7 ก.ค. 2022 เวลา 16:56 • สุขภาพ
OCD [Obsessive Compulsive Disorder] หรือ โรคย้ำคิดย้ำทำ.... คืออะไรกันแน่?
รู้สึกมือสกปรกจึงล้างมือบ่อยๆ ตรวจสอบเตาแก๊สหุงต้มซ้ำๆ เพราะกลัวไฟไหม้บ้าน....ใครๆ ก็กลัวได้ทั้งนั้น
รวมถึงแนวคิดที่น่าสะพรึง อย่างเช่น
รถไฟมาแล้ว.... ผลักคนข้างหน้าตกรางรถไฟคงง่ายน่าดู
ก็อาจเกิดขึ้นในความคิดคนทั่วไป จนตกใจกับตัวเองว่าคิดไปได้อย่างไร
กลุ่มความคิดที่แล่นเข้ามาในหัวจึงไม่มีอำนาจพอที่จะรับบทเป็นผู้ชี้ขาดว่า นี่ใช่ OCD หรือไม่
บทความนี้จะเป็นการพูดถึงสิ่งบ่งชี้ที่ทำให้ผู้ป่วย OCD แตกต่างจากกลุ่มคนวิตกกังวลทั่วไป
คุณเคยวิตกกังวลกับความคิดที่ไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลความคิดนึง นานๆ ไหม?
หนึ่งในเส้นแบ่งผู้ป่วย OCD กับคนอื่นๆ คือความสามารถในการปัดกวาดความคิดแย่ๆ* ออกจากหัว
หากมันเป็น "อาการย้ำคิด" ที่สามารถครอบงำจิตใจคนหนึ่งได้เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี
ก็อาจสะท้อนความเป็นไปได้ได้ว่ามันน่าเครียดมากพอที่จะขับเคลื่อนให้เกิด "อาการย้ำทำ" เพื่อปลดปล่อยความเครียดเหล่านั้น
รวมเป็น "ย้ำคิดย้ำทำ" แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1) กลัวเชื้อโรค, กลัวสิ่งสกปรก, กลัวภัย
2) แบบรูปและการจัดระเบียบ (pattern and symmetry)
3) ความหมกมุ่นทางร่างกาย ทางความคิดเกี่ยวกับศาสนา สิ่งที่ผิดจารีต น่าอับอาย
หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ ย่อมทำให้คุณภาพชีวิตต่ำลง และที่อันตรายที่สุดคือ
การที่ผู้ป่วย OCD เลือกที่จะปกปิดมันเอาไว้ เพราะกลัวและอับอายเกินกว่าจะขอความช่วยเหลือ
หรือฉันจะเป็นมนุษย์ที่เลวร้ายขนาดนั้นกันนะ? (ฉันไม่อยากเป็นนะ ขอร้องล่ะ)
หลังจากผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "คิดไม่หยุด ฉุดไม่อยู่" นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ฉันเลือกเขียนบทความนี้
เพื่อช่วยบอกให้คนที่อยู่ในความอันตรายเหล่านี้ได้รับรู้ว่า "มันไม่ใช่ความผิดของเขาเลย"
และเป็นการช่วยยื่นมือสู่การช่วยเหลือและการรักษาอย่างถูกต้อง
/จะหยุดการโชว์เท่และกลับเข้าเรื่องต่อนะคะะ/
[Section]: ความคิดล่วงล้ำ (Intrusive thoughts)
"ความคิดแย่ๆ*" หมายถึงความคิดล่วงล้ำนี่หล่ะ แต่มันไม่ได้หมายถึง "ความกังวลที่เราเห็นด้วย"
กล่าวคือคนที่เครียดกับชีวิตมากๆ หรือมีเรื่องเข้ามามากๆ ก็อาจจะจมอยู่กับความคิดเหล่านั้นได้เป็นปีเหมือนคนที่เป็น OCD
แต่มันจะเป็น "ความกังวลที่เราเห็นด้วย" (ego-synotic) มันกลมกลืนกับตัวตนคุณ มุมมองที่คุณมองตัวคุณ
เอาเป็นว่า คุณจะไม่สงสัยว่าทำไมคุณถึงคิดแบบนี้
เช่น คนที่มีภาระเลี้ยงดูครอบครัวย่อมต้องกังวลว่าจะกลัวตกงาน กลัวไม่มีเงิน
ถ้าเป็นหนักเข้าจะมีอาการไตร่ตรองไม่รู้จบ เสียใจ อาจก่อให้เกิด mental disorder (ซึมเศร้า, burnout,...)
ซึ่งแน่นอนว่าต่างจาก "ความคิดล่วงล้ำ" ซึ่งไม่กลมกลืนกับตัวตน (ego-dystonic) ขัดมุมมองที่มีต่อตน ขัดภาพลักษณ์ที่ต้องการให้คนอื่นมองเห็น เริ่มสงสัยในตัวเอง
ก่อให้เกิดทุกข์ที่เกินเลยความจริง
เป็นความคิดที่น่าสิ้นหวัง ที่มักแล้นเข้ามาในหัว
เป็นแรงกระตุ้นที่เราไม่ต้องการ ในสิ่งที่รบกวนจิตใจ จนอยากขับไล่ไสส่ง
[Section] ส่วนตรรกะในสมองที่ถูกฉีดยาชา
คนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นจะไม่สามารถปัดกวาดความคิดออกไปได้
เพราะพวกเขามีแนวคิดลอยเข้ามาในหัวอย่างไม่อาจต้านทานได้ว่า
(what-if) จะเป็นอย่างไรถ้าเกิดว่า....
/แน่นอนว่าไม่เหมือนคำถามในคาบเรียนส่งเสริมการเป็นนักวิทยาศาสตร์/
มันจะเป็นความคิดที่ช่างร้ายกาจ ผิดศีลธรรม น่ารังเกียจ พิลึกกึกกึย
มักจะเกิดจากพื้นฐานการระวังสิ่งที่น่าขยะแขยงเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ในยุคโบราณ แต่เผอิญว่านี่มันระวังมากเกินไป
กับสิ่งเหล่านั้น พวกเขาไม่เลือกที่จะเชื่อ "ความน่าจะเป็นตามหลักคณิตศาสตร์" แต่พวกเขาเลือกเชื่อใน "ความเป็นไปได้ที่ไม่เท่ากับ 0"
เราอาจจะเป็น 0.0000001% ที่โชคร้ายนั่นก็ได้
ความคิดที่อยู่ดีๆก็โผล่ขึ้นมาสามารถทำลายหลักความเป็นจริงและความสมเหตุสมผลทั่วไปได้อย่างราบคาบ
ไม่ว่าใครพูดอะไรพวกเขาก็ไม่อาจเชื่อ ไม่อาจวางใจได้ เพราะถูกควบคุมแล้วด้วยความน่าจะเป็นที่ไม่เป็นศูนย์
ทำให้พวกเขาต้องย้ำคิดย้ำทำต่อไปเพราะไม่สามารถหยุดมันได้
ยิ่งไปกว่านั้นการยอมอ่อนข้อให้ความคิดเหล่านั้นมาแทรกแทรงและควบคุมจนเกิดอาการย้ำทำ มีแต่จะรังให้จมอยู่กับมันมากขึ้น เป็นวงจรอุบาทว์
แรงขับเคลื่อนนี้สามารถทำให้สาวน้อยเอธิโอเปีย (ผู้ป่วยเป็นโรค OCD รุนแรงขั้นกลาง) จำใจยอมกินกำแพงบ้านตัวเองเป็นปีๆ แม้ว่าปวดท้องเพียงใดก็ตาม
หรือแม้แต่นักคณิตศาสตร์ที่ทุ่มเทชีวิตให้กับตรรกะก็ต้องจบชีวิตลงเพราะความคิดที่ไม่สมเหตุสมผลเหล่านี้
OCD จึงเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่ต้องให้หลายคนเข้าใจ ไม่ใช่เพียงผู้ที่มีอาการ
เพราะหากไม่เข้าใจแล้วอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องตลก แล้วเพิกเฉยมองข้าม ทิ้งให้ผู้ที่มีอาการจมปลักอยู่อย่างเดียวดาย
ทุกคนมีความ OCD อยู่ในตัว เพียงแต่ระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน โดยสามารถวัดระดับ OCD ของตนเองได้จากแบบทดสอบเยล-บราวน์ ที่จะระบุระดับเป็นตัวเลขมา
ในบทความถัดไปจะเป็นการสรุปการรักษาและวิธีการอยู่กับโรคนี้ ทั้งสำหรับผู้ที่ต้องเผชิญเอง และบุคคลรอบข้าง
สุดท้ายนี้ อยากขอเน้นอีกครั้งว่า การตระหนักรู้อาการผิดปกติของตัวเองอย่างถูกต้องและหาทางแก้ไข้อย่างถูกวิธี ทั้งของตนและคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ
และสำหรับคนที่ต้องเผชิญกับมัน อยากให้ระลึกไว้ว่า
มันไม่ใช่ความผิดของเรา
อ้างอิง
และหนังสือ "คิดไม่หยุด ฉุดไม่อยู่" (The Man Who Couldn't Stop Thinking - David Adam)
โฆษณา