15 ก.ค. 2022 เวลา 00:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อยู่หน้าจอนาน อันตรายจริงหรือ?
Photo by Thomas Park on Unsplash
ในยุคข้อมูลข่าวสารที่เด็กๆ อาจจะใช้เวลากับหน้าจอมากกว่าอยู่ต่อหน้าเพื่อนหรือผู้ปกครองเสียอีก ทำให้ผู้ใหญ่จำนวนมากเกิดความกังวลใจว่า โซเชียลมีเดียจะทำให้ลูกหลานของตัวเองเกิดอาการซึมเศร้า หรือกลายเป็นคนชอบโดดเดี่ยวแยกตัวเองออกจากสังคมหรือไม่?
เล่นวิดีโอเกมยิงกันบ่อยๆ จะทำให้เด็กๆ มีใจคอโหดร้าย จนกลายเป็นฆาตกรในอนาคตได้หรือไม่?
แถมยังมีข่าวในสื่อบ่อยๆ ว่า มีส่วนแน่ๆ แต่เรื่องจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? มีงานวิจัยชิ้นไหนที่ช่วยตอบคำถามทำนองนี้บ้างหรือไม่?
มีงานวิจัยที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊กทำไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 2015 (ตีพิมพ์ในวารสาร Perspectives on Psychological Science, November 17, 2015, https://doi.org/10.1177/1745691615596788) ที่ศึกษาเรื่องความกังวลใจเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ปกครองชาวอเมริกันว่า
มีเรื่องให้กลัวว่าจะเกิดผลกระทบมากถึง 7 เรื่อง ได้แก่
(1) ความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ
(2) ความสัมพันธ์กับพ่อแม่
(3) การโดนรุมแกล้งหรือบูลลี่
(4) ชักจูงไปในทางที่ผิดบนไซเบอร์
(5) ขัดขวางการพัฒนาหรือสร้างบุคลิกและความเป็นตัวตน
(6) รบกวนการนอน และ
(7) ส่งผลกระทบต่อการเรียน
อย่างไรก็ตาม ผลสรุปจากงานวิจัยนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายนัก กล่าวคือ
(1) ผลกระทบต่างๆ แบบออนไลน์เป็นแค่ภาพสะท้อนจากสิ่งที่เกิดขึ้นแบบ “ออฟไลน์” ในชีวิตจริง และนอกจากข้อยกเว้นสองเรื่องที่ส่งผลจริงๆ คือ การรบกวนการนอนกับการแกล้งกันทางออนไลน์ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่
(2) ผลกระทบจาการใช้โทรศัพท์มือถือไม่สม่ำเสมอในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด
ขณะที่วัยรุ่นบางคนได้รับผลกระทบในด้านลบทำให้ชีวิตแบบออฟไลน์ย่ำแย่ลงไปอีก แต่บางคนก็ได้รับผลดีจากการใช้งาน เช่น มีทักษะที่เป็นประโยชน์บางอย่างสำหรับวัยรุ่นที่ขี้อาย ไม่กล้าออกไปอยู่ต่อหน้าคนจำนวนมาก
งานวิจัยชิ้นนี้จึงสรุปว่า ยังจำเป็นจะต้องมีการทดลองที่อาศัยการวิเคราะห์ผลทางตรงแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการขอข้อมูลจากปากคำของวัยรุ่นเอง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลกระทบของการใช้โทรศัพท์มือถือกับความสัมพันธ์ทางสังคม และสภาพร่างกาย ซึ่งก็รวมทั้งสมองด้วย
ย้ำตรงนี้อีกสักทีนะครับ ผลร้ายที่กลัวๆ กันนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็เป็นไปได้ไม่น้อยว่า เป็นแค่ภาพสะท้อนจากสิ่งที่เราพบเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้วในโลกจริงแบบออฟไลน์
Photo by PAN XIAOZHEN on Unsplash
ยังมีความสับสนอยู่ไม่น้อยทีเดียวเรื่องผลกระทบของการใช้โซเชียลมีเดียหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ๆ กับเด็กๆ ว่าดีหรือแย่กับตัวเด็กกันแน่
แต่ดูเหมือนคนจะใส่ใจหรือเผยแพร่ข้อมูลด้านลบเสียมากกว่า
ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นผลจากวิวัฒนาการของระบบสมองของมนุษย์ที่เก่าแก่หลายแสนหรือเป็นล้านปี ซึ่งการตีความสถานการณ์แวดล้อมให้น่ากลัวเกินจริงมีประโยชน์ช่วยให้รอดชีวิตได้ ซึ่งคุ้มค่ามากกว่าหากเปรียบเทียบกับกรณีที่เข้าใจผิดไปเอง เช่น
เห็นพุ่มไม้ไหวแล้วคิดไปเองว่า มีส่วนที่อาจเป็นหัวของเสือหรือสิงโต การวิ่งแน่บในทันทีย่อมดีกว่าการมาไตร่ตรองหรือรอดูให้แน่ใจ!
ในกรณีนี้การเข้าใจถูกย่อมช่วยชีวิตไว้ได้ ขณะที่การเข้าใจผิดก็แค่ทำให้ต้องวิ่งเหนื่อยหอบเสียแรงเปล่า ไม่ถือว่าเสียหายมากมายเท่าไหร่
แต่ข้อมูลข่าวสารในด้านลบที่ชวนกังวลแบบนี้ ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันอย่างหนักหน่วง งัดหลักฐานมาโชว์กันไม่หยุดหย่อนเช่นกันว่า เป็นแค่ความเชื่อผิดๆ ที่ไม่จำเป็นต้องกังวลจนเกินเหตุหรือไม่
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2019 ในวารสารชื่อ Nature Human Behaviour โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่น่าสนใจมาก ชื่อบทความ ความเกี่ยวข้องระหว่างสวัสดิภาพของวัยรุ่นกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (The Association Between Adolescent Well-Being and Digital Technology Use, https://www.nature.com/articles/s41562-018-0506-1)
ผู้ทำวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า มี “หลุมพรางทางสถิติ” อยู่ในงานวิจัย เพราะงานวิจัยแต่ละชิ้นมักทำในกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่มากนัก ซึ่งในแวดวงวิจัยก็รู้กันดีว่า หากเพิ่มจำนวนตัวอย่างมากขึ้น
บางครั้งผลลัพธ์ที่ได้ก็แตกต่างออกไปบ้าง หรือแม้แต่จะให้ผลเป็นตรงกันข้ามเลยก็มี!
พอมาถึงยุคปัจจุบัน มีการใช้เมตาเดต้า (metadata) มาทำวิจัยมากขึ้นคือ มีการเอาข้อมูลจากงานวิจัยของคนอื่นที่ตีพิมพ์แล้ว มาวิเคราะห์รวมกัน โดยใช้วิธีการทางสถิติ “ตัดความแตกต่าง” ทั้งหลายออก
วิธีการนี้จะทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างในการวิเคราะห์เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่น หลักแสน หรือแม้แต่เป็นล้านคนทีเดียว โดยไม่ต้องทดลองทำด้วยตัวเอง ซึ่งจะต้องใช้เงินและเวลาอย่างมหาศาล
กระนั้นก็ตาม แม้วิธีการเช่นนี้จะมีพลังและเป็นประโยชน์มาก แต่ตัวแปรหรือผลจากสังเกตการณ์ก็ยังคง “ปรับให้เทียบเท่า” ไม่ได้อย่างแท้จริงอยู่ดี จนอาจทำให้เกิดผลบวกลวง (false positive) ได้ เช่น แสดงให้เห็นว่าเด็กเข้าอินเทอร์เน็ตนาน ทำให้ผลสัมฤทธิการเรียนตกลง ทั้งๆ ที่ไม่จริง ฯลฯ
นักวิจัยกลุ่มนี้จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจึงใช้วิธีวิเคราะห์ที่คิดขึ้นใหม่ ชื่อว่า การวิเคราะห์เส้นโค้งของคุณลักษณะจำเพาะ (Specification Curve Analysis หรือ SCA) ขึ้น
แล้วใช้เทคนิคนี้ในการวิเคราะห์แต่ละชุดการทดลอง ก่อนจะนำผลมาวิเคราะห์เพื่อสรุปรวมกันอีกทีหนึ่ง (ต่างกับการทำเมตาเดต้าทั่วไปที่ “ทำความสะอาด” ข้อมูลเบื้องต้นแล้วใช้สถิติวิเคราะห์รวมทีเดียว)
โดยใช้ฐานข้อมูลของตัวอย่างที่เป็นวัยรุ่นมากถึง 355,358 คน
ผลลัพธ์ที่ได้คือ สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิธีการแบบนี้ในการศึกษาทำให้ทราบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลกระทบกับสภาวะทางจิตของวัยรุ่นน้อยมาก คือ 0.4% เท่านั้น
Photo by bruce mars on Unsplash
ผู้วิจัยบอกว่าเพื่อแสดงให้เห็นว่าผลกระทบระดับนี้มันน้อยมากจริงๆ ก็อาจเปรียบเทียบได้ว่า แทบจะไม่ต่างอะไรกับผลจากการกินมันฝรั่งแล้วส่งผลเสียเลย
ผลกระทบน้อยกว่าผลกระทบจากการใส่แว่นตาด้วยซ้ำไป โดยผลลบที่ใช้ในการวิจัยนี้ก็รวมเอาไว้ทั้งอาการซึมเศร้าหดหู่ การมีปัญหาความสัมพันธ์ เช่น ถูกเพื่อนรุมแกล้ง และความคิดอยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น
มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน ผลทางลบอื่นๆ บางอย่างจะสูงกว่ามากทีเดียว เช่น ผลเสียจากการเสพกัญชา (2.7%) และการถูกรุมแกล้งหรือบูลลี่ (4.3%)
ในทางกลับกัน ปัจจัยทางบวกบางอย่างที่นิยมศึกษากันก็สูงกว่ามากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับอย่างเพียงพอหรือการกินอาหารเช้า ฯลฯ
ผลสรุปนี้ยังตรงกันข้ามกับผลสรุปของการศึกษาที่ใช้ชื่อว่า “การเฝ้าสังเกตอนาคต (Monitoring the Future)” ซึ่งทำโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (ซึ่งยังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง)
โดยการศึกษาแบบหลังนี้เน้นไปที่การใช้สารเสพติดของวัยรุ่น โดยทางโครงการได้ตีพิมพ์เอกสารที่ก่อให้เกิดความแตกตื่นตกใจในปี ค.ศ. 2017 เพราะระบุว่า
การใช้สมาร์ตโฟนมีส่วนทำลายวัยรุ่นในยุคนี้
แต่เมื่อทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนำข้อมูลดิบมาวิเคราะห์เองด้วยวิธี SCA กลับพบว่าผลกระทบมีเพียงน้อยนิด จึงจะเห็นได้ชัดเจนว่า ผลกระทบด้านลบที่กลัวกันนั้น
บางครั้งอาจจะเกิดขึ้นเพราะระเบียบวิธีการวิจัย (หรือจำนวนตัวอย่างที่ใช้วิเคราะห์) ได้เช่นกัน
แต่ทั้งนี้ต้องระมัดระวังในการตีความด้วยว่า ผลการทดลองที่เล่าให้ฟังนี้ “ไม่ได้สรุปว่า” ไม่มีผลกระทบอะไรเลยจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
นักวิจัยชี้ว่ายังคงมีขอบเขตที่แน่นอนระดับหนึ่งที่ควรยึดถือเป็นข้อปฏิบัติเช่นกัน นั่นก็คือ ต้องมีความพอเหมาะพอดีในการใช้งานด้วย โดยแนะนำว่าระดับที่เหมาะสมคือ ให้ใช้ได้ราว 1–2 ชั่วโมงต่อวันในช่วงระหว่างวันจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนวันหยุดอาจเพิ่งได้อีกเล็กน้อย
เพราะหากใช้งานมากกว่านี้ก็อาจทำให้ติด จนไม่เป็นอันทำอะไรอื่น และก่อให้เกิดผลเสียตามที่กลัวได้เหมือนกัน
จากงานวิจัยที่ยกมาทั้งสองชิ้น อาจสรุปได้ว่าผลกระทบจาการใช้มือถือหรือเครื่องมือและอุปกรณ์ดิจิทัล อาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่กลัวกัน อาจเป็นแค่สะท้อนให้เห็นโลกออฟไลน์มากกว่า และหากใช้อย่างถูกวิธีและพอเหมาะพอควร ก็มีประโยชน์ได้ด้วย
พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรกลัวจนมากเกินไป แต่ควรมองเห็นประโยชน์จากการใช้เครื่องมือและช่องทางเหล่านี้ในการพัฒนาศักยภาพของลูกหลานตนเอง อย่างเหมาะสมกับบุคลิกและความชอบเด็กคนนั้นๆ
โฆษณา