10 ก.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Alan Greenspan : ผู้นำธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยมามากที่สุด
ช่วงเวลานี้ที่ใครต่อใครต่างพากันพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจเติบโตต่ำ ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีอยู่ในช่วงขาลง ผู้คนเริ่มกังวลกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาหาเราในทุกขณะ
หลายคนต่างก็เฝ้ารอการออกมาแถลงของคุณเจอโรม พาวเวลล์ ผู้ซึ่งเป็นประธานเฟดคนปัจจุบัน ว่าอนาคตข้างหน้าเฟดจะทำอย่างไรต่อ หรือจะนำอาวุธอะไรออกมาสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้
การเป็นผู้นำธนาคารกลางสหรัฐฯ ถือเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นเหมือนคนกุมบังเหียนเศรษฐกิจเอาไว้ในมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต้องกุมบังเหียนในช่วงเวลาที่สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยวิกฤติ ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญและความชำนาญเป็นพิเศษ
หากนึกย้อนกลับไปในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ เคยมีประธานเฟดคนหนึ่งที่กุมชะตาเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมไปถึงเศรษฐกิจทั้งโลกได้อย่างยาวนานที่สุด และเป็นผู้นำเศรษฐกิจผ่านวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญๆ ของสหรัฐฯ มาหลายต่อหลายครั้ง
นั่นคือ คุณ Alan Greenspan ประธานเฟด 5 สมัย ผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1987 - 2006 เขาพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านมาในแต่ละครั้งได้อย่างไร ในบทความนี้ Bnomics จะเล่าให้ฟัง
📌 วิกฤติ Black Monday
คุณ Alan Greenspan นั้นเป็นประธานเฟดที่สมาทานแนวคิดเช่นเดียวกับ คุณ Paul Volcker ประธานเฟดคนก่อนหน้า คือ ให้ความสำคัญกับเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เขามองว่าเป้าหมายที่เหมาะสมของนโยบายการเงินหลักๆ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างสูงสุดของเศรษฐกิจในระยะยาว และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องระวังไม่ให้อัตราเงินเฟ้อออกไปจากกรอบที่วางไว้
แต่หลังจากเข้ารับตำแหน่งเพียง 2 เดือน เขาต้องเจอกับบททดสอบใหญ่ที่เข้ามาท้าทาย นั่นก็คือ เหตุการณ์ Black Monday ที่ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 508 จุด หรือกว่า 23% ภายในวันเดียว
แต่ก่อนที่จะปล่อยให้ตลาดเกิดความกังวลจนเกิดความโกลาหลยิ่งกว่าเดิม คุณ Alan Greenspan จึงได้รีบออกมาแถลงการณ์ทันทีในวันต่อมา เพื่อให้ความมั่นใจแก่ทุกคนว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นธนาคารกลางของประเทศ และพร้อมที่จะเป็นแหล่งสภาพคล่อง เพื่อที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจและระบบการเงิน
เพื่อที่จะเรียกความเชื่อมั่นของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคคืนมา และป้องกันให้ไม่ให้ความเชื่อมั่นที่ลดลงในช่วงเวลานั้นไปกระทบกับการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคโดยรวม ซึ่งจะไปกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างได้
คุณ Alan Greenspan จึงได้เสนอให้สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (federal funds rate) จาก 7.5% ลงไปสู่ 6.75%
และได้ลดจนเหลือ 6.5% ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ปี 1988 ทั้งยังให้ธนาคารช่วยกันใส่สภาพคล่องเพิ่มเข้าไปในระบบ
ผลจากการแก้ไขวิกฤติได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม ผู้เชี่ยวชาญหลายคน จึงได้ชื่นชมว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายตลอด 5 เดือนหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ Black Monday ช่วยให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไม่พุ่งสูงขึ้นอย่างที่เคยเกิดในวิกฤติครั้งก่อนๆ และยังทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่แท้จริงในปี 1988 และ 1989 สูงกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ทำนายไว้
📌 ผู้มองเห็นวิกฤติฟองสบู่ดอทคอม
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 วิกฤติการเงินในเอเชียและรัสเซียทำให้กองทุนเฮดฟันด์ใหญ่อย่าง Long Term Capital Management พังลง ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพของตลาดการเงินโลก และส่งผลให้ตลาดทุนตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายใต้การนำของคุณ Alan Greenspan ได้เข้าไปอุ้มกองทุนเฮดฟันด์นี้ และยังลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง รวมถึงส่งสัญญาณว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจว่าเขาจะไม่ยอมปล่อยให้ตลาดพัง นักลงทุนด้านเทคโนโลยีหลายคน จึงคาดการณ์ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็จะเข้าไปอุ้มพวกเขาอยู่ดีถ้าเกิดฟองสบู่ขึ้นในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
ทางอีกด้าน นักลงทุนในยุคนั้นก็แห่เอาเงินไปลงทุนในสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ด้วยหวังว่ามันจะทำกำไรให้อย่างมหาศาลในวันหนึ่ง เมื่อตลาดทุนลงเทเงินลงไปที่ภาคส่วนเทคโนโลยี กลุ่มเทคสตาร์ทอัพเหล่านี้ก็เริ่มแข่งขันกัน เพื่อให้เติบโตขึ้นได้เร็วที่สุด ด้วยการทำการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเองให้แตกต่างจากคู่แข่ง ถึงขนาดที่ว่าสตาร์ทอัพบางราย ใช้เงินกว่า 90% ของงบประมาณไปกับการโฆษณา ทั้งที่แทบจะไม่มีแผนธุรกิจหรือสินค้าอะไรออกมาเป็นรูปเป็นร่างเลยด้วยซ้ำ
ช่วงเวลานั้นมูลค่าของหุ้นในตลาดจึงเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะดัชนี Nasdaq ซึ่งเป็นดัชนีของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นหลัก ก็พุ่งขึ้นจากในระดับต่ำกว่า 1,000 จุด ไปถึง 5,000 จุด ในระหว่างปี 1995 ถึงปี 2000
แต่แล้วฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะในหุ้นที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ เริ่มค่อยๆ ก่อตัวขึ้น โดยที่คุณ Alan Greenspan ผู้ซึ่งมองเห็นฟองสบู่ที่กำลังก่อตัวขึ้น ก็ได้ออกมาเตือนในช่วงปลายปี 1996 ถึงความคาดหวังที่สูงเกินไปอย่างไร้เหตุผล (irrational exuberance) ที่หลายๆ คนกำลังเป็นกันอยู่ในตอนนั้น จนทำให้หุ้นเหล่านั้นมีมูลค่าสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น
1
เพื่อที่จะหยุดฟองสบู่ไม่ให้บานปลายไปกว่านี้ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2000 หลังจากที่ธนาคารและบริษัทซื้อขายหลักทรัพย์ได้สภาพคล่องส่วนเกินที่ธนาคารกลางเตรียมไว้เผื่อสำหรับ Y2K bug มาใช้กับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อลง โดยนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 1999 จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2000 มีการขึ้นดอกเบี้ยไปทั้งสิ้น 6 ครั้ง จนไปสูงสุดที่ 6.35%
📌 เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11…บทพิสูจน์ผู้นำในภาวะวิกฤติ
วิกฤติฟองสบู่กระทบเศรษฐกิจยังไม่ทันหาย สหรัฐฯ ก็เผชิญกับเหตุการณ์ใหญ่ที่ทุกคนน่าจะจำกันได้เป็นอย่างดี ในช่วงปี 2001 นั่นคือ การก่อการร้ายในสหรัฐฯ ก่อให้เกิดความกังวลต่างๆ มากมาย ตลาดหุ้นทั่วโลกตกกันระนาว New York Stock Exchange ต้องปิดตัวไปกว่า 1 สัปดาห์
ในขั้นแรก ธนาคารกลางสหรัฐฯ พยายามหาทางฟื้นฟูความเชื่อมั่น และหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการพังทลายของระบบการเงินด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องไปในหลายทาง โดยใส่เงินเข้าไปกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน ภายใน 3 วันหลังจากที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรม เพื่อป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามมา รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ยลงไป 175 จุด ภายใน 3 เดือนหลังจากเกิดเหตุ จนเหลือเพียง 1% ในช่วงกลางปี 2003 จนในที่สุดสถานการณ์ที่ตึงเครียดก็เริ่มคลี่คลายลงได้และตลาดการเงินก็กลับเป็นปกติอีกครั้ง
ถ้าเราลองมองดีๆ ในวิกฤติทุกครั้ง สิ่งหนึ่งที่คุณ Alan Greenspan ให้ความสำคัญเสมอ คือ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้คนในตลาด เพราะนั่นคือหัวใจสำคัญที่ผู้นำควรสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อที่จะสามารถควบคุมวิกฤติได้ เมื่อผู้คนให้ความเชื่อมั่น รู้ว่าผู้นำจะนำพาเศรษฐกิจออกมาจากวิกฤติได้ เขาก็จะคลายความกังวลและพร้อมทำตามคำแนะนำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ปัจจุบัน คุณ Alan Greenspan ในวัย 95 ปี ยังคงให้คำแนะนำเกี่ยวกับเศรษฐกิจผ่านทางสื่อต่างๆ เนื่องจากเขาเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาว เผชิญเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ มามากมาย และมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจจนครั้งหนึ่งเคยมีคนกล่าวไว้ว่า “โลกแขวนอยู่บนคำพูดของ Alan Greenspan”
หลายคนไม่ได้ตระหนักว่าเราไม่สามารถทำนายอนาคตได้หรอก แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ การหาความน่าจะเป็นของสิ่งๆ
หนึ่งว่าทำให้เกิดอีกสิ่งได้แค่ไหนเท่านั้น
(“People don't realize that we cannot forecast the future.
What we can do is have probabilities of what causes what.”)
Alan Greenspan
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา