Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
NEZ Legal Translation
•
ติดตาม
8 ก.ค. 2022 เวลา 14:16 • ข่าว
เช้าวันนี้เราได้รับข่าวร้ายจาก 'ญี่ปุ่น' ว่าอดีตนายกรัฐมนตรี 'ชินโสะ อาเบะ' ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ผู้ต้องหา (suspect) ถูกจับได้ในที่เกิดเหตุและถูกตำรวจแจ้งข้อหา ‘พยายามฆ่า’ ในเบื้องต้น
สาเหตุที่ตำรวจแจ้งข้อหาพยายามฆ่าเนื่องจากอดีตนายกฯอาเบะยังไม่เสียชีวิตในขณะเกิดเหตุ ผลคือความตายของผู้เสียหายจึงยังไม่เกิดขึ้น ผู้ต้องหาจึงได้ชื่อว่ากระทำการฐาน ‘พยายาม’ ฆ่า (attempted murder) เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่ออดีตนายกฯอาเบะเสียชีวิตจากการยิงของผู้ต้องหาในเวลาต่อมา ตำรวจญี่ปุ่นคงแจ้งข้อหาใหม่เป็น ‘ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน’ (premeditated murder) เพราะผู้เสียหายเสียชีวิตในเวลาต่อมาแล้วและผู้ต้องหาได้ไตร่ตรองไว้ก่อนลงมือกระทำความผิด
อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าประมวลกฎหมายอาญาของญี่ปุ่นมีข้อหานี้หรือไม่และมีองค์ประกอบทางกฎหมายอย่างไรด้วย
ตามกฎหมายไทยแล้ว ความผิดฐาน ‘ฆ่าผู้อื่น’ เป็นความผิดที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 – 20 ปี
ส่วนกรณี ‘พยายาม’ กระทำความผิดซึ่งหมายความว่า ผู้กระทำผิดได้ ‘ลงมือ’ กระทำความผิดแล้ว แต่ ‘ทำไปได้ไม่ตลอด’ หรือทำไปตลอดแล้วแต่ ‘ไม่บรรลุผล’ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ของไทยกำหนดว่าผู้ที่ ‘พยายาม’ กระทำความผิดดังกล่าวต้องรับโทษในอัตราส่วนเพียง 2 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
เช่น นาย ก. ยิงนาย ข. แต่นาย ข. ‘ไม่ตาย’ (ไม่บรรลุผลเพราะนาย ข. ไม่ตายสมเจตนา) นาย ก. ย่อมได้ชื่อว่า ‘พยายามฆ่าผู้อื่น’ แล้ว หากศาลพิพากษาว่านาย ก. มีความผิดฐานพยายามฆ่านาย ข. และลงโทษจำคุกนาย ก. 15 ปีโดยไม่มีเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ หรือเหตุลดโทษประการอื่น ศาลจะกำหนดให้นาย ก. ติดคุกเพียง 10 ปี (กล่าวคือ 2 ใน 3 ของ 15 ปี คือ 10 ปีนั่นเอง)
อย่างไรก็ตาม หากเดิมตั้งข้อหา ‘พยายามฆ่า’ ไว้แล้ว แต่ต่อมาระหว่างสอบสวนหรือในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ผู้เสียหายได้ “ตาย” ระหว่างนั้น ตำรวจต้องแจ้งข้อหาใหม่เป็นข้อหา “ฆ่าผู้อื่น”
หรือหากคดีอยู่ในศาลแล้ว อัยการต้องแก้ไขคำฟ้องแล้วเพิ่มข้อหา “ฆ่าผู้อื่น” เข้าไปเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงใหม่ที่เกิดขึ้น หากศาลพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดจริง ศาลก็จะไม่ลงโทษจำเลยฐาน ‘พยายาม’ ฆ่าผู้อื่นแล้ว แต่จะลงโทษจำเลยฐาน ‘ฆ่าผู้อื่น’ แทน ส่วนจะมีเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ หรือเหตุลดโทษ หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
สุดท้ายนี้ หากการฆ่านั้นเกิดจากการ ‘คิดไตร่ตรอง’ (premeditated intent to kill) มาก่อนล่วงหน้า โทษก็จะหนักขึ้นเป็น ‘ประหารชีวิต’ (execution) สถานเดียวตามมาตรา 289 ของประมวลกฎหมายอาญาทันที
ข่าวดังกล่าวเป็นข่าวที่น่าตกใจ เพราะอดีตนายกฯ อาเบะ เป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียง สร้างผลงานมากมาย และมีบทบาทโดดเด่นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมาก แต่ก็อาจมีผู้ไม่เห็นด้วยเพราะนโยบายของนายอาเบะเน้นไปทางอนุรักษ์นิยม (สายกลาง) และทำให้ชาวญี่ปุ่นฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านสงครามไม่พอใจ
ส่วนตัวแล้ว ภาพจำของอดีตนายกฯท่านนี้คือภาพตอนรับตำแหน่งต่อจากนาย ‘โคอิซุมิ’ เมื่อสิบกว่าปีก่อน นโยบาย ‘อาเบะโนมิกส์’ นโยบายรณรงค์ให้ญี่ปุ่น ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ญี่ปุ่นมีกองทัพของตนเอง’ และภาพนักการเมืองที่ทำหน้าที่จริงจัง แข็งขัน
เหตุลอบสังหารครั้งนี้จะเป็นอีก 1 เหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นประปรายในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปฏิวัติเมจิเมื่อ 100 กว่าปีก่อนจนถึงปัจจุบัน
ออกแบบปกและเขียนบทความโดย
พุทธพจน์ นนตรี
ทนายความและนักแปลเอกสารทางกฎหมาย
นิติ มธ., เนติบัณฑิตไทย, โนตารี
การศึกษา
แปลภาษา
ข่าวรอบโลก
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย