8 ก.ค. 2022 เวลา 08:13 • ข่าวรอบโลก
ภูเขาไฟใต้น้ำ : นักวิทฯค้นหาเมื่อไหร่ และจะปะทุเมื่อไหร่
นักวิทยาศาสตร์ค้นหาอย่างไร แล้วการปะทุครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไร
ในช่วงฤดูร้อนปี 1883 หลุมปล่องภูเขาไฟในช่องแคบซุนดา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา เกิดความปั่นป่วนขึ้นและได้พ่นเถ้าถ่านและไอน้ำขึ้นมาสู่ท้องฟ้าจำนวนมหาศาล
จากนั้น วันที่ 26 ส.ค. ปีเดียวกัน ภูเขาไฟใต้น้ำลูกหนึ่งได้ปะทุเศษวัตถุต่าง ๆ ประมาณ 25 ลูกบาศก์กิโลเมตร ปล่อยหินภูเขาไฟและลาวาเดือดไหลไปทั่วชุมชนใกล้เคียง การปะทุนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน กรากาตัวยังคงเป็นหนึ่งในการปะทุใต้น้ำที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์
อีกเกือบ 150 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2022 ภูเขาไฟใต้น้ำอีกลูกได้ตื่นจากการหลับใหล ครั้งนี้เกิดการปะทุขึ้นที่นอกชายฝั่งของตองกา แต่การปะทุของภูเขาไฟฮังกา ตองกา-ฮังกา ฮาอาปาย (Hunga Tonga-Hunga Ha'apai) และการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมาต่างไปจากเดิม นักภูเขาไฟวิทยาสามารถบันทึกหลักฐานการปลดปล่อยความรุนแรงของภูเขาไฟใต้น้ำตามเวลาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ และสิ่งที่พวกเขาค้นพบได้สร้างความสับสนขึ้น
ตองกา ถูกตัดขาดจากส่วนอื่น ๆ ของโลก หลังจากที่สายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากแรงระเบิด แต่ดาวเทียมสามารถจับภาพการเกิดฟ้าแลบออกมาจากกลุ่มเถ้าถ่านบนท้องฟ้าของภูเขาไฟลูกนี้ไว้ได้หลายร้อยครั้ง
อุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณระยะไกลได้บันทึกการเกิดคลื่นกระแทกที่ทรงพลังที่สะท้อนไปทั่วโลกนานหลายวันไว้ได้ กลุ่มเถ้าถ่านที่ลอยขึ้นสูงเหนือท้องฟ้าอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน จนไปถึงชั้นบรรยากาศชั้นนอกของโลก
การปะทุของภูเขาไฟฮังกา ตองกา ยังเป็นภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมสำหรับประชาชนเกือบ 100,000 คนที่อาศัยอยู่ในตองกา และยังเป็นการคลี่ปริศนาและการเป็นส่งคำเตือนสำหรับผู้คนทั่วโลกด้วย
ทำให้บรรดานักวิทศาสตร์ต้องทบทวนแนวคิดของตัวเองเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำที่ซ่อนตัวอยู่ใต้มหาสมุทรต่าง ๆ ปัจจุบันพวกเขากำลังตามล่าหาภูเขาใต้ทะเล เพื่อที่จะปกป้องสิ่งที่อยู่ทั้งบนบกและในมหาสมุทร
การมีวิธีการตรวจจับที่ซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ทำให้นักภูเขาไฟวิทยาหวังว่า จะพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าได้ บอกถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม บรรเทาอันตรายที่เกิดจากการปะทุ และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศได้ คนที่กำลังพยายามค้นหาว่าภูเขาไฟใต้น้ำซ่อนตัวอยู่ที่ไหนบ้างคือใคร และพวกเขากำลังจะไปค้นหาที่ไหนต่อไป
การระบุตำแหน่งภูเขาไฟในท้องทะลึกยากกว่าภูเขาไฟบนพื้นดินมาก เรามีความรู้เกี่ยวกับพื้นผิวดวงจันทร์มากกว่าพื้นมหาสมุทรเสียอีก แต่การปะทุของฮังกา ตองกาได้ช่วยกระตุ้นวงการวิทยาศาสตร์และตอกย้ำถึงความจำเป็นในการสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปสำรวจเพิ่มมากขึ้น
ในเดือน เม.ย. 2022 สถาบันวิจัยน้ำและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของนิวซีแลนด์ (National Institute of Water and Atmospheric Research--Niwa) ได้เริ่มการสำรวจทางทะเลในจุดที่เกิดการปะทุรุนแรงของตองกา เรืออาร์วี ตังการัว (RV Tangaroa) ของพวกเขา ได้สำรวจก้นทะเลครอบคลุมพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตร และเก็บภาพวิดีโอและตัวอย่างทางกายภาพจำนวนมาก ซึ่งกำลังมีการศึกษาอยู่บนบกในขณะนี้
นักภูเขาไฟวิทยาหวังว่าจะพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า และบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปะทุ
การที่ภูมิภาคนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง Niwa จึงอยู่ในจุดที่สามารถตรวจสอบผลกระทบรุนแรงของภูเขาไฟฮังกา ตองกา ได้ "ก่อนการสำรวจของเรา เราได้ข้อมูลเพียงบางส่วนจากเรือเล็กที่ออกไปจากแผ่นดินใหญ่ของตองกา" ไมก์ วิลเลียมส์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ Niwa กล่าว
ภูเขาไฟใต้น้ำมักจะถล่มลงจากน้ำหนักของตัวเอง เมื่อน้ำทะเลผสมกับแม็กมา จะนำไปสู่การถล่มรุนแรงได้ ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ (และไอน้ำที่เป็นอันตรายบนพื้นดิน) ตามมา "ลองจินตนาการถึงแม่พิมพ์ทำเค้กวงกลมที่ด้านหนึ่งระเบิดออกนอกแม่พิมพ์" วิลเลียมส์อธิบาย
นักวิจัยบนเรือตังการัวมีเป้าหมายในขณะนั้น 2-3 อย่างคือ การทำแผนที่พื้นที่นั้น การเก็บวัตถุภูเขาไฟเพื่อช่วยให้เข้าใจทางด้านเคมีและธรณีวิทยาของการปะทุ และการตรวจสอบผลกระทบของหลุมปล่องภูเขาไฟ บริเวณก้นทะเลที่อยู่โดยรอบ
"เรามาถึงภูเขาไฟลูกนี้ตอนเช้า และเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเหนือยอดเขาแหลม 2 ลูก ที่กำลังพ่นไฟและความรุนแรงออกมา" เควิน แม็กเคย์ นักภูเขาไฟวิทยาที่ชำนาญและหัวหน้าคณะเดินทางสำรวจของ Niwa กล่าว
เมื่อเรือมาถึงรอบนอกของหลุมปล่องภูเขาไฟฮังกา ตองกา ระบบอุปกรณ์ลากจูงน้ำลึก (Deep Towed Instrument System—DTIS) ที่ถูกควบคุมจากระยะไกล ได้ลงไปสำรวจบริเวณพื้นที่สองด้านของภูเขาใต้ทะเลลูกนี้
ยานที่ไร้คนขับได้แล่นลงไปที่ก้นทะเลเหมือนกับตอร์ปิโดที่มีปีก ทำให้ทีมงานสามารถบันทึกวิดีโอและเก็บตัวอย่างได้จำนวนมาก "มันน่ากลัวอยู่บ้าง" แม็กเคย์ กล่าว "ความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทุขนาดเล็กขึ้นใต้เรือเหล็กของเราในตอนนั้น ทำให้เราอาจจะจมลงได้ภายในชั่วพริบตาเลย"
ซ่อนตัวอยู่ใต้ทะเลลึกหลายกิโลเมตร
การทดลองส่งระบบที่ติดตั้งใหม่นี้ลงไปสำรวจทำให้ทีมงานสามารถทราบถึงกลิ่นของกลุ่มควันภูเขาไฟและเก็บหลักฐานการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของภูเขาไฟฮังกา ตองกา ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างรุนแรงมาก
"ก่อนการปะทุ หลุมปล่องภูเขาไฟมีความสูงราว 120 เมตร ตอนนี้มันลึกประมาณ 1 กิโลเมตร" แม็กเคย์ กล่าว "เรายังพบการไหลออกมาของหินตะกอนภูเขาไฟ ที่รุนแรงและเข้มข้น ไหลเป็นสายไปตามก้นทะเล อย่างน้อยเป็นรัศมีระยะ 60 กิโลเมตร จากทุกมุม"
เรือของ Niwa เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทำแผนที่ก้นทะเลของการปะทุของภูเขาไฟในตองกา (Tonga Eruption Seabed Mapping Project) ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation) องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งได้ช่วยเรื่องการวิจัยใต้ทะเลมาตั้งแต่ปี 1962 โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก General Bathymetric Chart of the Oceans หรือ Gebco องค์กรที่มีเป้าหมายในการทำแผนที่ก้นทะเลทั่วโลกให้เสร็จภายในปี 2030 ด้วย
แม้ว่า Niwa ไม่ได้สังเกตการภูเขาไฟใต้ทะเลที่ยังคุกรุ่นอยู่ แต่ทางหน่วยงานมีโครงการวิจัยเพื่อการตรวจสอบภูเขาใต้ทะเล ซึ่งหลายลูกคือภูเขาไฟที่ดับไปแล้ว
การปะทุของฮังกา ตองกา ยังเป็นภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมสำหรับคนเกือบ 100,000 คนที่อาศัยอยู่ในตองกาด้วย
การปะทุใต้น้ำแทบไม่เคยได้รับการบันทึกหลักฐานมาก่อน เพราะมักจะเกิดขึ้นใต้ทะเลหลายกิโลเมตร แต่การปะทุที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้เคยสังเกตการณ์ อาจจะให้เบาะแสเราได้ถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ยกตัวอย่าง ในปี 2018 การปะทุใต้น้ำนอกชายฝั่งเกาะมายออตต์ (Mayotte) ของฝรั่งเศส ทำให้เกิดภูเขาใต้น้ำลูกใหม่ขนาดมหึมาขึ้น ทำให้ทราบว่าภูมิภาคนี้มีกิจกรรมแผ่นดินไหวในระดับสูง ปัจจุบันกำลังมีการจับตามองมายออตต์อย่างใกล้ชิด กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ Revosima ซึ่งมีการจับตามองอันตรายเกี่ยวกับภูเขาไฟหลายอย่างทั้งการไหลของแม็กมา อุณหภูมิน้ำ และความเป็นกรด รวมถึงการเกิดแผ่นดินไหว มีการเก็บข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับภูเขาใต้น้ำลูกนี้อยู่เป็นประจำ
ความพยายามเช่นที่ Revosima ทำนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปะทุที่ยังเกิดขึ้นอยู่ แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินมหาศาล เวลาในการล่องเรือและปฏิบัติการต่าง ๆ อาจใช้เงินมากถึง 50,000 ยูโรต่อวัน (ประมาณ 1.86 ล้านบาท) การติดตั้งสายเคเบิลใกล้กับที่ตั้งภูเขาไฟ (ซึ่งจะช่วยในการเก็บข้อมูลในพื้นที่นั้น) อาจใช้เงินหลายล้านยูโร และต้องใช้เวลาหลายปีในการหาเงินก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
แต่การวิจัยนี้มีความสำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่เราจะสามารถระบุถึงอันตรายต่าง ๆ ของภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ที่มีต่อเราเท่านั้น แต่เพื่อที่เราจะสามารถพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย
"ยิ่งอยู่ใกล้กับผิวทะเล ยิ่งอันตรายมากขึ้น"
รูปแบบการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติสามารถบอกเราได้ถึงการฟื้นตัวของระบบนิเวศ เพราะการปะทุของภูเขาไฟมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการรบกวนของมนุษย์ที่เป็นการทำลายขนาดใหญ่ในรูปแบบที่คล้ายกัน เช่น การทำเหมือง, การลากอวนในทะเล, การหาปลา และปฏิบัติการสกัดทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ
ผลกระทบของภูเขาไฟใต้ทะเลจำนวนมากอาจจะมาจากความปั่นป่วนของกระแสน้ำที่ก้นทะเล หรือการที่เศษตะกอนลอยคลุ้งขึ้นมาปกคลุม เป็นต้น
"ผู้คนสนใจภูเขาไฟเพราะพวกมันมีความเสี่ยง" ฆาบิเอร์ เอสการ์ติน นักวิจัยความลึกน้ำที่ Laboratoire de Géologie at the Ecole Normale Supérieure ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส กล่าว
"โดยทั่วไป ภูเขาไฟในน้ำลึกไม่ได้มีอันตรายมากนัก พวกที่อยู่ใกล้ผิวน้ำทะเล หรือโผล่พ้นน้ำทะเลขึ้นมา มีอันตรายมากกว่า"
ทั่วโลกมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ประมาณ 1,500 ลูก (ในจำนวนนี้ราว 500 ลูก เคยมีสถิติการปะทุเกิดขึ้น) แต่นี่ไม่ได้รวมถึงแนวภูเขาไฟที่เรียงยาวต่อกันอยู่ก้นทะเล โดยจำนวนมากน่าจะตั้งอยู่ตามแนวกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Rim) หรือที่เรียกกันว่า วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ซึ่งเป็นแนววงกลมล้อมรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่อันตรายที่สุดคือเกาะภูเขาไฟที่มีมนุษย์อาศัยอยู่
เรืออาร์วี ตังการัว สำรวจก้นทะเลหลายพันตารางกิโลเมตร ใกล้กับนิวซีแลนด์
"ลองจินตนาการถึงการระเบิดในขนาดเดียวกับตองกาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือฮาวาย" เอสการ์ติน กล่าว "จำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหาย ความเสียหายต่อเศรษฐกิจและระบบขนส่งต่าง ๆ...แต่แน่นอน เราไม่สามารถศึกษาภูเขาไฟได้ ถ้าเราไม่รู้ว่า พวกมันตั้งอยู่ที่ไหน"
พวกเขาหาภูเขาไฟใต้น้ำพบได้อย่างไร
นักภูเขาไฟวิทยาค้นหาภูเขาไฟใต้น้ำที่ยังไม่ถูกค้นพบได้อย่างไร โดยเฉพาะในเมื่อยังขาดแคลนข้อมูลความลึกของน้ำอยู่มาก
การสังเกตการณ์เสียงในน้ำ หรือ ไฮโดรอะคูสติก (Hydroacoustic) คือ คำตอบหนึ่ง ตอนที่ภูเขาไฟปะทุขึ้นใต้น้ำ มันจะทำให้เกิดพลังงานเสียงขึ้น ตอนที่ลาวาที่ร้อนถึงระดับ 1,200 องศาเซลเซียส สัมผัสกับน้ำทะเลที่เย็นเฉียบเกือบจุดเยือกแข็ง มันจะระเหยทำให้เกิดการระเบิดของเสียงขึ้น ตั้งแต่เสียงการแตกร้าวอย่างรุนแรงและเสียงระเบิดดังสนั่นไปจนถึงเสียงดังช้า ๆ พลังงานจากแผ่นดินไหวถูกเปลี่ยนให้เป็นพลังงานเสียงใต้น้ำที่ระดับความลึกของก้นทะเล ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ฟังเสียงการสั่นสะเทือนใต้น้ำ
ที่ระดับความลึกราว 1,000 เมตร, แรงดัน, อุณหภูมิ และความเค็ม ประกอบกันทำให้การเคลื่อนที่ของเสียงผ่านน้ำช้าลง พื้นที่นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อช่อง SOFAR (ย่อมาจาก Sound Fixing and Ranging) โดยวาฬก็ใช้ช่องเสียงเดียวกันนี้ในการสื่อสารกับวาฬอีกตัวใต้น้ำ
ไฮโดรโฟน (Hydrophone) หรือไมโครโฟนใต้น้ำ สามารถตรวจจับสัญญาณเสียงจากคลื่นเสียงที่เกิดจากการแปลงพลังงานแผ่นดินไหวตามแนวช่อง SOFAR ได้
ข้อมูลเสียงนี้จะช่วยให้เบาะแสเกี่ยวกับการไหลของลาวา และอาจช่วยเตือนได้ถึงการปะทุที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหรือกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า
บรรดานักวิจัยเข้าใจถึงการถล่มลงของเกาะภูเขาไฟว่า เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาของเกาะ และบางคนคาดว่า พื้นที่ด้านข้างของเกาะจะถล่มลงในมหาสมุทร ส่งผลให้เกิดดินถล่ม แผ่นดินไหว และสึมามิขนาดใหญ่
"แม้เราไม่เคยมีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในบันทึกทางประวัติศาสตร์ แต่ผลที่ตามของมันก็รุนแรงมหาศาล" เอสการ์ติน กล่าว ในระหว่างนี้ นักธรณีวิทยาและนักภูเขาไฟวิทยา ยังคงทำงานด้านการตรวจจับใต้น้ำต่อไป ตามจุดเกิดเหตุที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้
เมื่อพิจารณาภูเขาใต้ทะเลแอ็กเซียล (Axial Seamount) ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นภูเขาไฟใต้ทะเลที่คุกรุ่นที่สุดเท่าที่ทราบในขณะนี้ ข้อมูลการปะทุที่มีการบันทึกไว้ในปี 1998, 2011 และ 2015 ทำให้มันเป็นภูเขาไฟใต้น้ำที่ถูกสำรวจมากที่สุดในโลกด้วย อุปกรณ์บันทึกแรงดันก้นทะเลเผยให้เห็นว่า แอ็กเซียล ค่อย ๆ ขยายตัวขึ้น ขณะที่ยานที่ควบคุมจากระยะไกลหลายลำได้ค้นพบการไหลออกมาของลาวาครั้งใหม่ บ่งบอกว่า อาจเกิดการปะทุขึ้นอีกครั้งในอนาคตไม่ไกลนี้
แทบไม่เคยมีการบันทึกหลักฐานการปะทุใต้น้ำ เพราะการเกิดขึ้นใต้นำ ทำให้ยากในการตรวจจับ
สหรัฐฯ ยังคงทำโครงการช่วยเหลือภัยพิบัติภูเขาไฟ (Volcano Disaster Assistance Program) ซึ่งได้ใช้นักธรณีวิทยา นักภูเขาไฟวิทยา และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ ในทุกด้านประเมินอันตรายภูเขาไฟ สังเกตการณ์ และรับมือฉุกเฉินเกี่ยวกับภูเขาไฟ
รัฐบาลหลายประเทศมีทีมงานคล้ายคลึงกันนี้ นักล่าภูเขาไฟมือสมัครเล่นจำนวนมากอาจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับภูเขาไฟต่าง ๆ ได้ รวมถึงคำถามที่พบบ่อยครั้งเกี่ยวกับการปะทุที่เห็นกันตามภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ (โดยในชีวิตจริงนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถขับรถข้ามลาวาที่กำลังเดือดได้) แต่ขณะนี้กำลังเขียนแนวปฏิบัติสำหรับสึนามิที่เกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำอยู่
"ฮังกา ตองกา ปะทุขึ้นโดยไม่มีรูปแบบ" แม็กเคย์ กล่าว "และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราสับสน ภูเขาไฟลูกนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่ตำราบอกไว้" การปะทุในตองกามีความรุนแรงมากกว่า สุดยอดภูเขาไฟ แต่แทนที่มันจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ภูเขาไฟลูกนี้ยังคงสมบูรณ์อยู่ และทำให้นักภูเขาไฟวิทยาต้องประเมินทฤษฎีของพวกเขาใหม่เกี่ยวกับกลไกที่อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงเช่นนั้นได้
ที่น่าฉงนมากกว่านั้นคือ การที่พลังงานของฮังกา ตองกา กระจายออกในแนวดิ่ง แทนที่จะกระจายออกไปตามแนวก้นทะเล
คลื่นเสียงและคลื่นในชั้นบรรยากาศ
การระเบิดรุนแรงของฮังกา ตองกา ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดคลื่นในมหาสมุทรเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดคลื่นเสียงและคลื่นในชั้นบรรยากาศ และเกิดการสั่นที่มีกระจายออกด้านนอก คลื่นเหล่านี้เดินทางไปไกลมากกว่า 100 กิโลเมตรในชั้นบรรยากาศและเดินทางออกทางด้านนอกที่ความเร็วประมาณ 2 เท่าของเครื่องบิน
ที่ผิดปกติไปมากกว่านั้นคือ "คลื่นไม่ได้สลายไปตามรูปแบบปกติ" วิลเลียมส์ กล่าว โดยเขาบอกว่า พวกมันดูเหมือนว่าจะเก็บพลังงานไว้มากขึ้น และสร้างคลื่นที่เดินทางไปได้ไกลถึงหิ้งน้ำแข็งรอสส์ (Ross Ice Shelf) ในแอนตาร์กติกา
นักวิจัยกำลังพยายามที่จะปะติดปะต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปะทุที่รุนแรงและสร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์นี้อยู่ มีการประเมินว่า การปะทุของฮังกา ตองกา ได้ปลดปล่อยพลังงงานออกมาเทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 10 ล้านตัน
การปะทุนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้น้ำปนเปื้อน และถนนหนทางถูกตัดขาดเท่านั้น แต่มันยังส่งผลกระทบไปทั่วโลกด้วย โลกเต็มไปด้วยภูเขาไฟใต้น้ำลูกอื่น ๆ นับไม่ถ้วน ซึ่งลูกใดลูกหนึ่งอาจจะปะทุขึ้นโดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้า จากการศึกษาภูเขาไฟฮังกา ตองกา ทำให้เราเราสามารถเรียนรู้ได้ว่า ควรใช้มาตรการคุ้มครองอะไรบ้าง เมื่อระเบิดเวลาใต้น้ำเหล่านี้ลูกอื่น ๆ เกิดการระเบิดขึ้นมาอีก
ขอบคุณที่มาข่าวจาก : BBCNEW thai
โฆษณา