8 ก.ค. 2022 เวลา 00:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มารู้จัก "เงินเฟ้อ" มันคืออะไร? วัดจากอะไร? ส่งผลอย่างไรต่อเราและการลงทุน
เงินเฟ้อคืออะไร? ย้อนวัยกลับมาเรียนวิชาสังคมสมัยม.ต้นกัน สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจ 😆
แล้วมันส่งผลยังไงต่อนักลงทุน เราควรทำอย่างไรในสถานการณ์นี้? 🤔
🎯 เงินเฟ้อ คืออะไร?
เงินเฟ้อ (Inflation) คือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้
1. ความต้องการของสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น (Demand-pull inflation) ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นตามไปด้วย โดยอาจมีปัจจัยจากการใช้จ่ายของประชาชน การใช้จ่ายของรัฐบาล การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชน หรือความต้องการซื้อสินค้าในประเทศจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
2. ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (Cost-push inflation) โดยมีสาเหตุมาจาก ค่าจ้างแรงงาน อัตรากำไร ต้นทุนการนำเข้า หรือ อัตราภาษีที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต้นทุนการผลิตที่รับผลกระทบมาเป็นลูกโซ่สูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนั้นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการผลิตด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น การเกิดสงคราม หรือการเกิดภัยธรรมชาติ ก็ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นได้ เนื่องจากมีการย้ายถิ่นฐานหรือต้องปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้สามารถดำเนินหารต่อไปได้นั่นเอง
3. การพิมพ์เงิน (Printing Money Inflation) อันนี้สำหรับนักลงทุนน่าจะคุ้นเคยกันดี อย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) พิมพ์เงินเพิ่มจำนวนมาก คนมีเงินมากขึ้นแต่ราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้น และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อของ Fed นั้นก็ส่งผลให้ดอกเบี้ยบ้าน ดอกเบี้ยรถ บัตรเครดิตและอื่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
สิ่งที่ตามมาจากการแก้ปัญหานี้คือบริษัทลดการขยายกิจการเนื่องจากดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสูงขึ้น เงินไหลเข้าสู่ระบบธนาคารมากขึ้น เงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็จะลดลงจนนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลง
🎯 วัดเงินเฟ้ออย่างไร
การวัดเงินเฟ้อมีวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดคือการใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Prices Index : CPI) โดยคำนวณจากการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทั่วไปที่ผู้บริโภคจ่ายประจำในอดีตกับปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทยนั้นมีการใช้สินค้าทั้งหมด 422 รายการ เช่นอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหะสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เป็นดัชนีที่นำไปคำนวณ CPI โดยปีที่นำมาเปรียบเทียบจะมีการปรับฐานการคำนวณเงินเฟ้อเป็นประจำทุก 4-5 ปี ตามมาตรฐานสากล
โดย CPI นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) คือการวิเคราะห์ราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เมื่อมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และจะเรียกอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณได้จาก Headline CPI ว่า “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป”(Headline Inflation)
2. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่เรียกว่า (Core CPI) คือการวิเคราะห์ราคาที่ไม่รวมสินค้าหมวดที่มีความเคลื่อนไหวขึ้นลงตามฤดูกาล หรือผันผวนสูงในระยะสั้น ๆ อย่างหมวดอาหารสดและพลังงาน ใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์การเงินของประเทศ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล และจะเรียกอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณได้จาก Core CPI ว่า “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation)
🎯 ข้อดี-ข้อเสียของเงินเฟ้อ
หากเงินเฟ้อไม่สูงจนเกินไปก็เป็นข้อดีที่ส่งผลให้
1. เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้เนื่องจากมีมูลค่าจากการใช้จ่ายมากขึ้นและทางผู้ผลิตเองก็มีการเพิ่มอัตราการผลิตเพราะมองเห็นว่ามูลค่าที่ขายมากขึ้นในขณะที่ผู้บริโภครับได้ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตและเกิดการจ้างงานเพื่อผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ
2. มูลค่าของหนี้สินลดลงได้เพราะมูลค่าของเงินลดลงแต่สัญญาการกู้เงินยังคงเดิม
ส่วนเงินเฟ้อที่สูงเกินไปก็จะทำให้เกิดข้อเสีย
สินค้ามีราคาแพงเกินไปจนเกินที่จะรับไว้ ส่งผลให้กำลังซื้อน้อยลง เจ้าของกิจการก็ขายได้น้อยลง จนอาจต้องมีการเลิกจ้างแรงงาน
🎯 ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ
เราลองมาดูเรื่องใกล้ตัว ที่เพิ่งเกิดไปไม่นาน (ณ วันที่เขียนนี้) อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจของสหรัฐ เพื่อทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอลงเนื่องจากที่ผ่านมารัสเซียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเพื่อป้องกันไม่ให้รัสเซียมีกำลังทางทหารที่เข้มแข็งจึงต้องจัดการด้วยวิธีนี้
ผลที่ตามมา…ก็อย่างที่เห็น 😖 เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบไปด้วยเพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ราคาพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ปรับตัวสูงขึ้นนั่นเอง ถ้าดูตัวอย่างเคสนี้คร่าว ๆ สหภาพยุโรปนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากรัสเซียมูลค่ารวมวันละ 820 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 27,400 ล้านบาท) เลยทีเดียว
แล้วสหภาพยุโรปจะทำยังไง? 🤔 อ๋อ…ก็ไปซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตที่อื่นยังไงหล่ะ กลายเป็นการรุมแย่งกันซื้อทรัพยากรเหล่านี้ หมายความว่าความต้องการเพิ่มมากขึ้น ราคาก็สูงขึ้นตามไปสิ 😅 ท้ายที่สุดสินค้าและบริหารที่ใช้พลังงานเพื่อขนส่งหรือเพื่อการผลิต ก็จะได้รับผลกระทบตามมาคือต้นทุนที่สูงขึ้น เป็นลูกโซ่ไปยังผู้บริโภคที่ต้องจ่ายแพงขึ้นในที่สุด 🥺
นั่นคือตัวอย่างคร่าว ๆ ของเหตุที่ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก่อนเกิดสงครามก็มีการปรับตัวมาก่อนแล้วแหล่ะ อ้อ อีกอย่างที่คนอาจนึกไม่ถึงคือ ราคา “ปุ๋ย” ปรับตัวสูงขึ้น แต่เพราะอะไร? 😒 เฉลยย สิงสำคัญในการผลิตปุ๋ยคือแร่โปแตชและยูเรีย ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
🎯 ภาวะเงินเฟ้อกับการลงทุน
แน่นอนว่าเงินเฟ้อนั้นส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยผลกระทบแรกคือเงินออมในธนาคารของเราที่ดองไว้ เมื่อนำออกมาแล้วก็จะพบว่าเงินของเรามันด้อยค่าลงเพราะของแพงขึ้น
สินทรัพย์ที่การันตีผลตอบแทนอย่างตราสารหนี้ก็อาจต้องดูดี ๆ โดยในภาวะเงินเฟ้อเราสามารถลงทุนในตราสารหนี้ได้แต่ควรเป็นระยะสั้นจะดีกว่า หรือเป็นแบบ Inflation Linked Bond หรือ Floating Rate Bond ที่มีการปรับดอกเบี้ยจ่ายตามอัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนั้น ก็จะช่วยลดผลกระทบลงได้
แต่ก็ใช้ว่าทุกอย่างมันจะร่วงเละเทะไปหมด บางอย่างมันก็พุ่งตามภาวะเงินเฟ้อไปได้ เช่น อสังหาฯ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ พวกนี้ราคาก็จะพุ่งขึ้นตาม
ส่วนฝั่งคริปโทฯ นั้น… 😁 หากดูภาพรวมแล้วคริปโทฯก็มีการวิ่งของราคาล้อ ๆ กับตลาดหุ้นอย่าง Nasdaq และ S&P 500 และในภาวะเงินเฟ้อแบบนี้ตลาดก็มักร่วงเป็นปกติ แต่นักลงทุนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า Bitcoin นั้นสามารถเป็น "Store Of Value" และสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตเพื่อต่อสู้กับค่าเงินเฟ้อได้ ก็มีโอกาสที่ Bitcoin จะขึ้น
แต่ก็ต้องดูอีกหลายปัจจัยอย่างนโยบายของ Fed ที่หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากและเร็วเกินไป หรือการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening: QT) ซึ่งนักลงทุนมองหาที่เก็บเงินที่ปลอดภัย มีความเสี่ยงต่ำ แน่นอนว่ายังไงในสายตานักลงทุนคริปโทฯก็มีความผันผวนสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่นับรวมถึงพวกโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่แม้ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็คงต้องกอดเงินไว้อุ่นใจกว่า ไม่ก็ไปลงทมุนในหุ้นหรือสินทรัพย์อื่น ๆ ตามที่กล่าวไปด้านบน
การที่เราเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ของเศรษฐกิจการเงินก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถวางแผนการลงทุนและรักษาเงินของเราให้ปลอดภัยได้
คุณอาจสนใจเกี่ยวกับวิธีบริหารความเสี่ยงแบบต่าง ๆ
📓 บริหารความเสี่ยงด้วย Risk Reward Ratio
📓 บริหารความเสี่ยงด้วย Risk of Ruin
📓 บริหารความเสี่ยงด้วย Rebalancing
📓 Money management แบบง่าย ๆ
โฆษณา