13 ก.ค. 2022 เวลา 09:00 • ประวัติศาสตร์
วันนี้ในอดีต - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 : การปะทะกันของฝรั่งเศสและสยามบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า "วิกฤตการณ์ปากน้ำ"
นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ชาติตะวันตกต่างก็พยายามขยายอำนาจเข้ายึดครองดินแดนในแถบอินโดจีนมากขึ้น โดยความสัมพันธ์ระหว่างสยามและฝรั่งเศสเริ่มมีความตึงเครียดนับตั้งแต่สงครามปราบฮ่อในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ฝรั่งเศสอ้างว่าสยามได้รุกล้ำเข้าไปในเขตปกครองของญวนซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจฝรั่งเศส
13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436
ความขัดแย้งในครั้งนี้ยุติลงเมื่อสยามและฝรั่งเศสได้ลงนามในสัญญาที่ต่างฝ่ายต่างถอยทัพกลับไปยังจุดของตน และจะไม่ล่วงล้ำดินแดนจนกว่ารัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันได้
สยามมองว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่จะทำแผนที่เขตแดนให้ชัดเจน จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาชาวอังกฤษเข้ามาดำเนินงาน แต่เพราะยังตกลงกับทางฝรั่งเศสไม่ได้ การปักปันดินแดนจึงยังไม่เกิดขึ้น
ทหารสยามในลาว (พ.ศ. 2436)
ภายหลังฝรั่งเศสมีท่าทีที่แข็งกร้าวในเรื่องของเขตแดนมากขึ้น จึงได้ส่งเรือลูแตง (Lutin) เข้ามาจอดทอดสมอในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าสถานทูตฝรั่งเศสเพื่อแสดงแสนยานุภาพ และเรียกร้องให้รัฐบาลสยามยอมรับว่าเขตดินแดนญวนนั้นจรดมาถึงฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง แต่สยามคัดค้านคำร้องขอนี้
สยามได้เชิญทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมรับเงื่อนไขและได้แจ้งว่าจะนำเรืออีก 2 ลำ คือเรือแองกองสตอง (Inconstant) และเรือโกแมต (Comète) เข้ามาสมทบ
เรือลูแตง (Lutin) และเรือแองกองสตอง (Inconstant) หน้าสถานทูตฝรั่งเศส
ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาชลยุทธโยธินทร์ว่าจะมีเรือรบฝรั่งเศสเข้ามายังพระนคร ให้เตรียมการรับมือและมีพระบรมราชานุญาตให้ทำการยิงตอบโต้ได้
ช่วงเช้าของวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำพร้อมเรือนำร่องได้เล่นเข้ามายังบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดการปะทะกันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ส่งผลให้ทหารสยามสูญเสีย 8 นาย และฝรั่งเศสสูญเสีย 3 นาย โดยเรือทั้งสองลำได้รับความเสียหายแต่ก็สามารถแล่นต่อไปจนถึงที่หมาย
ทหารสยามยิงปืนใหญ่เข้าใส่เรือรบฝรั่งเศส
เหตุการณ์นี้เป็นจุดแตกหักในความสัมพันธ์ระหว่างสยามและฝรั่งเศสจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ที่เป็นผลให้สยามจำต้องสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเกาะแก่งในแม่น้ำทั้งหมดให้กับฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
เครดิตภาพ
  • รูปประกอบทั้งหมดภายใต้สัญญาอนุญาตสมบัติสาธารณะ (Public Domain)
อ้างอิง
  • 1.
    พีรพล สงนุ้ย, "วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 : ศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์", กองวิชาประวัติศาสตร์, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, 2550
  • 2.
    ไกรฤกษ์ นานา. (2553), "วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112", สารคดี, ปีที่ 26 ฉบับที่ 308
โฆษณา