7 ก.ค. 2022 เวลา 03:47 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี วิกฤติหรือโอกาส นักลงทุน ต้องรู้อะไร ?
ขณะนี้ ค่าเงินบาท อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว สู่ระดับที่ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ฯ อ่อนค่าไปถึง 8% ในรอบปีที่ผ่านมา ทุบสถิติในรอบ 6 ปี นับจากปี 2016 หากพิจารณาแต่เพียงขั้นต้น นับว่าเป็นเรื่องดีเพราะสามารถช่วยกระตุ้นการส่งออก เช่นเดียวกับการที่จะสามารถดึงดูด นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่ ‘อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว’ มีสิทธิ์เป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศที่ได้รับผลกระทบเสียหายจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิดในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับภาคการนำเข้า และบั่นทอนกำลังการบริโภคของคนในประเทศ
การที่ เงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป หรือมากเกินไป นั้นไม่ได้เป็นผลดีกับการส่งออกเสียทีเดียว เพราะ ถ้าเงินบาทอ่อนค่าแรง และเร็วเกินไป จะทำให้ผู้ส่งออกตั้งราคายากขึ้น หรือบริหารงบการเงินเพื่อดูแลต้นทุนการใช้จ่ายอื่น ๆ ยาก เพราะเงินบาทที่อ่อนค่าจะไปทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมันสูงขึ้น จนอัตราเงินเฟ้อเร่งแรง
หากย้อนกลับไปดูที่ นโยบายของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้นก็มีมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน โดยการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีความผันผวนผิดปกติ และอาจจะมีส่วนช่วยลดความผันผวนของเงินบาทด้วย
ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ณ วันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 250,821 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงต้นปีที่ 277,310 ล้านดอลลาร์ หรือลดลงไปแล้วกว่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ เฉพาะครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายน เงินทุนสำรองของไทยมีการปรับลดลงถึง 8.4 พันล้านดอลลาร์ สะท้อนถึงความพยายามของ ธปท. ในการประคองค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าเร็วจนเกินไป
ความพยายามในการประคับประคอง อัตราแลกเปลี่ยนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในขณะนี้ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่าคือการทำ One-Way Bet เพราะยังไงบาทก็ต้องอ่อนลง จากพื้นฐานทงเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า -127,874.67 ล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม
สาเหตุหลัก ๆที่ทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มาจากการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับการที่ไทยมีการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศกว่า 13% ของมูลค่านำเข้าจากสถิติที่ผ่านมา รวมไปถึง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเทียบกับอเมริกา ทำให้ ‘บาทต้องอ่อนค่า’ ดังนั้นการที่ ธปท. จะทุ่มเงินสำรองที่มีจำนวนมากในการรับซื้อบาท เพื่อให้บาท ค่อย ๆ อ่อนลงอย่างช้า จึงไม่มีใครต้องการที่จะถือบาท และสามารถเก็งกำไรค่าเงินบาท ได้ 100 % โดยไม่มีทางขาดทุน
โดยคนในตลาดที่เห็นสัญญาณนี้ ก็เริ่มทะยอยเอาเงินบาทแลกเป็นเงินดอลลาร์เก็บเอาไว้ หรือ Short ค่าเงินบาท เพื่อรอแลกกลับเป็นเงินบาทได้มากขึ้นในช่วงที่ เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงตามกลไกตลาดนั่นเอง (จาก 33 บาท สู่ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ กำไร +8%)
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเรื่องที่นักลงทุนควรรู้เลยคือ การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ไม่ได้ส่งผลดีต่อ ธุรกิจส่งออกเสมอไป โดยเฉพาะ บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้น ที่มีการใช้ เครืองมือในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหลายอย่าง เช่น Natural Hedge, Foreign Currency Deposit: FCD และการใช้บริการกับสถาบันการเงินหรือตลาด อนุพันธ์ ได้แก่ Forward Contract, Options , USD Futures เป็นต้น
โดยตัวอย่าง กรณีธุรกิจส่งออกที่เห็นได้ชัดเลยคือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้นTU ซึ่งเป็นธุรกิจที่ส่งออกทูน่าไปทั่วโลก แต่ราคาหุ้นค่อนข้าง Underperform เพราะได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยจากเงินบาทที่อ่อนค่า เพราะบริษัทมีการใช้เครื่องมือเข้ามาควบคุมความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจน ประกอบกับมีปัจจัยด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ
ดังนั้นการพิจารณาเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มส่งออก จึงต้องพิจารณาดูให้ครอบคุลมทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อานิสงส์ที่บริษัทได้รับจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามีมากน้อยแค่ไหน บริษัทส่งออกสินค้าไปประเทศอะไร สินค้ามี Brand Loyaltyไหม และที่สำคัญคือ บริษัทมีการใช้เครื่องมือควบคุมความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือไม่
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า หากเราเข้าใจภาพใหญ่ ทางเศรษฐกิจในระดับโลก และภายในประเทศ กลไก ต่าง ๆ ที่ทางหน่วยงานทำ เช่น การแทรกเซงค่าเงินบาท ของ ธปท. อาจจะเป็นการจุดประกายไอเดีย ในการเทรด/ลงทุน ของเราขึ้นมาได้ และหากใครเข้าใจก็สามารถทำกำไรจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน หุ้น พันธบัตร เป็นต้น ขอแค่เรามีความรู้การทำเงินในตลาดการเงินเหล่านี้ก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปครับ
โฆษณา