12 ก.ค. 2022 เวลา 09:00 • ประวัติศาสตร์
วันนี้ในอดีต - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 : เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในทะเลญี่ปุ่นใกล้กับฮอกไกโด ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิบนเกาะโอคุชิริจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 230 ราย
ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้มีข่าวแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันกว่า 38 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ จนทำให้หลายคนกังวลว่าจะเกิดสึนามิขึ้นทางภาคใต้ของไทยเหมือนในอดีต ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทางกองเฝ้าระวังได้ออกประกาศแจ้งแล้วว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้มีขนาดเล็กถึงปานกลาง (ขนาดน้อยกว่า 5) เป็นลักษณะกระจุกหรือกลุ่มแผ่นดินไหว แต่ไม่มีแผ่นดินไหวหลัก (Main Shock) ที่จะทำให้เกิดสึนามิได้
12 กรกฎาคม พ.ศ. 2536
แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่น่ากังวลใจอะไรแล้ว แต่ยังมีผู้คนอีกมากมายตั้งคำถามถึงมาตรการในการแจ้งเตือนจนเกิดเป็นแฮชแท็ก "สึนามิ" บนโลกโซเชียล ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องไปถกเถียงเรียนรู้กันต่อไป
หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 29 ปีก่อน ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมจากภัยภิบัติทางธรรมชาติอย่างสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ที่แม้จะมีการแจ้งเตือนจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาและออกประกาศผ่านทางสำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นภายในไม่กี่นาทีหลังเกิดเหตุ แต่นั่นก็สายเกินไปสำหรับผู้คนบนเกาะโอคุชิริ
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 เวลา 22.17 น. ตามเวลาท้องถิ่น ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในทะเลญี่ปุ่นทางตอนเหนือของเกาะฮอนชูที่เกิดจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกที่ความลึกประมาณ 16.7 กิโลเมตร โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้เกิดแรงสั่นสะเทือนถึง 2 ครั้ง และรอยเลื่อนมีความยาวกว่า 150 กิโลเมตร
ตำแหน่งเกิดแผ่นดินไหว
ทางการญี่ปุ่นได้ประกาศแจ้งเตือนภายใน 5 นาที หลังรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่นั่นก็ไม่เพียงพอสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะโอคุชิริ เมื่อแผ่นดินไหวได้สร้างคลื่นสึนามิขนาดความสูงของคลื่น 32 เมตร พัดเข้าชายฝั่งของเกาะในเวลาเพียง 2 นาที
ซ้ำร้ายแผ่นดินไหวยังก่อให้เกิดดินถล่มและเหตุเพลิงไหม้ในหลายจุดบนเกาะซึ่งทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยจากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 230 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 165 ราย
ภาพความเสียหายบนเกาะโอคุชิริ
หลังจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เพิ่มมาตรการเตือนภัยและการป้องกันที่มากขึ้น ทั้งระบบประตูน้ำป้องกันการไหลเข้ามาของน้ำทะเลและการสร้างแนวเขื่อนป้องกันตลอดชายฝั่งของเกาะ
แม้ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก แต่จากเหตุการณ์ในอดีตก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเราไม่อาจชะล่าใจถึงภัยพิบัติสึนามิได้ ดังนั้นจึงควรศึกษาเหตุการณ์และวิธีการรับมือของประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้และป้องกัน ก่อนที่มันจะสายเกินไป
เครดิตภาพ
อ้างอิง
โฆษณา