14 ก.ค. 2022 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
8 เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเหลือพยาบาลในอนาคต
พยาบาลเป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงมาโดยตลอด โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่โลกของเราเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความหวาดกลัว รวมถึงการถูกจำกัดการเดินทาง ทำให้พยาบาลถือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือทั้งผู้ป่วยและหมอ
จากการที่อาชีพพยาบาลนั้นต้องใช้ความเข้าใจผู้ป่วย และความเอาใจใส่ในการดูแลผู้ป่วย ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่อาชีพพยาบาลได้
อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะเข้ามาช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่พยาบาลลง ในส่วนของงานที่มีรูปแบบซ้ำๆเดิมๆ ซึ่งจะช่วยให้พยาบาลมีเวลามากขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก
ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆทั้ง 8 ชนิดนี้จะเข้ามาช่วยเหลืองานทางด้านการพยาบาล และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการทำงานของพยาบาลในอนาคตอันใกล้
1. หุ่นยนต์
การจัดยา, การฆ่าเชื้อโรค, การขนย้ายเครื่องมือแพทย์จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง, การยกผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงการพูดคุยกับญาติของผู้ป่วย งานเหล่านี้เป็นงานประจำของพยาบาล และมีรูปแบบซ้ำๆ ทำให้หุ่นยนต์สามารถเข้ามาช่วยเหลืองานเหล่านี้ได้
หุ่นยนต์ TUG, Simek’s Relay เป็นตัวอย่างของหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ในการขนย้ายสิ่งของภายในโรงพยาบาล เช่น เครื่องมือแพทย์, ยา, ตัวอย่างจากห้องทดลอง, และสิ่งของที่เปราะบางต่างๆ อีกทั้งหุ่นยนต์เหล่านี้ยังสามารถขนรถเข็น, ชั้น, หรือกล่องต่างๆ ได้เป็นจำนวนมากในแต่ละรอบ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาของพยาบาลไปได้มาก ทำให้พยาบาลมีเวลาดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น
ในส่วนของหุ่นยนต์ชนิดอื่นๆ เช่น Moxie จากบริษัท Diligent Robotics ได้ถูกนำมาใช้งานในโรงพยาบาลในรัฐ Texas ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยช่วยส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์จากตู้เก็บของไปยังเตียงของผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ
หุ่นยนต์ TUG
นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ Xenex Lightstrike ซึ่งช่วยพยาบาลในการฆ่าเชื้อโรคภายในห้องผู้ป่วยด้วยรังสี UV โดยใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาที และฆ่าเชื้อโรคภายในห้องผ่าตัดด้วยเวลา 20 นาที ซึ่งประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ชนิดนี้ได้รับการตรวจสอบจากนักวิจัยทั่วโลกกว่า 40 คน
รวมถึงยังมีหุ่นยนต์บางชนิด เช่น Jibo, Pepper, Paro, Dinsow, และ Buddy ที่ช่วยดูแลผู้ป่วยที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต และผู้ที่รู้สึกโดดเดี่ยว
Paro เป็นหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างคล้ายกับแมวน้ำตัวน้อย จึงมีความน่ารัก, น่าเอ็นดู ซึ่งจะช่วยลดความเครียด, และความเหงา ส่วน Pepper เป็นหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างคล้ายกับมนุษย์ และมีความสูง 1.2 เมตร จึงใช้เป็นหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ต้อนรับผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลของประเทศเบลเยี่ยมและสาธารณรัฐเช็ค
2. การติดต่อสื่อสารทางไกล เพื่อเข้าถึงชุมชนห่างไกล
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ช่วยเร่งให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลขึ้น ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดการเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นลง รวมถึงช่วยลดการแพร่เชื้อโรค ในขณะที่ยังคงให้คำแนะนำในการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าว มาปรับใช้ในด้านการพยาบาลทางไกล เพื่อดูแลผู้ป่วยทั้งในรูปแบบฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน
เมื่อก่อน พยาบาลสามารถทำการคัดแยกผู้ป่วยอย่างคร่าวๆได้จากการใช้โทรศัพท์ อีกทั้งยังสามารถอ่านค่าต่างๆ เช่น ระดับออกซิเจน, อัตราการเต้นของหัวใจ, การหายใจ, ระดับน้ำตาลในเลือด และอื่นๆ รวมถึงการให้คำแนะนำผู้ป่วยในการทำแผลที่ไม่รุนแรงนัก
ในปัจจุบันบริษัทที่เกี่ยวข้องในด้านการแพทย์ทางไกล เช่น GreatCall กำลังเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งกว่านั้น การสื่อสารทางไกลไม่เพียงแต่ใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังใช้ในการฝึกฝนพยาบาลด้วย
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โปรแแกรมหรือแอพพลิเคชั่นที่สามารถใช้งานได้แบบออนไลน์จะเข้าช่วยการดูแลรักษาผู้ป่วย ทำให้สามารถเข้าถึงผู้คนในชุมชนห่างไกลได้มากขึ้น
3. การเจาะเลือด
กระบวนการเจาะเลือดเป็นเรื่องยากทั้งสำหรับพยาบาลและผู้ป่วย ซึ่งในฝั่งของผู้ป่วย ส่วนมากมักจะไม่ชอบเข็ม ส่วนในฝั่งของพยาบาล ต้องใช้ความอดทนอย่างมากในการหาเส้นเลือดที่เหมาะสมในการเจาะเลือด
ทำให้มีการคิดค้นหุ่นยนต์และเครื่องมือสำหรับสแกนหาหลอดเลือดขึ้นมา เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว และทำให้การเจาะเลือดใช้เวลาน้อยลง
Veebot เป็นหุ่นยนต์เจาะเลือดตัวแรก ซึ่งใช้รังสีอินฟราเรดและการใช้โปรแกรมวิเคราะห์ภาพ เพื่อหาเส้นเลือดที่เหมาะสม จากนั้นจึงใช้คลื่น Ultrasound เพื่อหาเส้นเลือดมีเลือดไหลในปริมาณที่พอดี แต่ว่าหุ่นยนต์ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างพัฒนา โดยจากการทดสอบพบว่า หุ่นยนต์สามารถเจาะเลือดได้ด้วยความแม่นยำกว่า 83% เมื่อเทียบกับนักเทคนิคการแพทย์ที่มีประสบการณ์
อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการเจาะเลือดคือ เทคโนโลยี AR ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถมองเห็นเส้นเลือดผ่านผิวหนังได้ง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะเจาะเลือดได้สำเร็จภายในครั้งแรก
นอกจากนี้ยังมีเครื่องมืออื่นๆ เช่น AccuVein และ VeinViewer ที่นำมาใช้ในการเจาะเลือด โดย AccuVein ได้มีการนำมาใช้กับผู้ป่วยกว่า 10 ล้านคน และช่วยให้หาเส้นเลือดได้แม่นยำขึ้นกว่า 3.5 เท่า
อีกทั้งยังมีเครื่องมือที่ประดิษฐ์ได้ง่ายและราคาถูกอย่าง 3D-printable vein finder ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยหาเส้นเลือดที่มีราคาเพียง 25 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 700-800 บาทเท่านั้น
4. การใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ เพื่ออธิบายความซับซ้อนของโรค
ในปัจจุบันได้มีการนำเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาใช้ในทางการแพทย์มากมาย เช่น เฝือกที่นิ้ว, โมเดลของอวัยวะ, พลาสเตอร์แบบเฉพาะสำหรับคนไข้, อุปกรณ์เทียมต่างๆ, วัสดุทางการแพทย์, อาหาร, และในอนาคต อาจจะเป็นอวัยวะเทียม ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ก็สามารถนำมาใช้ในงานด้านการพยาบาลได้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น เมื่อพยาบาลต้องการอธิบายขั้นตอนในการรักษาผู้ป่วย หากขั้นตอนนั้นมีความซับซ้อนมากก็ใช้อวัยวะเทียมที่ผลิตมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มาประกอบการอธิบายเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
อีกวิธีหนึ่งที่พยาบาลสามารถนำเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาใช้ได้คือ การสร้างอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ยกตัวอย่างเช่น โปรเจคต์ Foodini จากบริษัท Natural Machines ร่วมมือกับสถาบันทางด้านการแพทย์ ในการสร้างอาหารที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการรับประทานอาหาร
รวมถึงบริษัท Biozoon ก็ได้สร้างอาหารจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ ให้มีรูปร่างหน้าตาที่น่ากิน แต่ยังคงมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาพยาบาลได้นำเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาช่วยดูแลผู้ป่วย เช่น นักศึกษาพยาบาลจากมหาวิทยาลัย Caldwell ได้พัฒนากล่องใส่ยาสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งต้องรับประทานยาหลายชนิดในแต่ละวัน
5. การวินิจฉัยโรค ณ จุดเกิดเหตุ
ปัจจุบันได้มีเครื่องมือสำหรับวินิจฉัยโรคที่มีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย และพกพาได้ ซึ่งช่วยให้พยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น การวัดค่าต่างๆในร่างกายและชีพจร จะใช้เวลาลดลงจนเหลือเพียงไม่กี่นาที และอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น เครื่อง Ultrasound, เครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ(ECG) หรือการทดสอบในห้องทดลอง จะเป็นเพียงอดีต
เนื่องจากในปัจจุบัน เราสามารถพกเครื่องมือต่างๆสำหรับการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยได้ในกระเป๋าเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถแชร์ข้อมูลจากการวินิจฉัยโรคทางออนไลน์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์คนอื่นๆ ในการวินิจฉัยให้ละเอียดขึ้นต่อไป ทำให้ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพมากขึ้น ในกรณีดังกล่าว พยาบาลสามารถแชร์ผลตรวจและส่งให้หมอเพื่อวินิจฉัยละเอียดขึ้นได้โดยง่าย
ตัวอย่าง เช่นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 พยาบาลสามารถตรวจดูสัญญาณชีพของผู้ป่วยผ่านทางเครื่อง Viatom Checkme Pro และฟังเสียงปอดได้จากเครื่อง Eko Care และข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถส่งไปถึงแพทย์ได้ด้วย เพื่อตรวจดูอาการของผู้ป่วย และให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง หากมีค่าที่ผิดปกติ
นอกจากนี้เครื่อง Ultrasound แบบพกพาได้ เช่น Philips Lumify และ Clarius สามารถช่วยให้พยาบาลสามารถตรวจผู้ป่วยได้ ณ จุดเกิดเหตุ โดยพยาบาลที่ได้รับการฝึกฝนมา จะสามารถคำนวณถึงปริมาณของของเหลวในช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มปอดและหลอดเลือด ในผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวายได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาขับปัสสาวะทันเวลา
6. การใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการประเมินความเสี่ยง
ปัญญาประดิษฐ์(A.I.) มีประสิทธิภาพมากมายในการช่วยเหลืองานต่างๆในโรงพยาบาลและลดอาการไม่สนใจเสียงแจ้งเตือนจากผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพยาบาลเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างเช่น นักวิจัยจาก Duke University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สาธิตการนำ A.I. มาช่วยเหลืองานทางด้านพยาบาล โดยพวกเขาได้สร้างโปรแกรมสำหรับตรวจสอบการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกายขึ้น ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยประเมินความเสี่ยงในการติดเชื้อของคนไข้ และทำการแจ้งเตือนบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังช่วยแนะนำขั้นตอนในการดูแลผู้ป่วยอาการหนักในช่วง 3 ชั่วโมงแรก ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
นอกจากนี้ A.I. ยังได้เข้ามาช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในด้านการตอบสนองต่อเสียงแจ้งเตือนภายในโรงพยาบาลเช่นกัน โดยเฉลี่ยบุคลากรทางการแพทย์จะได้ยินเสียงแจ้งเตือนจากผู้ป่วยกว่า 187 ครั้งต่อผู้ป่วย 1 เตียง ต่อวัน ซึ่งมีทั้งการแจ้งเตือนที่มีอาการฉุกเฉินจริงๆและการแจ้งเตือนที่เป็นอาการแบบไม่ฉุกเฉิน โดยส่วนใหญ่ประมาณ 72% - 99% จะเป็นการแจ้งเตือนแบบไม่ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์เพิกเฉยต่อสัญญาณเรียกดังกล่าว และอาจทำให้พลาดการไปดูแลรักษาผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงๆ
ในปี 2019 นักวิจัยได้ใช้ A.I. ในการลดสัญญาณแจ้งเตือนที่มาจากผู้ดูแลผู้ป่วยกว่า 99.3% ซึ่งจะช่วยให้พยาบาลสามารถหันมาสนใจกับกรณีผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และต้องการการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วนจริงๆเท่านั้น
7. Virtual reality ในด้านการศึกษา
เทคโนโลยี Virtual Reality(VR) ได้ถูกนำมาใช้ในด้านการศึกษาหลายๆด้าน เช่น การแพทย์, การผ่าตัด, จิตเวช รวมถึง การพยาบาล เป็นต้น
โดยในด้านการพยาบาล เทคโนโลยี VR จะเข้ามาช่วยฝึกฝนทักษะของพยาบาล ซึ่งจากแบบสำรวจพบว่า มีการนำเทคโนโลยี VR มาใช้ในด้านการศึกษาของพยาบาลแล้วกว่า 65% ตัวอย่างเช่น Robert Morris University ได้พัฒนาเกม VR เพื่อช่วยฝึกฝนนักศึกษาพยาบาลในการสอดสายสวนในท่อปัสสาวะ ซึ่งพยาบาลที่ผ่านการฝึกจากเกม VR สามารถพัฒนาทักษะได้พอๆกับพยาบาลที่ฝึกจากแบบจำลอง
ส่วนที่ University of Nevada, Reno นักศึกษาพยาบาลได้ใช้เทคโนโลยี VR ในการศึกษาแบบจำลองของสถานการณ์จริงที่หมอและพยาบาลต้องดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจไม่ได้พบเจอในระหว่างการเรียน
อีกทั้งที่ University of New England และ University of Michigan ได้ใช้เทคโนโลยี VR ในการจำลองให้นักศึกษาพยาบาลได้ฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วยและการสื่อสารกับผู้ป่วย
8. เทคโนโลยีใหม่ๆสำหรับการรักษาโดยการใช้ยา
ก่อนที่จะทำการจ่ายยาให้ผู้ป่วย 1 คน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องประเมิน ทำให้มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในด้านนี้ เช่น Chatbot, หุ่นยนต์, ยาดิจิตัล
ปัจจุบัน Chatbot ได้ถูกนำมาใช้ในด้านการแพทย์แล้ว เช่น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 chatbot ได้เข้ามาช่วยประเมินอาการเสี่ยงของผู้ป่วย รวมถึงได้เข้ามาช่วยงานด้านการพยาบาลมากมาย เช่น Florence เป็น chatbot ที่เข้ามาช่วยเตือนผู้ป่วยให้ทานยาให้ตรงเวลา ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อผู้สูงอายุ
นอกเหนือจาก chatbot ก็ได้มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยงานด้านการพยาบาล โดยบริษัท Catalia Health ได้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการจัดยาขึ้นมา รวมถึงหุ่นยนต์ Mabu ที่ช่วยเตือนผู้ป่วยให้ทานยาให้ตรงเวลาและให้คำปรึกษาด้านข้อมูลทางด้านสุขภาพอีกด้วย
อีกทั้งยังมีการใช้ยาดิจิตัล โดยบริษัท etectRx และ บริษัท SIGUEMED ได้พัฒนายาดิจิตัล ขึ้นมา เพื่อให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนักวิจัยได้แสดงให้เห็นถึง การใช้ยาดิจิตัลในผู้ป่วยที่เป็นโรควัณโรค และได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีขึ้น
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันหลายๆคนจะกลัวว่า หุ่นยนต์และ A.I. จะเข้ามาแย่งงานของบุคลากรทางการแพทย์ แต่จากสถิติพบว่า งานพยาบาลยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากงานด้านการพยาบาลต้องมีการใช้ทักษะในด้านอารมณ์และความดูแลเอาใจใส่ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์และ A.I. ยังไม่สามารถทำได้ในอนาคตเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้น จะเข้ามาช่วยงานด้านการพยาบาลในอนาคตอย่างแน่นอน ซึ่งจะช่วยให้พยาบาลมีเวลามากขึ้น ในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ
References:
โฆษณา