Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
16 ก.ค. 2022 เวลา 01:16 • ปรัชญา
ทำไมคนโง่จึงมักเชื่อว่าตนเองฉลาด?
9
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
1
วันที่ 19 เมษายน ปี 1995 ชายวัยกลางคนสูงห้าฟุตหกนิ้วผู้หนึ่งเดินอาดๆ เข้าไปในธนาคารสองแห่งที่พิตต์สเบิร์ก แล้วปล้นยามกลางวันแสกๆ เขาไม่สวมหน้ากากแต่อย่างใด อีกทั้งยิ้มให้กล้องวงจรปิดด้วย ตำรวจส่งรูปพรรณของเขาเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ในข่าวภาคค่ำ ไม่กี่นาทีต่อมาตำรวจก็ได้เบาะแสว่าเขาเป็นใคร คืนนั้นตำรวจก็จับกุมเขาได้อย่างละม่อม
18
เผยตัวคนร้ายว่าชื่อ แม็คอาร์เธอร์ วีลเลอร์ นักปล้นรู้สึกประหลาดใจอย่างสูงที่ตำรวจตามเขามาจนเจอ เขาบอกว่า "ก็ผมทาหน้าด้วยน้ำมะนาวแล้วนี่นา"
12
เขางงจริงๆ ที่กล้องธนาคารจับใบหน้าเขาได้
2
ตำรวจพบว่าเขาไม่ได้บ้าหรือเมายา เพียงแต่เข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงว่า ทาน้ำมะนาวบนผิวหน้าจะทำให้กล้องจับหน้าเขาไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเขารู้มาก่อนว่าน้ำมะนาวสามารถใช้เป็นน้ำหมึกล่องหน ซึ่งเป็นความจริง
12
เขาได้รับข้อมูลหนึ่งแล้วสรุปเอาเองว่า มันต้องเป็นอย่างที่เขาคิด คล้ายๆ สำนวนจีน 'อุดหูขโมยกระดิ่ง' คนขโมยกระดิ่งคิดเอาเองว่า หากตนไม่ได้ยินเสียงกระดิ่ง คนอื่นก็ไม่ได้ยินด้วย
9
นักปล้นธนาคารผู้เชื่อว่าตนมีความรู้เรื่องน้ำหมึกล่องหน คนนี้ลงท้ายได้รับบันทึกว่าเป็นอาชญากรโง่เง่าที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก บันทึกไว้ใน 1996 World Almanac
10
หากมันเป็นนิทาน นิทานเรื่องนี้ก็สอนว่า "อย่าคิดเองเออเอง"
6
หากเป็นบทเรียนทางจิตวิทยา มันก็ชี้ว่าโลกนี้มีคนโง่ที่คิดว่าตัวเองฉลาดอยู่มากกว่าที่คิด
6
เหตุการณ์นี้เข้าหูของนักจิตวิทยาสองคนคือ ศาสตราจารย์ เดวิด ดันนิง แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล กับ จัสติน ครูเกอร์ ลูกศิษย์ที่กำลังทำปริญญาโท ทั้งสองพยายามหาเหตุผลว่าเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมมีคนโง่ที่มั่นใจตัวเองขนาดนี้
2
ทั้งสองจึงออกแบบการทดสอบ โดยตั้งคำถามชุดหนึ่งให้นักเรียนชั้นปริญญาตรีทำ เป็นคำถามเกี่ยวกับไวยากรณ์อังกฤษ ตรรกะ และขำขัน หลังจากนั้นก็ให้ทุกคนให้คะแนนตนเองว่าทำแบบสอบถามได้ดีแค่ไหน
12
ผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจมาก พวกที่ทำคะแนนต่ำสุดให้คะแนนตนเองสูงมาก แสดงว่ามีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินความเป็นจริง ส่วนพวกที่ทำคะแนนในกลุ่มล่างประเมินว่าตนเองทำได้ดีกว่าส่วนใหญ่ในชั้น ขณะที่พวกที่ทำคะแนนสูงกลับประเมินตัวเองต่ำ
13
ปรากฏการณ์นี้ก็คือการลวงตาของความมั่นใจในตัวเอง
1
ทั้งสองตีพิมพ์งานวิจัยนี้ในปี 1999 ชื่อ Unskilled and Unaware of It: How Difficulties in Recognizing One's Own Incompetence Lead to Inflated Self-Assessments
8
เป็นที่มาของหลักการ Dunning-Kruger Effect ก็คือการมีอคติในจิตอย่างหนึ่งที่คนเป็นไม่รู้ว่าตนมี
6
Dunning-Kruger Effect กินพื้นที่กว้างกว่าที่คาด มีคนจำนวนมากมายมีความมั่นใจในตัวเองสูงทะลุเพดาน
2
เดวิด ดันนิง กับ จัสติน ครูเกอร์ ขยายขอบข่ายของการทดสอบ เช่น ไปทำแบบสอบถามที่สนามยิงปืน ผลการทดสอบก็เหมือนกัน คนที่ตอบคำถามเกี่ยวกับปืนไม่ค่อยได้กลับเชื่อว่าตนเองรู้เรื่องปืนดีมาก
1
การวิจัยอีกครั้งหนึ่งพบว่าคนขับรถ 80 เปอร์เซ็นต์ให้คะแนนตนเองว่าขับรถได้ดีมากซึ่งสวนทางกับความจริง
1
ต่อมาก็มีการประเมินในสายอาชีพต่างๆ เช่น การบิน การแพทย์ การเมือง วงการธุรกิจ แบบทดสอบปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของกลุ่ม มีการทดสอบด้านการใช้เหตุผล ไวยากรณ์ ความถนัดทางสังคมต่างๆ ไปจนถึงความสามารถในการอ่านเขียน ผลลัพธ์ที่ได้ก็เหมือนเดิม
4
ที่น่าขันคือ ในการทดสอบครั้งหนึ่ง ผู้ทดสอบตั้งคำถามโดยประดิษฐ์ศัพท์ใหม่ที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อนในโลก ปรากฏว่าผู้ทดสอบ 90 เปอร์เซ็นต์บอกว่ารู้จักศัพท์คำนั้นดี
13
การทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าโดยนักวิจัยกลุ่มอื่น ก็ชี้ผลที่คล้ายกัน นั่นคือคนโง่มักอวดฉลาด คนฉลาดจริงมักเงียบ
18
ตรงกันข้าม คนที่เก่งในวิชาต่างๆ ส่วนใหญ่มักเชื่อว่าตนเองไม่เก่ง หรือตนเองยังรู้ไม่พอ คนพวกนี้ประเมินตนเองต่ำเกินไป
5
นักเขียนชาวเยอรมัน-อเมริกัน ชาร์ลส์ บูคาวสกี เขียนว่า "ปัญหาของโลกคือคนมีสติปัญญาเต็มไปด้วยความช่างสงสัย ขณะที่คนโง่เขลาเต็มไปด้วยความมั่นใจ"
29
ตรงกับที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน เขียนไว้นานก่อนหน้านั้นใน The Descent of Man (1871) ว่า "ความเขลาก่อให้เกิดความเชื่อมั่นมากกว่าความรู้"
6
มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
2
เรื่องโง่ๆ นั้นฉลาดนัก
9
ผมผ่านชีวิตมาจนวัยนี้แล้ว เจอฝรั่งเป็นอย่างนี้เยอะ พูดมาก พูดได้ทุกเรื่อง รู้ไปหมด สมัยก่อนไม่ค่อยเห็นคนฝั่งเอเชียเป็นอย่างนี้ อาจเพราะสังคมตะวันออกไม่ค่อยชอบคนพูดมาก แต่มาถึงวันนี้ พบว่าทุกชาติทุกภาษาก็เหมือนกันนั่นแหละ
7
มองไปรอบตัว สังคมเราตอนนี้มี 'ผู้รู้' มากมายเหลือเกิน คนรู้น้อยหลายคนตั้งตัวเป็นอาจารย์ เป็นซินแส มี 'ผู้เชี่ยวชาญ' เต็มบ้านเต็มเมือง เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา เราจะเห็นผู้รู้โผล่หน้าออกมาเต็มไปหมด รู้น้อยแต่เชื่อมั่นว่ารู้มาก ที่สำคัญคือมีความสามารถโน้มน้าวใจผู้ฟังว่าเขารู้มาก
5
เคยสังเกตไหมว่า คนจำพวกหนึ่งชอบพูด "You know?" ติดเป็นนิสัย ถ้าเผลอติดมาจากคนอื่นก็ไม่เป็นไร แต่หากมันสะท้อนจิตใต้สำนึก ก็อาจแสดงว่าเป็นคนที่เห็นว่าตนเองเหนือคนอื่น
6
"ผมรู้ดีน่า" หรือ "ผมรู้ดีกว่าคุณน่า"
2
"เชื่อผมเถอะ"
1
"ผมเป็นเจ้านาย ผมย่อมรู้ดี"
"ผมทำงานมาหลายสิบปี ผมรู้ดีกว่าคุณ"
2
"อย่ามาสอนผม ผมรู้ดีอยู่แล้ว"
ฯลฯ
นานมาแล้ว นักการเมืองไทยผู้เจนสนามคนหนึ่งซึ่งล่วงลับไปแล้ว บอกเคล็ดลับในการพูดว่า ให้อ้างตัวเลขข้อมูลโดยมั่วไปเลย ไม่มีใครรู้หรอกว่าข้อมูลไม่จริง ไม่มีใครสนใจตรวจสอบ คนฟังสนใจอย่างเดียวว่าคนพูดพูดด้วยความมั่นใจหรือเปล่า
22
นี่เองที่เราพบเห็นคนที่พูดจนได้ดีมามาก
1
เอาละ เรารู้ว่า DunningKruger Effect คืออะไรแล้ว คำถามคือมันส่งผลอะไรต่อสังคม?
ในมุมของปัจเจก DunningKruger Effect อาจทำให้คนบางคนตัดสินใจผิดพลาด เพราะประเมินตนเองและคนอื่นผิด ยกตัวอย่าง เช่น ในการว่าจ้างคน บริษัทอาจว่าจ้างคนที่พูดเก่ง ท่าทางมั่นใจมากกว่าคนที่รู้จริง ทำงานได้จริงๆ เพราะผู้สมัครรู้น้อยบอกผู้สัมภาษณ์อย่างมั่นใจว่าตนเองทำงานนั้นได้สบายๆ เมื่อไปทำงานจริงก็พบว่าตนทำไม่ได้
11
ในทางตรงกันข้าม คนที่ประเมินตัวเองต่ำไปก็อาจตัดสินใจผิด เช่น ไม่กล้ารับตำแหน่งสูง เพราะเชื่อว่าทำไม่ได้ หรือไม่กล้าออกจาก 'comfort zone' ไปยังพื้นที่ใหม่ที่ตนทำได้ แต่คิดว่าทำไม่ได้ ทำให้เสียโอกาสในชีวิต หรือมีนิสัยไม่มั่นใจในตัวเอง
10
ในองค์กรมักเกิดปัญหาคนที่รู้น้อยแต่นำเสนอเก่ง ได้รับเลื่อนตำแหน่ง
13
ในมุมของสังคม มีตัวอย่างนักบินที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ขับเครื่องบินรุ่นใหม่โดยที่ยังขาดทักษะหรือความรู้เพิ่มเติม แต่ปฏิเสธที่จะเรียนรู้ หรือเชื่อว่าปุ่มเดิมมีหน้าที่เดิมเหมือนเครื่องรุ่นก่อน เป็นต้น
2
ในสเกลของประเทศ เรามีโอกาสสูงที่จะได้คนพูดมากทำงานไม่เป็นมาเป็นผู้นำ หรืออยู่ในตำแหน่งกำหนดนโยบายของชาติหรือระบบการศึกษา ฯลฯ เพราะคนเก่งจริงๆ อาจคิดว่าตนไม่เก่งพอทำงานใหญ่ขนาดนี้ ขณะที่คนไม่เก่งเชื่อมั่นในตัวเองเกิดร้อยเปอร์เซ็นต์
19
คำถามต่อไปคือ อะไรทำให้เกิด Dunning-Kruger Effect? ใครคนหนึ่งประเมินตัวเองผิดพลาดอย่างนี้เพราะอะไร?
