7 ก.ค. 2022 เวลา 09:49 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รัฐคิดอะไร ทำไมกรกฎาวันหยุด ครึ่งเดือน!
วันหยุดยาวในสัปดาห์หน้าคงเป็นข่าวดีกับข้าราชการทั้งหลาย เริ่มหยุดตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันหยุดราชการกรณีพิเศษจาก ครม. ต่อด้วยวันหยุดสุดสัปดาห์ รวมหยุดยาว 5 วัน แต่หากลาพักร้อนเพิ่มวันที่ 12 กรกฎาคม จะสามารถหยุดยาวได้ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 17 รวมทั้งสิ้น 9 วัน
นอกเหนือจากนี้ท้ายเดือนยังมีหยุดวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง ร.10 ในวันที่ 28 กรกฎาคม และหยุดราชการกรณีพิเศษอีก ในวันที่ 29 รวม วันหยุดสุดสัปดาห์เป็น หยุดรวม 4 วัน โดยภายในเดือนนี้ทั้งเดือนมีวันหยุดทั้งวันหยุดราชการและวันหยุดสุดสัปดาห์รวมกัน 15 วัน
แนวคิดเรื่องวันหยุดราชการเริ่มมีให้เห็นในประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 โดยก่อนหน้านี้ไทยเราใช้ระบบปฏิทินแบบจันทรคติ ซึ่งไม่มีความเป็นสากล อีกทั้งต้องใช้การคำนวณที่ซับซ้อนขึ้นทำให้คนทั่วไปยากจะเข้าใจ จึงหันมาใช้ปฏิทินแบบสุริยคติแทน
ประโยชน์ของการเปลี่ยนระบบปฏิทินแบบสุริยคติ คือสามารถย้อนรอยวันในอดีตได้ง่าย จากระบบการนับที่ไม่ซับซ้อน จึงเริ่มมีการสร้างวันหยุดราชการขึ้นในรัชกาลที่ 6 โดยใช้วันที่นำว่าตั้งเป็นวันหยุดราชการจะเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และพระพุทธศาสนา เพื่อให้ประชาชนรู้ถึงความทรงจําหลักของชาติร่วมกัน ซึ่งวันหยุดราชการที่ตั้งขึ้นมาในตอนต้นมีเพียง 7 วันต่อปีเท่านั้น
หลังจากนั้นวันหยุดราชการก็มีเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนในปีนี้มีวันหยุดราชการมากถึง 19 วัน และอยู่ในเดือนกรกฎาคมนี้ถึง 5 วัน และใน 5 วันเป็นวันหยุดเพิ่มเติมพิเศษจากภาครัฐถึง 2 วัน โดยรัฐต้องการให้มีการใช้จ่ายสำหรับท่องเที่ยวนอกจากการปล่อยให้หยุดยาว
การเคาะให้หยุดเพิ่มเติม จะเป็นการทำให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้นได้จริง ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่การเพิ่มขึ้นของการบริโภคในปัจจุบันหมายความว่าเป็นการลดการบริโภคในอนาคตลง โดยผลรวมสุทธิการบริโภคทั้งหมดในระยะยาวจะเท่าเดิม เพราะกำลังซื้อของประชาชนมีเท่าเดิม การหยุดยาวเพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่ใช่วิธีการกระตุ้นการบริโภคที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว
โครงการเราเที่ยวด้วยกันก็เป็นส่วนในการกระตุ้นการใช้จ่าย เห็นได้จากการสามารถเริ่มจองที่พักได้ตั้งแต่ในช่วงเดือน กรกฎาคมถึงปลายสิงหาคม การเพิ่มกำลังซื้อในแนวทางของรัฐในตอนนี้ คือ โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 เป็นการอุดหนุนจากรัฐบาลทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น โดยรัฐอุดหนุนเพียง 40% ของค่าใช้จ่าย ทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าตั๋วเครื่องบิน โดยจำนวนเงินที่อุดหนุนในแต่ละอย่างจะแตกต่างกันไป
หมายความว่าการไปเที่ยวในครั้งนี้มีเกงินเพียง 60 บาทสามารถซื้อสินค้าและบริการ ที่ราคา 100 บาทได้ กำลังซื้อของประชาชนที่ได้รับสิทธิในครั้งนี้จะเพิ่มขึ้น 66.66% เป็นการดึงดูดให้ให้ผู้คนออกไปเที่ยวกันได้เป็นอย่างดี
แต่แน่นอนว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมานี้ไม่ได้อยู่เฉย ๆ ก็เพิ่มขึ้น ส่วนที่เพิ่มนั้นมาจากการอุดหนุนจากภายรัฐ ซึ่งมาจากภาษี ยิ่งรัฐใช้จ่ายงบปรัมาณขาดทุนมากเท่าไหร่ ในอนาคตสามารถคาดการณ์ได้ว่ารัฐจะมีการเก็บภาษีมากขึ้น ภาระจะไปตกกับรัฐบาลในอนาคตซึ่งอาจไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้แล้ว แต่ตัวเลข GDP ที่เพิ่มขึ้นรัฐบาลชุดนี้สามารถเคลมเป็นผลงานตัวเองได้
การดำเนินโครงการประเภทแจกเงินไปใช้จ่ายไม่ใช่โครงการที่ไม่ดี แต่ควรใช้เพื่อกระตุ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่อยากให้ทำกันบ่อยจนพูดถึงรัฐบาลนี้ทีไรก็นึกออกแต่แจกเงิน การแจกเงินไม่ได้ช่วยให้ความสามารถในการหารายได้ของประชาชนสูงขึ้น มันสามารถทำได้แค่กระตุ้นการใช้จ่ายเพียงชั่วคราวเท่านั้น
สุดท้ายการหยุดยาวในลักษณะนี้เป็นการบังคับให้คนออกไปใช้จ่ายทั้งที่บางคนไม่ได้มีความพร้อมทางด้านรายได้ แต่ต้องถูกบังคับเชิงนโยบายให้ออกมาใช้จ่าย ณ ช่วงเวลานี้จะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล หากรัฐให้หยุดแต่คนไม่พร้อมเที่ยวหมายความว่ารัฐจะเสียทรัพยากรบุคคลในการทำงานไปฟรี 1 วัน จะดีกว่าไหมหากไปเพิ่มวันหยุดลาพักร้อนที่ประชาชนสามารถเลือกเวลาที่พร้อมสำหรับการใช้จ่ายของตัวเองได้ ตัวเลขการใช้จ่ายของคนที่หลงโปรโมชั่นเทียบกับคนที่พร้อมจ่ายย่อมแต่ต่างกันอย่างชัดเจนแน่นอน
โฆษณา