14 ก.ค. 2022 เวลา 00:03 • ความคิดเห็น
ทำงานที่บ้านหรือที่ออฟฟิศ แบบไหนดีกว่ากัน
โควิดทำให้เราได้ลองทำงานที่บ้านกันยาวๆ หลายแห่งก็ค้นพบว่า การทำงานที่บ้านของพนักงานนั้นช่วยประหยัดต้นทุน งานก็ไม่เสีย พนักงานก็ดูจะชอบมาก บางแห่งเจ้าของก็ไม่ค่อยชอบ รู้สึกว่าควบคุมพนักงานไม่ค่อยได้ พอโควิดเริ่มจาง การที่จะให้พนักงานกลับมาทำงานแบบห้าวันตามปกตินั้นก็ไม่ง่าย
ผมได้คุยกับบริษัทใหญ่มากแห่งหนึ่ง ทางฝ่ายบุคคลกำลังกลุ้มใจอย่างหนักเพราะผู้บริหารรุ่นใหญ่ก็อยากให้พนักงานกลับมาทำงานเหมือนเดิม ส่วนพนักงาน โดยเฉพาะรุ่นเด็กๆไม่ได้อยากจะเข้าออฟฟิศ ฝ่ารถติด อะไรแบบเดิมอีก เริ่มมีสัญญานการลาออกให้น่าเป็นห่วงกันบ้างแล้ว
Google ก็เริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานสามวันตั้งแต่ต้นเมษายนที่ผ่านมา อดีตซีอีโออย่าง อีริค ชมิตซ์ (Eric Scmidt) ออกโรงสนับสนุนอย่างเต็มที่เพราะเขาเชื่อว่า การทำงานที่ออฟฟิศนั้นช่วยเรื่องการประสานงานร่วมมือกัน การทำงานเป็นทีม และที่สำคัญคือพนักงานรุ่นใหม่ๆอายุ 25-35 จะสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการได้ดีกว่า
อีริคให้สัมภาษณ์ว่า เขานึกไม่ออกเลยว่าพนักงานรุ่นใหม่จะเรียนรู้เรื่องการจัดการจากการนั่งทำงานบนโซฟาที่บ้านได้อย่างไร เขาเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ใช่เรื่องงานนั้นยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทางเทคอะไรมาแทนได้
ความเห็นของอีริคก็มีคนเห็นแย้งว่าจะเจอคนลาออกเยอะเพราะคุ้นชินกับอิสระกับการทำงานที่บ้านและมีหลายบริษัทที่ไม่บังคับมาทำงานที่ออฟฟิศอีก ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า the great resignation ที่อเมริกา บางคนถึงกับไม่พอใจมาก บอกว่า google ค่อยๆหลอกให้กลับมาสามวัน ซักพักก็จะเพิ่มเป็นสี่หรือห้าวันในที่สุดด้วย
1
ผมเองมีความเห็นด้วยกับเอริคอยู่บางประการ การทำงานที่บ้าน 100% นั้นเหมือนกับมีอะไรขาดหายไปอยู่เหมือนกัน งานหลายอย่างอาจจะไม่ต้องเข้าออฟฟิศ และการทำงานที่บ้านก็ช่วยให้งานหลายอย่างรวดเร็วขึ้นจากเดิมต้องมีขั้นตอนต่างๆนานา แต่เวลาอยากจะคุยอะไรที่เป็นเรื่องไอเดียใหม่ๆ การระดมสมองถกเถียงกัน ผมจะชอบเจอหน้า ได้พูดได้แซว ได้ทักทายกันก่อนคุย ได้เขียนกระดาน ได้เห็นปฏิกริยา สีหน้าท่าทางว่าใครไม่เห็นด้วยแต่ไม่กล้าพูด ใครเห็นด้วย การสร้างบรรยากาศสนุกๆทำได้ง่ายกว่ามาก
1
นอกจากนั้น ผมก็เห็นด้วยกับเอริคในเรื่องพนักงานที่อายุน้อยว่าจะสามารถพัฒนาทักษะหลายอย่างได้ถ้าอยู่ที่ออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำเสนองาน การได้พัฒนาบุคลิกภาพในการนำเสนอ การออกความเห็น การเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ต้องแสดงออกนอกเหนือจากการทำงานเช่นการไปกินข้าวคุยเรื่องส่วนตัวกัน การได้แซว ได้พบหน้าค่าตา ได้มีโอกาสช่วยเหลือกันในวาระต่างๆ การพัฒนาทักษะการเป็นหัวหน้าทีมที่ดีที่จะสร้าง trust กับน้องๆในทีมก็ทำได้ง่ายกว่าเวลาเจอหน้ากัน
1
ปัญหาใหญ่ๆที่เจอในช่วงโควิดก็คือ พนักงานเข้าใหม่นั้นแทบไม่รู้จักใครเลย เห็นหน้าก็เห็นแต่ในซูม (บางทีก็ไม่เห็นด้วย) การที่จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ได้ซึมซับและเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรนั้นแทบไม่มี และที่สำคัญคือความสามารถในการ “know who” ในวัฒนธรรมแบบไทยๆที่ทำให้การทำงานสะดวกขึ้นก็แทบจะสร้างไม่ได้เลย พนักงานใหม่ที่รู้สึกเคว้งก็มาก
2
แต่แน่นอนว่า ผมเองก็ไม่ได้ชอบการกลับไปทำงานออฟฟิศแบบเก้าโมงเช้าเลิกห้าโมงเย็นอีกต่อไป เพราะการทำงานแบบนั้นทั้งไม่สะดวกสบายส่วนตัว เสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระเช่นการจราจร หรือการประชุมที่ไม่จำเป็นค่อนข้างมาก
ยิ่งทำงานที่ไหนก็ได้ (work from anywhere) จนชิน ก็ยิ่งกลับไปแบบเดิมไม่ลง การออกแบบการทำงานแบบสลับระหว่างทำที่ไหนก็ได้กับเข้าออฟฟิศบ้างของบริษัทหลังโควิดจึงน่าจะต้องคิดในมุมใหม่และหาจุดลงตัวที่ได้ประโยชน์จากทั้งสองโลกไปพร้อมกัน
1
Mindset ที่สำคัญที่ผมว่าบริษัทดั้งเดิมโดยเฉพาะเจ้าของกิจการที่เดิมมักจะหมกมุ่นกับการวัดความคุ้มค่าของการจ้างพนักงานเป็น “เวลา” นั้นน่าจะตกยุคไปพร้อมกับโควิด เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยได้ยินเจ้าของคนหนึ่งเอ่ยปากชมผู้จัดการสาวใหญ่ว่าเป็นพนักงานดีเด่นเพราะมาทุกวัน ไม่เคยหยุดแม้กระทั่งวันหยุด ไม่ได้สนว่าทำงานดีหรือไม่ ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือไม่แต่แสดงความขยันให้เจ้าของเห็นตลอดเวลา หรือแม้แต่ระบบเดิมของบริษัทที่ควบคุมพนักงานด้วยการตอกบัตรก็อยู่บนแนวความคิดนี้เช่นกัน
พอกลับมาจากโควิด สัญชาติญาณแบบนี้ก็จะกลับมาอีก พยายามอยากให้พนักงานมาทำงานทุกวัน ต้องนั่งให้เห็นหน้าตลอดเวลา เพราะเชื่อว่า “คุ้ม”กับเงินเดือนและ “ไม่ไว้ใจ” ว่าอยู่บ้านนี่ทำคุ้มเงินเดือนหรือไม่ เพราะวัดจากเวลาเป็นหลัก ซึ่งการวัดจากเวลานับจากนี้จะไม่มีคนเก่งๆคนไหนยอมอยู่ในระบบแบบนั้นอีกต่อไป
การออกแบบว่าจะให้พนักงานเข้าออฟฟิศกี่วันดีนั้น อย่างแรกจึงควรจะต้องเอาวิธีคิดเรื่องการวัดการทำงานเป็นเวลาออกไปก่อน แล้วเริ่มคิดจากผลสัมฤทธิ์ของงาน หรือที่เรียกว่าการทำงานให้สำเร็จเป็นแกนมากกว่า รวมถึงวัตถุประสงค์ของการเข้าออฟฟิศ แล้วจึงออกแบบว่าควรจะให้พนักงานเข้าออฟฟิศตอนไหนบ้าง เข้าเพื่ออะไร และที่สำคัญคือต้องพูดคุยสื่อสารกับพนักงานถึงเหตุและผล รวมถึงประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับจากการเข้าออฟฟิศ และรับฟังถึงข้อจำกัดของพนักงานพร้อมปรับให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
1
ผมเลยนำเสนอให้ซีอีโอของบริษัทที่ผมดูแลอยู่ซึ่งมีน้องอายุน้อยๆเกินครึ่งบริษัท เริ่มชวนน้องๆเข้าออฟฟิศอาทิตย์ละ 2-3 วัน ไม่ได้จำกัดว่าต้องเข้ากี่โมงออกกี่โมง แต่วัดผลจากงานที่ทำสำเร็จตามที่ได้รับมอบหมายเป็นหลัก แต่พอเข้ามาแล้วก็จัดให้มีกิจกรรมที่ทำให้น้องๆได้รู้จักกัน ได้ร่วมโครงการคิดโน่นนี่มานำเสนอฝ่ายจัดการ หา speaker จากข้างนอกมาสอนมาพูดคุยเป็นระยะ อะไรที่เป็นเรื่องคิดไอเดียใหม่ๆหรือถกเถียงกันหรือการประชุมฝ่ายจัดการต้องเจอหน้ากันเท่านั้น ประชุมเสร็จแล้วก็ไม่ต้องอยู่กันถึงเวลาเลิกงาน
พยายามสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีม มีการกระเซ้าเย้าแหย่กันไปทำงานกันไป กำลังหาทางที่ได้ประโยชน์ทั้งโลก WFH และ โลกออฟฟิศ ให้ลงตัวให้ได้ ซึ่งแต่ละบริษัทก็คงต่างกันไป
โควิดพาอะไรมาหลายอย่าง และก็หอบบางอย่างหายไปด้วย ความคิดเรื่องการวัดพนักงานด้วยเวลาทำงานก็น่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่โควิดหอบหายไป และที่พามาก็คือวิธีคิด การทบทวนเรื่องชีวิตของคนทำงาน โดยเฉพาะคนเก่งๆที่ได้ลิ้มรสความยืดหยุ่นจากการทำงานแบบ WFH มาแล้ว การออกแบบการทำงานแบบผสมผสานนับจากนี้เพื่อรักษาและดึงดูดคนเก่งและพัฒนาพนักงานไปพร้อมกัน ไม่ขึงตึง แต่ก็ไม่หย่อนเกินไปจึงเป็นศิลปะที่แต่ละบริษัทต้องปรับตัวหลังโควิดจางหายไป
ซึ่งก็คือช่วงนี้ตอนนี้แล้วล่ะครับ….
โฆษณา