3
เดวิด ดันนิง กับ จัสติน ครูเกอร์ เชื่อว่ามันเกิดจากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า dual-burden คือสิ่งที่คู่กัน นั้นคือการไม่มีความสามารถกับการที่ไม่รู้ว่าตนไม่มีความสามารถ
7
คนที่ทำบททดสอบไม่ดีอาจไม่มีความสามารถคิด-วิเคราะห์-แยกแยะว่าอะไรคือดี อะไรคือไม่ดี หรือไม่เคยรู้ว่าคนอื่นทำได้ดีแค่ไหน ทำให้ประเมินตนเองผิดพลาด
2
ปัญหาของคนที่ประเมินตนเองสูงเกินจริงคือ คิดจากความรู้สึกว่าตนเองเก่ง ไม่ใช่จากหลักฐานหรือผลงานที่เป็นรูปธรรม ไม่รู้ระดับความสามารถที่แท้จริงของตน เมื่อเชื่อว่าตนเองเก่งแล้ว ก็ไม่ค่อยฝึกฝนหาความรู้ใหม่ๆ เพราะเชื่อมั่นตนเองเก่งแล้ว
10
คนพวกนี้มักปฏิเสธคำวิจารณ์ เมื่อเกิดความผิดพลาด ก็มักโยนความ
ผิดที่ตนทำไม่ได้ให้คนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม เช่น “เจ้านายไม่ชอบหน้าผม”
ฯลฯ
10
ในปี 2021 มีการวิจัย Dunning-Kruger Effect โดยใช้เครื่องวัดค่ากิจกรรมในสมอง (EEG) พบว่า ในการตัดสินใจว่ากลุ่มทดสอบประเมินตนเองสูงหรือต่ำ แต่ละคนใช้สมองคนละส่วนกัน
4
Dunning-Kruger Effect ไม่เกี่ยวกับระดับไอคิว มันปรับปรุงได้ หากเปิดใจกว้าง และเรียนรู้เพิ่ม
5
หากเราต้องการเป็นอิสระจาก Dunning-Kruger Effect เราอาจต้องประเมินตัวเองในหลายๆ ด้านก่อน เช่น ประเมินความสามารถที่แท้จริงของตนโดยผู้รู้ หรือใช้มาตรฐานของผู้รู้จริง ไม่ใช่โดยความรู้สึกของตนเอง
5
เพราะหากเราไม่รู้ว่าเราอ่อนด้อยตรงใด จุดตายของเราอยู่ที่ไหน ก็ยากจะพัฒนาตนเอง นอกจากนี้ก็เปิดโลก มองดูคนอื่น ศึกษาตนเองให้ถ่องแท้ พยายามทำความรู้จักความสามารถจริงๆ ของตนเอง
1
ดังนั้นความรู้น้อยอาจเป็นอันตรายกว่าไม่มีความรู้เลย เพราะรู้นิดเดียว อาจหลงคิดว่ารู้หมดแล้ว ถ้าไม่รู้จริงๆ อาจจะยังมีพื้นที่ให้ยอมรับที่จะเรียนรู้เพิ่มได้
9
หลังจากรู้จุดอ่อนของตัวเองแล้ว ก็ต้องปรับทัศนคติหลายเรื่อง และปรับปรุงตนเอง เช่น
2
- เปิดใจให้กว้าง และยอมรับว่าตนเองอาจรู้ไม่พอ
4
- เปิดใจกว้างรับคำวิจารณ์ อย่ากลัวคำวิจารณ์ ใจกว้างหน่อย
7
- ท้าทายตัวเองในงานใหม่
4
- อย่าใช้ตรรกะเดิมๆ ต่อทุกเรื่อง อย่างที่ไอน์สไตน์บอกว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาโดยใช้วิธีคิดที่เราใช้เมื่อสร้างปัญหา
10
- หาทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา
2
- อย่าหลงในกับดักความเชื่อว่า เรียนสูงจะฉลาดกว่า เป็นครูอาจารย์จะรู้มากกว่าศิษย์
8
- อย่าประเมินตัวเองจากมุมมองเดิมของตน มองจากมุมอื่น หรือมุมมองของคนอื่นบ้าง
3
- ยอมรับสัจธรรมว่า ยิ่งเรียนยิ่งรู้น้อย
13
การวิเคราะห์และประเมินตัวเองอย่างถูกต้องเป็นระยะจึงเป็นสิ่งจำเป็น
5
แต่หากคนรู้น้อยแต่คิดว่าตนรู้มากไม่คิดจะแก้ไข คนมีปัญญาก็ไม่พึงเถียงกับคนแบบนี้ อย่างมากก็บ่นในใจว่า "เรื่องโง่ๆ นั้นฉลาดนัก"
15
ประวัติศาสตร์
ปรัชญา
พัฒนาตัวเอง
127 บันทึก
240
10
280
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Blockdit Originals ปรัชญาและทฤษฎีแปลกๆ
127
240
10
280
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย