9 ก.ค. 2022 เวลา 02:14 • ประวัติศาสตร์
รู้หรือไม่! ชื่อเดือนทั้งสิบสองของญี่ปุ่น (ตอนจบ)
เครดิตภาพ : https://twitter.com/543life/status/1450431542841405445
ผ่านไปแล้วสำหรับชื่อภาษาญี่ปุ่นของหกเดือนแรก เรามาต่อกันที่ครึ่งปีหลังกัน
ดอกโคลเวอร์ญี่ปุ่น เครดิตภาพ : https://www.shuminoengei.jp/?m=pc&a=page_s_hagi
【文月 : ฟุมิทสึขิ】
เดือนกรกฎาคม มีดอกไม้ประจำเดือนเป็นดอกโคลเวอร์ญี่ปุ่นที่มีสีแดงอมม่วง ซึ่งเป็นสีแห่งฤดูใบไม้ร่วง นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่ต้นข้าวในนาเริ่มตั้งท้องแล้ว ยังเป็นเดือนแห่งเทศกาลทานาบาตะ เทศกาลแห่งการอธิษฐานด้วยการเขียนความปรารถนาลงบนกระดาษเรียวยาวที่เรียกว่า ทังสะขุ (短冊) จึงเป็นที่มาของชื่อเดือนนั่นเอง
หญ้ามิสแคนทัสซูซูกิ เครดิตภาพ : https://blog.goo.ne.jp/chikakeiro/e/aaf6f3592b0129e9030b168a12b72cfc
【葉月 : ฮัทสึขิ】
เดือนสิงหาคม มีต้นหญ้ามิสแคนทัสซูซูกิเป็นต้นไม้ประจำเดือน กล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ฤดูใบไม้ร่วง ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ต้นไม้เริ่มผลัดใบทิ้ง จึงนำสภาพของการร่วงหล่นของใบไม้มาตั้งเป็นชื่อเดือน
เครดิตภาพ : https://gogen-yurai.jp/tookanokiku/
【長月 : นางัทสึขิ】
เดือนกันยายน ดอกไม้ประจำเดือนนี้คือ ดอกเบญจมาศ หากดูจากอักษรคันจิชื่อเดือนซึ่งมีความหมายว่า ยาว, นาน นั่นก็เป็นเพราะว่าระยะเวลาในช่วงกลางคืนที่ยาวนานกว่าเวลาในตอนกลางวัน อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่คนสมัยก่อนนิยมชมพระจันทร์กันอีกด้วย
ใบเมเปิ้ลสีแดง คนญี่ปุ่นเรียกว่า โมมิจิ (もみじ) เครดิตภาพ : https://limia.jp/article/60861/
【神無月 : คันนัทสึขิ】
เดือนตุลาคม มีใบไม้แดงเป็นสัญลักษณ์ประจำเดือน ชื่อเดือนเป็นลักษณะของการเพี้ยนเสียงคล้ายเดือนมิถุนายน เปลี่ยนจากอักษร の เป็น 無สื่อความหมายถึง ตุลาคม เดือนแห่งเทพเจ้า เชื่อกันว่าเทพเจ้าที่สิงสถิตย์อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่นจะมารวมตัวกันที่ศาลเจ้าอิสุโมะโอชิโระ (出雲大社) ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดชิมาเนะ และประทานพรให้แก่มนุษย์
เครดิตภาพ : https://gogen-yurai.jp/yanagi/
【霜月 : ชิโมทสึขิ】
เดือนพฤศจิกายน ต้นไม้ประจำเดือนนี้คือ ต้นหลิว ตามความหมายของอักษรคันจิซึ่งเป็นชื่อเดือน 霜 – ชิโมะ คือ น้ำค้างแข็ง เป็นเดือนที่เริ่มมีลมหนาวพัดมา ทำให้น้ำค้างบนยอดหญ้ากลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งขาวโพลน นอกจากนี้ในอดีตยังมีการทำพิธีถวายพืชพรรณธัญหารแด่เทพเจ้าในราชสำนักที่เรียกว่า ชินโจวไซ – 新嘗祭 ในเดือนพฤศจิกายนเป็นประจำทุกปีด้วย
เครดิตภาพ : https://www.tansu.com/
【師走 : ชิวะสุ】
เดือนธันวาคม ต้นไม้ประจำเดือนคือ ต้นคิริ (桐) หรือต้นทังในภาษาไทย และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า เพาโลว์เนีย (Poulownia) เป็นเดือนเดียวที่ไม่ใช้คำว่า ทสึขิ (月) หากดูความหมายจากอักษรคันจิแล้ว ในอดีต「師」มักหมายถึง ผู้นำทางศาสนา เช่น ผู้ดูแลศาลเจ้า พระ เป็นต้น และอักษร 「走」แปลว่า วิ่ง เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายว่า เป็นช่วงเวลาที่ยุ่งมากขนาดที่ผู้ดูแลศาลเจ้าหรือพระต้องวิ่งวุ่นไปมา
นั่นก็เป็นเพราะว่าธันวาคมเป็นช่วงสิ้นปี ผู้คนนิยมเข้าวัดและศาลเจ้าเพื่อขอพรเทพเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเอโดะที่ผู้คนมีความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาเป็นอย่างมาก ถึงกับกล่าวกันว่า สักครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องเดินทางไปสักการะสุริยเทพอามะเทระสุซึ่งสถิตย์อยู่ในศาลเจ้าอิเสะ ตั้งอยู่ในจังหวัดมิเอะ
ภาพของชาวเอโดะที่หลั่งไหล่เดินทางเข้าศาลเจ้าอิเสะ เครดิตภาพ : https://ja.wikipedia.org/wiki/%E3%81%8A%E8%94%AD%E5%8F%82%E3%82%8A
แน่นอนว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเดินทางไปสักการะบูชาเทพเจ้าก็คือช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวคราคร่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมาก ศาลเจ้าและวัดต่าง ๆ จึงมักยุ่งวุ่นวายมาก
เราเห็นเรื่องราววิถีชีวิตผ่านชื่อเดือนในช่วงเวลาต่าง ๆ จนแทบจะจินตนาการได้ถึงสภาพสังคมญี่ปุ่นในอดีต
ล้มเลิกระบอบเก่า เปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่
ปฎิทินเรียกชื่อเดือนแบบญี่ปุ่นถูกใช้เรื่อยมาจนกระทั่งเข้าสู่ยุคเมจิ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในญี่ปุ่น รัฐบาลในยุคนั้นมีแนวคิดที่ต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นที่ยอมรับ และไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศล่าอาณานิคม โดยใช้นโยบายปฎิรูปเมจิ (Meiji Restoration)
เครดิตภาพ : http://www.aobane.com/books/401
หนึ่งในมาตรการปฏิรูปเมจิก็คือ การออกประกาศพระราชบัญญัติยกเลิกปฏิทินแบบญี่ปุ่นและกำหนดใช้ปฏิทินเกรกอเรียน (ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปีเมจิที่ 6 (ค.ศ. 1873)
Fukuzawa Yukichi เครดิตภาพ : https://bushoojapan.com/jphistory/baku/2022/02/02/114699
กล่าวกันว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงยกเลิกแบบกะทันหันก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความสับสนในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก Fukuzawa Yukichi (福沢諭吉) นักการศึกษาผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้นจึงเขียนตำราอธิบายการใช้ปฎิทินแบบใหม่ออกมาเผยแพร่ให้แก่ประชาชน
เครดิตภาพ : https://clip.8122.jp/30269/
ปัจจุบันคนญี่ปุ่นใช้การนับเดือนแบบเกรกอเรียนกันจนคุ้นเคย หลายคนรู้สึกว่าการเรียกชื่อเดือนแบบปัจจุบันดูจะสะดวกสบายเสียกว่าชื่อเดือนที่เป็นภาษาญี่ปุ่นในอดีต แม้ว่าจะยกเลิการใช้ชื่อเดือนแบบญี่ปุ่นไปแล้ว แต่เรายังเห็นคำศัพท์เหล่านี้ได้ในชื่อตัวของคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะผู้หญิง นั่นก็คงเป็นเพราะความงดงามของตัวภาษาและความหมายที่ดี จึงไม่ได้ทำให้คำศัพท์นั้นหายไปตามกาลเวลา
1
โฆษณา