24 ก.ค. 2022 เวลา 05:00 • การตลาด
นโยบายความมั่นคงด้านอาหารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
หลังจากองค์การสหประชาชาติได้ประกาศ Sustainable Development Goal 2 : SDG 2 หรือ “เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป้าหมายที่ 2 เพื่อยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ก็ได้เปิดตัว National Food Security Strategy ในปี 2561 เพื่อดูแลความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการซึ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชากรในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีโภชนาการในปริมาณที่เพียงพอ
สนับสนุนให้มีระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร ความสมดุลของระบบนิเวศ ความมั่นคงของฐานทรัพยากร และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการเตรียมความ พร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร และ เผชิญกับกรณีฉุกเฉินและภาวะวิกฤต
ทั้งนี้ ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารของยูเออีนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่จำกัดหลายประการ ยูเออีมีพื้นที่เพาะปลูก การเกษตรเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น และในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เกษตรกรรม ทั้งหมดลดลงร้อยละ 3 ต่อปี เนื่องจากความเสื่อมโทรมของดินและการแปรสภาพ เป็นทะเลทราย ทำให้การสินค้าอาหารของยูเออีขึ้นอยู่กับการนำเข้าเป็นหลัก (กว่าร้อยละ 90)
ซึ่งการพึ่งพาการนำเข้าอาหารมากเกินไปทำให้เกิดห่วงโซ่ อุปทานที่เปราะบางและผันผวน มีแนวโน้มที่จะหยุดชะงักได้ทุกเวลา เช่น ในช่วง การระบาดของโควิด-19 ในระยะแรกเมื่อปี 2563 ยูเออีนำเข้าเนื้อสัตว์จาก อินเดียลดลง 85% มีการขาดแคลนน้ำมันพืช ธัญพืชบางชนิด และปลาซาร์ดีน กระป๋อง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยูเออีมีปริมาณขยะอาหาร (Food waste) ซึ่งเป็นอาหารที่บริโภคไม่หมดและเหลือทิ้งในอัตราสูงโดย มีขยะอาหารคิดเป็นร้อยละ 38 ของปริมาณทั้งหมดต่อคนต่อวัน
ดังนั้น ในแง่ของทรัพยากรที่ลดลง การมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นโจทย์สำคัญว่ายูเออีจะบรรลุความมั่นคงด้านอาหารได้อย่างไร ซึ่งนักวิจัยพบว่าการที่ความมั่นคงด้านอาหารของ ประเทศจะมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จะต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างองค์ประกอบหลักทั้งห่วงโซ่อุปทาน และมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบและการประยุกต์ใช้นวัตกรรม
การผลิตอาหารภายในประเทศด้วยนวัตกรรม
ยูเออีกำลังดำเนินการเพื่อส่งเสริมความสามารถในการผลิตอาหารภายในประเทศอย่างแข็งขัน รวมถึงปฏิรูปการ ทำเกษตรสมัยใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อ ผู้บริโภค รวมทั้งการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในท้องถิ่น ส่งเสริมการผลิตในท้องถิ่น ผ่านเทคนิคการปลูกทางเลือก และการแปลงห่วงโซ่อุปทานให้เป็นดิจิทัล ผ่านเงินช่วยเหลือหรือเงินทุนสำหรับ start-ups
เมื่อปี 2563 หน่วยงานลงทุนของอาบูดาบี (Abu Dhabi Investment Office: ADIO) ได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี การเกษตร 7 แห่ง เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมถึงสิ่งอํานวยความสะดวกในการดําเนินงาน และพัฒนาโครงการที่ทันสมัยใหม่ในยูเออี โดยได้มอบเงินจํานวน 545 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเร่งสร้างโอกาสให้กับนักลงทุนในภาคส่วนนี้
นอกจากนี้ รัฐดูไบได้สร้างศูนย์เฉพาะสําหรับอาหารและสินค้าเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีสะอาดแห่งอนาคต เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติ และรัฐบาลยูเออียังได้เปิดศูนย์ International Center for Biosaline Agriculture (ICBA) เพื่อวิจัยและพัฒนาโซลูชั่นเทคโนโลยีการเกษตรที่ช่วยผลิตอาหารในท้องถิ่น ประหยัดทรัพยากรที่หายากและปกป้องสิ่งแวดล้อม
โดยในปี 2561 ได้ร่วมมือกับบริษัทสตาร์ตอัพสัญชาตินอร์เวย์ Desert Control คิดค้น Liquid nano clay ซึ่งทำจากอนุภาคดินขนาดจิ๋วผสมกับน้ำมีคุณสมบัติช่วย ประสานอนุภาคทรายไว้ด้วยกัน ทำให้ทรายสามารถเก็บกักน้ำและสารอาหารเอาไว้ได้ จึงมีสภาพเหมาะสมสำหรับการ เพาะปลูกพืชผลต่าง ๆ นวัตกรรมนี้ช่วยให้ดินที่แห้งแล้งมีสภาพพร้อมที่จะใช้ปลูกพืชได้ภายในเวลารวดเร็ว
บริษัท Merlin Agrotunnel ตั้งอยู่ใน Sharjah Research Technology and Innovation Park (SRTI Park) รัฐชาร์จาห์ของยูเออี ทำฟาร์มระบบอควาโปนิกส์ (Aquaponics) ใช้พื้นที่ 150 ตารางเมตร ปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน โดยใช้ น้ำหมุนเวียนจากการเลี้ยงปลาและไม่มีการปล่อยน้ำเสียไปเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม น้ำที่ใช้มาจากการกลั่นน้ำทะเลมา เป็นน้ำจืดโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อีกทั้งยังช่วยให้เพิ่มขีดความสามารถในการนำทรัพยากรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างสูงสุด ขณะนี้ได้ผลผักออร์แกนิก 1 ตันต่อเดือน
จากภัยคุกคามด้านอาหารที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น สำหรับประเทศในตะวันออกกลางนั้นนอกจากยูเออีที่ให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าวอย่าง ชัดเจนแล้วนั้น ประเทศซาอุดิอาระเบียก็กําลังดําเนินการอย่างแข็งขันเพื่อพัฒนาปัจจัยหลักสนับสนุนสร้างระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จเช่นกัน
ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “Vision 2030” เพื่อเตรียมพร้อม สำหรับ “อนาคตใหม่ของประเทศ” ส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประเทศเป็นอิสระจากน้ำมัน รวมทั้งยังสร้างงานใหม่ๆ ซึ่งจะปฏิรูปประเทศไปสู่ทิศทางใหม่ในหลายๆด้าน โดยเฉพาะให้ความสำคัญภาคกสิกรรมเพื่อ ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตอาหารหลักของโลกที่มีความเชี่ยวชาญและความพร้อมด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตร จึงอาจพิจารณาโอกาสดังกล่าวในการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคนี้ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อตอบโจทย์นโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารดังกล่าว ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือในระยะยาวที่สามารถต่อยอดนำไปสู่การขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันต่อไป
โฆษณา