12 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • การเกษตร
เพลี้ยแป้ง คือหนึ่งในขาประจำที่ยกพลมาเป็นโขยงทำลายต้นไม้ในสวนของเรา เจ้าแมลงตัวขาว ๆ ฟู ๆ แลดูอ่อนโยนแต่อันตรายน่าดู เรามาดูวิธีกำจัดกัน
เพลี้ยแป้ง สังเกตได้ง่ายด้วยเครื่องแต่งตัวที่ขาวราวหิมะ พวกมันดูจะมีนิสัยรักพวกพ้อง เพราะพากันมาเป็นกลุ่มราวกับทัวร์ลง แต่ก็ออกจะขี้เกียจสักหน่อย ชอบเกาะอยู่นิ่ง ๆ ตามส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ ตั้งแต่ใบ กิ่งก้าน ลำต้น ไปจนถึงดอก เจ้าพวกนี้เห็นต้นไม้เป็นขวดน้ำหวาน จึงพากันมาดูดกินน้ำเลี้ยงโดยเฉพาะส่วนเจริญใหม่ เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน หรืออยู่ใต้ใบพืช จนต้นไม้ขาดอาหาร ทรุดโทรมลง และทำให้การเจริญเติบโตของต้นต้องหยุดชะงักลงไป
เจ้าแมลงตัวน้อยสีขาว ๆ นี้มักระบาดหนักในช่วงที่อากาศร้อนและชื้น เราอาจเห็นเป็นราดำตามมา เพราะน้ำหวานที่เพลี้ยแป้งผลิตออกมามากจะกลายเป็นรา ซึ่งจะลุกลามจนทำให้ต้นไม้ตายได้ เจ้าของสวนอย่าได้นิ่งนอนใจปล่อยไว้เชียวครับ
วิธีแก้ไขเบื้องต้นแบบง่าย ๆ ก็คือ ถ้าพบเพลี้ยแป้งเป็นจำนวนน้อยเกาะอยู่ตามใบ หรือส่วนที่ตัดทิ้งได้ให้ตัดทิ้งไปก่อน และต้องท่องให้ขึ้นใจว่าเพลี้ยแป้งมี “มดจอมขยัน” เป็นมิตรรักผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ ลองขยับกระถางหรือสำรวจดูรอบๆ สวนจะต้องพบรัง หรือทางเดินของมดที่แวะเวียนมากินน้ำหวานต่อจากเพลี้ยแป้ง บางทีเจ้ามดยังใจดีช่วยพาเพลี้ยแป้งเพื่อนรักไปเที่ยวทั่วสวนด้วย
อย่างไรก็ตามหากวันดีคืนดีครอบครัวเพลี้ยแป้งพากันมาเยือนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งใบทั้งต้นกลายเป็นสีขาวพราวไปหมด คงต้องงัดเอาสารเคมีมาปราบบ้างละ เพื่อไม่ให้ต้นไม้เหี่ยวเฉาไปกว่านี้ เราอาจเริ่มจากมาตรการเบา ๆ ด้วยการใช้สารเคมีอ่อน ๆ ที่หาได้ใกล้มือดังนี้
1. น้ำยาล้างจาน
เลือกใช้น้ำยาล้างจานชนิดไม่มีสารฟอกขาว ซึ่งมีฤทธิ์ลดแรงตึงผิว ทำให้ขี้ผึ้งที่เพลี้ยแป้งสร้างคลุมตัวเสียไป และหายใจไม่ได้ โดยใช้อัตราส่วนน้ำยาล้างจาน 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร หากได้ผลก็จะเห็นเพลี้ยแป้งฝ่อแห้งไป
2
2. น้ำยาล้างจาน + พริกสด +กระเทียมสด + หอมแดงสด
อาจเพิ่มความรุนแรงขึ้นอีก ด้วยการผสมกับพริกสด ซึ่งมีสารรบกวนระบบการดูดซึมอาหารของเพลี้ยแป้ง ในอัตราส่วน พริกสดตำละเอียด 1- 2 ช้อนชา น้ำยาล้างจานชนิดไม่มีสารฟอกขาว 1 ช้อนโต๊ะ กระเทียมและหอมแดงสดอย่างละ 1 หัวใหญ่ นำไปปั่นโดยผสมน้ำบ้างเพื่อให้เข้ากัน แล้วเติมน้ำอีก 2 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นนำมากรอง ก่อนนำไปใช้งาน ในกรณีที่เป็นต้นไม้ที่มีใบอ่อน อาจลองแค่บางจุดก่อน เพราะใบอ่อนอาจไหม้ได้
3. เหล้าขาว
หากสูตรเบื้องต้นยังไม่สาแก่ใจ แต่ยังกลัวสารเคมีรุนแรงอยู่ ลองใช้สูตรเหล้าขาว 2 ขวด น้ำส้มสายชู 5 % 1 ลิตร สาร EM 1 ลิตร กากน้ำตาล 1 ลิตร และน้ำสะอาด 10 ลิตร นำทั้งหมดมาผสมกันและหมักไว้นาน 10 – 15 วัน หมั่นคนไม่ให้ส่วนผสมนอนก้น และอย่าปิดฝาแน่นสนิทเพื่อให้ก๊าซที่เกิดขึ้นระบายออกได้ พอครบกำหนดแล้วให้ใช้ปริมาณ 1-5 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำสะอาด 5-10 ลิตร นำไปฉีดพ่นพืชผักทุก 3 วัน สลับกับพ่นปุ๋ยน้ำ หากเป็นพืชสวน พ่นทุก 3-7 วัน สลับกับการพ่นปุ๋ยน้ำ
4. สารเคมีกำจัดเพลี้ยแป้ง
หากวิธีธรรมชาติใช้ไม่ได้ผล หรือเพลี้ยแป้งมีจำนวนมากเกินกำจัด อาจลองฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เช่น ฟิโปรนิล (Fipronil) อิมิคาคลอพริด (Imidacloprid) ไดโนทีฟูแรน (Dinotefuran) ไวท์ออยล์ (Whiteoil) ปิโตรเลียมออยล์ (Petroleum Oil) เป็นต้น
1
แต่ที่สำคัญการฉีดพ่นต้องทั่วถึง มิเช่นนั้น หากมีเพลี้ยแป้งอยู่ใต้ใบหรือเกาะซ้อนกันแน่น ก็อาจทำให้ตัวล่างรอดและขยายพันธุ์ต่อไปได้ คงต้องอาศัยความพยายามในการกำจัดต้นเหตุ ตัดเนื้อร้าย และใช้สารเคมีควบคู่กันไป จึงจะกำราบเจ้าเพลี้ยตัวน้อยให้สิ้นฤทธิ์ลงได้
อ่านในรูปแบบเว็บไซต์ >> https://bit.ly/3yS6iJM
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา