโลก แซงหน้าสหรัฐอเมริกา แต่จากเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก รวมถึงปัญหาการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ ปัญหาคอร์รัปชัน การเกิดรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้อาร์เจนตินาตกต่ำลงเป็นอย่างมาก
เครดิตภาพ
อ้างอิง
โฆษณา