9 ก.ค. 2022 เวลา 12:57 • การตลาด
3 สิ่งที่จะเกิดขึ้น… เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อาหาร
สืบเนื่องจากการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 นี้… เกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อาหารนั้น
…ประกาศฉบับนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างไร??? ผมจะมาวิเคราะห์ให้ทุกๆท่านได้เข้าใจเป็น ข้อๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการปรับตัว ดังนี้ครับ
👉ข้อที่ 1. แนวคิด Extended Producer Responsibility หรือ EPR จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
แนวคิดของ EPR คือ แนวคิดที่เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหาร หรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้บรรจุภัณฑ์ มีหน้าที่ต้องขยายความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ในตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) แตกต่างจากแนวคิดแบบเดิม ที่ผลิตมาเพื่อขายและทำการตลาด แล้วส่งมอบสินค้าสู่ผู้บริโภคก็เป็นอันสิ้นความรับผิดชอบ
แต่แนวคิด EPR นั้น ทางผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์ จะมีภาระหน้าที่รวมไปถึง การรวบรวมจัดเก็บขยะบรรจุภัณฑ์ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตัวเอง แล้วนำกลับมาผ่านกระบวนการทำความสะอาดและรีไซเคิลด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อนำกลับมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารชนิดต่างๆใหม่ ในรอบการใช้งานถัดไป
ซึ่งจากการอนุญาตให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อาหาร ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 นั้น ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้หลักการ EPR ถูกนำมาใช้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเจ้าของแบรนด์นี้เองจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่มีความสำคัญอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแต่หน้าที่ในการจัดเก็บขยะพลาสติกนำกลับมาเข้ากระบวนการ แต่ยังมีหน้าที่ในด้านการวางแผนการจัดการเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ในช่วงวงจรชีวิตต่างๆอีกด้วย ไล่ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิต การใช้งาน การจัดเก็บสินค้า วิธีการในการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
โดยในขั้นตอนการออกแบบนั้น นอกจากการคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสะดวกในการคัดแยกและจัดการเมื่อบรรจุภัณฑ์นั้น กลายเป็นขยะอีกด้วย
👉 ข้อที่ 2. เทรนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่จะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยะสำคัญ
ก่อนหน้านี้การออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารจะคำนึงถึงวัตถุประสงค์ด้านการใช้งาน และเหตุผลด้านการตลาดเป็นหลักสำคัญ…
ไม่จะเป็นความสวยงามสะดุดตา น่าดึงดูดต่อผู้บริโภค หรือการสร้างแบรนด์ให้กับอาหาร เครื่องดื่มที่บรรจุอยู่ภายใน โดยแทบจะไม่ได้คำนึงถึงการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ต่างๆเหล่านี้เมื่อกลายเป็นขยะ ไล่ตั้งแต่การรวบรวมจัดเก็บขยะกลับจากผู้บริโภค การคัดแยกจัดการ การนำกลับมารีไซเคิล และท้ายสุดคือ การนำกลับมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารในรอบการใช้งานถัดไป ซึ่งจะต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการทางด้านความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์อาหารตามข้อบังคับที่ได้ประกาศออกมา…
ซึ่งผลของการละเลยการคิดวางแผนการจัดการบรรจุภัณฑ์ต่างๆเหล่านี้ ให้ครอบคลุมตลอดช่วงชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Lift Cycle) นำมาซึ่งปัญหาในการจัดการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่อาหาร ทำให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ในปริมาณน้อย หรือไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้เลย และถูกนำไปสู่บ่อฝังกลบในท้ายที่สุด
ซึ่ง สิ่งที่ทางฝั่งผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะต้องปรับเปลี่ยนในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานการถูกนำกลับมารีไซเคิล ก็คือ
✅ 1. การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นพลาสติกชนิดเดียว (Mono Material)
>> หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุพลาสติกหลากหลายประเภท โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์รูปแบบที่เป็นขวดผนังบางๆ หรือถุงนม ถุงบรรจุเครื่องดื่มที่มักจะเป็นรูปแบบของการมีผนังของบรรจุภัณฑ์หลายๆชั้นเรียงต่อกัน (multi-layer packaging)…
>> ซึ่งในปัจจุบัน จะมีบรรจุภัณฑ์บางประเภทผนังหลายชั้น ที่ใช้พลาสติกชนิดต่างกัน เช่น PP-PET, Metal-PET, Metal-PA เหล่านี้เป็นต้น
>> เนื่องจากความต้องการคุณสมบัติที่แตกต่างกันจากวัสดุทั้งสองชนิด อาทิเช่น ความมันวาวแลดูสวยงาม การป้องกันการซึมผ่านของอากาศ หรือการยึดติดของหมักพิมพ์ที่พิมพ์ลงบรรจุภัณฑ์เป็นต้น… ซึ่งต่อจากนี้ไปทางผู้ผลิตจะต้องเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการใช้วัสดุเพียงชนิดเดียว เพื่อที่จะทำให้ง่ายในกระบวนการรีไซเคิล และนำกลับมาใช้ใหม่
✅ 2. การคำนึงถึงความปลอดภัยและสารเคมีต่างๆที่แต่งเติมลงไปในการผลิตบรรจุภัณฑ์
>> หลายท่านๆอาจจะมีความเห็นว่า โดยปกติแล้วในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มไม่น่าจะมีสารอันตรายต่างๆปะปนอยู่ในบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว…
>> ตรงจุดนี้ก็ถูกต้องส่วนหนึ่งครับ เพียงแต่เราต้องมีการคิดประเมินและวางแผนไปถึงในขั้นตอนของกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ด้วย
>> เพราะบางทีอาจจะมีสารเคมีซึ่งอาจจะหลุดออกมาปะปนกับพลาสติกในขั้นตอนการรีไซเคิลได้ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสารเคมีซึ่งเกิดจากหมึกพิมพ์ต่างๆ ซึ่งโดยปกติในขั้นตอนการผลิตก่อนหน้า มักจะมีการใช้ชั้นพลาสติกมากั้นขวาง (Functional Barrier) ไม่ให้สารเคมีจากหมึกพิมพ์ต่างๆเหล่านี้ หลุดออกมาสัมผัสกับอาหาร หรือเครื่องดื่ม
✅ 3. ต้องมีการระบุรายละเอียดของชนิดพลาสติกและขั้นตอนกระบวนการรีไซเคิลบนบรรจุภัณฑ์
>> ในสมัยก่อนนั้นเราเพียงแค่มีการระบุประเภทพลาสติกของบรรจุภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มนั้นๆ โดยใช้หมายเลข 1-7 เพื่อระบุประเภทของพลาสติกที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์…
>> แต่หลังจากนี้ไปข้อมูลที่ทางผู้ผลิตจะต้องเพิ่มเติมเข้าไป คือ วิธีการเก็บรวบรวม คัดแยกบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงวิธีการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อาหารต่างๆเหล่านั้นอย่างถูกต้องด้วย
👉 3. บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิด PET จะเป็นกลุ่มแรกที่จะถูกนำร่องใช้งาน
PET เป็นพลาสติกที่ถูกนำมาใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม มากที่สุดเป็นอันดับ 1 เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีความใส สามารถป้องกันการแพร่ผ่านของอากาศ มีความเหนียวทนทาน และสามารถทนต่อความร้อนได้ดีในระดับหนึ่งเป็นต้น
และเมื่อเราพิจารณาในแง่ของการรีไซเคิลนั้น พลาสติกชนิด PET ก็มีอัตราการรีไซเคิลสูงสุดเป็นอันดับ 1 เช่นกัน มีอัตราการนำกลับมารีไซเคิลโดยประมาณถึง 50% โดยส่วนมากถูกนำกลับไปใช้ผลิตเป็นเส้นใยโพลีเอสเทอร์ เพื่อนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มในขั้นตอนถัดไป…
ซึ่งปัจจุบันนี้เราจะพบเห็นได้บ่อยๆจากโฆษณาเสื้อเลยว่า ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล 100% หรือจะเป็นจีวรจากขวดน้ำ ขยะ PET เป็นต้น
เทคโนโลยีการรีไซเคิลของพลาสติก PET มีความก้าวหน้าสูงมากโดยแทบจะเป็นพลาสติกชนิดแรกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล แล้วได้เม็ดพลาสติกที่มีความสะอาดและคุณสมบัติเทียบเท่ากับเม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ (Virgin)…
ซึ่งถ้าในแง่ของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มประเภท PET เทคโนโลยีลักษณะนี้จะถูกเรียกว่า เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบบ Bottle-to-Bottle…
กล่าวคือ เป็นวิธีการนำขวดเครื่องดื่มพลาสติก PET ที่ใช้งานแล้ว นำกลับไปผ่านเทคโนโลยีการรีไซเคิลขั้นสูง เพื่อมาผลิตเป็น เม็ดพลาสติก PET แล้วนำเม็ดพลาสติกนี้มาขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ขวดน้ำ PET อีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น ด้วยความก้าวหน้า และมาตรฐานทางเทคโนโลยีการรีไซเคิลของพลาสติก PET นี้ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องกว่าหลาย 10 ปีในต่างประเทศ และเริ่มจะมีการนำมาใช้ในประเทศไทยโดยแบรนด์ผลิตภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Nestle แล้ว…
จึงทำให้เราสามารถสรุปได้ว่า สำหรับมาตรฐานข้อบังคับเกี่ยวกับ มาตรฐานที่ออกมานั้น พลาสติก PET จะเป็นพลาสติกชนิดแรกที่สามารถผ่านมาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆของ อย. ได้อย่างไม่มีปัญหา…
ในขณะที่พลาสติกประเภทอื่น อาทิเช่น ชนิด PP หรือ PE อาจจะต้องการ การพัฒนาทางเทคโนโลยีทางด้านการ รีไซเคิลเชิงเคมี (Chemical Recycling) เพื่อที่จะสามารถกำจัดสิ่งเจือปนและสารอันตรายๆต่างๆออกจากขยะบรรจุภัณฑ์ได้
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความที่ได้เขียนขึ้นมานี้จะเป็นประโยชน์กับ เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหาร/เครื่องดื่ม หรือผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่มีความเกี่ยวกับประกาศฉบับนี้โดยตรง และเป็นแนวทางสำหรับการตระเตรียม วางแผนเพื่อปรับตัวกับทิศทางในอนาคตของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่จะมาในเวลาอันใกล้นี้
✅ Un-virgin 👉 เม็ดพลาสติกคุณภาพสูง
Website 🖥 : www.psmplasitech.com
✅ ต้องการติดต่อสอบถาม-ปรึกษา การใช้งานพลาสติกรีไซเคิล…ติดต่อได้ที่👇
Line ID 📲 : thitipun_aim
โฆษณา