12 ก.ค. 2022 เวลา 11:50 • การเกษตร
ไทยจะสามารถผลิต ปุ๋ยเคมี ได้เองหรือไม่ ?
2
71% คืออัตราที่เพิ่มขึ้นของมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทำให้มูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีในปีนี้ อาจทะลุ 100,000 ล้านบาท
ซึ่งจะส่งผลกระทบมาสู่ค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่จะเพิ่มขึ้น และทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนกว่า 90%
นำมาสู่คำถามที่ว่า หากประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีด้วยตัวเอง
ประเทศของเรามีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อย่างที่เรารู้กันดีว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และส่งออกผลิตผลทางการเกษตรหลายชนิดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน
เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้ปุ๋ยเคมี เป็นตัวช่วยเพื่อเพิ่มผลผลิตให้งอกงาม
ธาตุอาหารหลักที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช ประกอบไปด้วย 3 ชนิด คือ N P K หรือธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
พืชจะเจริญเติบโตได้ดี ก็ต่อเมื่อในดินมีแร่ธาตุเหล่านี้อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์
แต่ดินส่วนใหญ่บนโลก มีแร่ธาตุเหล่านี้อยู่น้อยมาก เกษตรกรจึงจำเป็นต้องเติมปุ๋ยเคมีลงไปในดิน
เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรเจริญงอกงาม
ซึ่งปุ๋ยเคมีที่สำคัญก็คือ ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสฟอรัส และปุ๋ยโพแทสเซียม
ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมี คิดเป็นสัดส่วนราว 90% ของปุ๋ยเคมีที่ใช้ในประเทศ
โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมี คิดเป็นมูลค่า 44,000 ล้านบาท
ประเทศที่ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1
1. จีน มูลค่า 6,850 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16%
2. ซาอุดีอาระเบีย มูลค่า 6,809 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15%
3. รัสเซีย มูลค่า 4,842 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11%
4. มาเลเซีย มูลค่า 3,841 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9%
5. แคนาดา มูลค่า 3,705 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8%
2
โดยสัดส่วนของปุ๋ยที่นำเข้า จะประกอบไปด้วย
ปุ๋ยเชิงเดี่ยว หรือปุ๋ยที่มีธาตุอาหารเพียงชนิดเดียว เป็นสัดส่วนราว 56%
และปุ๋ยผสม ที่ประกอบไปด้วยธาตุอาหารหลายชนิด เป็นสัดส่วน 44%
ในสัดส่วนของปุ๋ยเชิงเดี่ยว ที่ไทยต้องนำเข้า 56% ประกอบไปด้วย
ปุ๋ยไนโตรเจน สัดส่วนราว 44% ของปุ๋ยที่นำเข้าทั้งหมด
และปุ๋ยโพแทสเซียม สัดส่วนราว 12%
ส่วนปุ๋ยฟอสฟอรัส ซึ่งมีที่มาจากแร่ฟอสเฟต ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตได้เอง
เนื่องจากแร่ฟอสเฟตมักเกิดจากการสะสมของมูลสัตว์ในบริเวณเขาหินปูน
ซึ่งจะพบได้มากบริเวณภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศ
ทำให้การนำเข้าปุ๋ยฟอสฟอรัสมีสัดส่วนเพียง 0.1% ของการนำเข้าปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
ดังนั้น หากจะพัฒนาอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีด้วยตัวเอง
หมายความว่า ไทยจะต้องผลิตปุ๋ยไนโตรเจน และปุ๋ยโพแทสเซียมให้ได้
1
เริ่มจากปุ๋ยไนโตรเจน..
ปุ๋ยไนโตรเจนเป็นผลิตผลของก๊าซธรรมชาติ และราคาที่สูงขึ้นมากในช่วงเวลานี้ มีสาเหตุหลักมาจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนรายใหญ่ของโลก เพราะเป็นประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติมากที่สุด
กระบวนการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน มีสารตั้งต้นมาจากการผลิตแอมโมเนีย ซึ่งเกิดจากการที่
ก๊าซไนโตรเจน ทำปฏิกิริยากับก๊าซไฮโดรเจน
ซึ่งก็เป็นก๊าซไฮโดรเจนนี้เอง ที่นำมาจากการเผาไหม้ของก๊าซธรรมชาติ เช่น ก๊าซมีเทน
ประเทศที่ส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนเป็นหลักของโลก จึงเป็นประเทศที่มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองอย่างมหาศาล เช่น รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ หรือประเทศแถบตะวันออกกลาง
1
ไทยนำเข้าปุ๋ยไนโตรเจน เป็นสัดส่วน 44%
โดยมีบริษัทนำเข้าหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ NFC
หรือชื่อเดิมคือ บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด เป็นผู้นำในการนำเข้าแอมโมเนีย
เพื่อมาผสมเป็นปุ๋ยเคมีสูตรผสมขายให้แก่เกษตรกรในประเทศ
2
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ และมีอุตสาหกรรมโรงแยกก๊าซเป็นของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ก๊าซธรรมชาติสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่น ที่เพิ่มมูลค่าได้มากกว่า เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี สารตั้งต้นพลาสติก หรือนำก๊าซไปบรรจุเป็นก๊าซสำหรับยานยนต์ หรือ NGV
1
นั่นทำให้ก๊าซธรรมชาติของไทย ถูกนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งให้มูลค่ามากกว่าการนำมาทำปุ๋ยเคมี
2
เมื่อปุ๋ยไนโตรเจนไม่คุ้มค่าพอ ทางออกของอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในประเทศไทยจึงมาอยู่ที่
“ปุ๋ยโพแทสเซียม”..
2
ปุ๋ยโพแทสเซียมผลิตจากแร่โพแทช ซึ่งมักพบรวมกันกับเกลือหิน หรือ Rock Salt
ประเทศที่ส่งออกปุ๋ยโพแทสเซียมมากที่สุดในโลกคือ แคนาดา
ส่วนประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าปุ๋ยโพแทสเซียม ประมาณปีละ 0.7 ล้านตัน
คิดเป็นมูลค่าราว 8,000-10,000 ล้านบาทต่อปี
2
สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทชอยู่ใต้ดินประมาณ 400,000 ล้านตัน
ซึ่งพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา และสกลนคร โดยเฉพาะในจังหวัดอุดรธานี ที่มีแร่ซิลไวต์ ซึ่งเป็นแร่โพแทชคุณภาพดี เหมาะที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ยโพแทสเซียม
1
ปัจจุบันมีเหมืองโพแทช 2 โครงการ ที่ได้รับอนุมัติประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรม
คือ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา
กับบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ
และมีอีก 1 โครงการที่จังหวัดอุดรธานี อยู่ระหว่างการรออนุมัติประทานบัตร
ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่คาดการณ์ว่าจะสามารถสกัดโพแทสเซียมคลอไรด์ได้ถึง 2 ล้านตันต่อปี
3
อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองโพแทช ก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม จนเกิดการคัดค้านมายาวนาน
โดยเฉพาะการปนเปื้อนแร่โพแทชในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งน้ำใต้ดิน และน้ำบนดิน ทำให้แหล่งน้ำในบริเวณนั้น ไม่สามารถนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชน และการทำเกษตรกรรมในละแวกใกล้เคียง
2
การขุดเจาะเหมือง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินทรุด รวมไปถึงเหมืองโพแทชยังต้องใช้น้ำในปริมาณมาก ซึ่งจะมาแย่งน้ำกับชุมชนใกล้เคียงในการทำเกษตรกรรม
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า การจัดตั้งเหมืองแร่โพแทช ต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมปุ๋ยโพแทสเซียม จะมีความคุ้มค่าเพียงพอกับความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อมหรือไม่
ซึ่งหากประเทศไทยสามารถผลิตแร่โพแทชได้เอง ก็จะช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยโพแทสเซียมได้ปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการธุรกิจปุ๋ยเคมีของไทยก็สามารถพัฒนาจนกลายเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยโพแทสเซียมได้
 
สิ่งสำคัญคือการลดต้นทุนของเกษตรกร ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรของไทยถูกลง
สามารถส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น และยังเพิ่มความมั่นคงในห่วงโซ่ของภาคเกษตรกรรม
1
ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อนี้ จะส่งผลต่อราคาปุ๋ยเคมีไปอีกนานแค่ไหน แต่ในเวลานี้ เกษตรกรทั่วประเทศกำลังรับภาระค่าปุ๋ยที่สูงขึ้นมาก ซึ่งภาระนี้ก็จะถูกส่งต่อมาสู่ราคาผลิตผลทางการเกษตร ในอีกไม่นานนี้..
1
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
1
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา