18 ก.ค. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
เทรนด์อาหารปังๆ ในไต้หวันหลังยุคโควิด-19
สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไต้หวัน รายงานว่าปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงอาหารเสริมและวิตามินเพิ่มสูงขึ้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย (Immune System) มากขึ้น
โดยมูลค่าการตลาดอาหารฟังก์ชัน (functional foods) ของไต้หวัน ในปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณร้อยละ 10 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และ Euromonitor คาดการณ์ว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดอาหารฟังก์ชันถือเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) สามารถทำราคาได้สูงกว่าอาหารทั่วไปมากถึง ร้อยละ 100–300
สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มต่างจากตลาดอาหารทั่วๆ ไปที่ส่วนใหญ่เป็นตลาดเน้นปริมาณ โดยในตลาดไต้หวันผลิตภัณฑ์จากนมที่เพิ่มฟังก์ชันให้คุณค่าทางโภชนาการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในอาหารฟังก์ชัน ไม่ว่าจะเป็นนมสด โยเกิร์ต รองลงมาเป็นพวกเครื่องดื่ม บิสกิต คุุกกี้ แท่งซีเรียล ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารฟั่งก์ชันจะมีทั้งที่ผลิตในไต้หวันเองและนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี อังกฤษ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น
แนวโน้มสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพหลังยุคโควิด-19 ในไต้หวันที่มาแรงในขณะนี้คือ
1) ขนมขบเคี้ยวที่ช่วยในการย่อยอาหาร มีเส้นใยสูง มีสารอาหารที่ช่วยในการดูแลระบบลำไส้ มีส่วนผสมของธัญพืชที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ผักสดและผลไม้สด ให้พลังงานสูง มีน้ำตาลน้อย เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ มีการบริโภคผักและผลไม้น้อย แต่ไม่ลืมที่จะดูแลความงามด้านผิวพรรณได้เป็นอย่างดี
2) อาหารเนื้อสัตว์ทดแทน (alternative meats) ผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกจากพืช (plant-based foods) โดยเฉพาะถั่ว เห็ด สาหร่าย ซึ่งให้โปรตีนสูง โดยสัดส่วนผู้บริโภคอาหารแนวมังสวิรัติในไต้หวันมีจำนวนประมาณ 3 ล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรไต้หวัน ในขณะที่ตลาดของผู้นิยมเนื้อจากใยพืชมีประมาณ 6.64 ล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรไต้หวัน
3) ขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมที่เพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย เช่น วิตามินซี สารอาหาร DHA แคลเซี่ยม แลคโตบาซิลลัส
4) เครื่องดื่มที่ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ช่วยลดความเครียดและความกังวล โดยเน้นสารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ และช่วยรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหาร เพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้ ช่วยบำรุงรักษาผิวพรรณ
5) อาหารและเครื่องดื่มไม่มีน้ำตาล เช่น ช็อกโกแลตน้ำตาลน้อย น้ำอัดลมที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชา น้ำผลไม้ น้ำสมุนไพรที่จำหน่ายในไต้หวันล้วนมีไลน์สินค้าที่ไม่มีน้ำตาล ตอบโจทย์กลุ่มคนรักษสุขภาพ และหนุ่มสาวที่กลัวอ้วน ทั้งนี้ เครื่องดื่มที่ขายในไต้หวันและนำเข้าจะต้องติดฉลากโภชนาการตามระเบียบของรัฐบาล โดยตั้งแต่ปี 2550 รัฐบาลกำหนดให้ผู้ผลิตแสดงข้อมูลปริมาณน้ำตาลในฉลากด้วย
6) อาหารและเครื่องดื่มที่ผสมโปรตีนสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ ผู้บริโภคชาวไต้หวันโดยเฉพาะผู้หญิงระมัดระวังในเรื่องการรักษารูปร่างให้ดูดีเป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่ม ที่ไม่เพียงแต่บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังใช้อาหารเสริมร่วมด้วย
สินค้าอาหารและเครื่องดื่มในไต้หวันมีการแข่งขันสูงอีกทั้งยังต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ การแข่งขันในด้านราคาจึงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับสินค้าไทย ผู้ประกอบการควรวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอยู่เสมอเพื่อตอบสนองความต้องการและกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคที่พร้อมจะซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าหากตอบสนองความต้องการในด้านการรักษาสุขภาพ
โดยผู้ผลิตควรกำหนดเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคที่ชัดเจนและผลิตสินค้าตอบสนองให้ตรงตามรสนิยมและความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น เพื่อดับกระหาย เพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีความไดนามิกเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
โดยภาพรวมแล้วผู้บริโภคชาวไต้หวันมีแนวโน้มนิยมบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพสูง และ healthy มากขึ้น ประกอบกับชาวไต้หวันให้ความสนใจต่อสุขภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงมีแนวโน้มลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมสารความหวาน หรือสารอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และหันมาบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติมากขึ้น
โฆษณา