13 ก.ค. 2022 เวลา 00:58 • ท่องเที่ยว
นำเกร็ดมุขปาฐะเล็กๆ น้อยๆ มาเล่าให้ฟัง จะได้เห็นเบื้องหลังการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟขุนตาน ว่าต้องฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามอะไรมาบ้าง ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา
อุโมงค์รถไฟขุนตานคือ นอกจากจะมีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย และสร้างบนที่สูงที่สุดในประเทศไทยแล้ว ยังต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานที่สุดอีกด้วย คือนานถึง 14 ปี
ถือเป็นทางรถไฟสายวิบากยากเข็ญที่สุดในตำนานการรถไฟไทยก็ว่าได้ ซึ่งคงไม่ง่ายนักสำหรับเทคโนโลยีอันจำกัดของชาวสยามเมื่อยุค 100 ปีก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงต้องจ้างวิศวกรชาวเยอรมันนามว่า “เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์” มาควบคุมและวางแผนการก่อสร้าง
คนในท้องถิ่นเรียกเขาย่อๆ ว่า “โฮเฟอร์” บุรุษผู้มีความรักในแผ่นดินขุนตานอย่างสุดซึ้ง
สงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2482 เขาเคยถูกส่งตัวกลับประเทศเยอรมนีไปแล้ว ในฐานะที่ไทยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร แต่เมื่อสิ้นสุดสงคราม ปี 2488 เขายังอุตส่าห์เดินทางกลับมาใช้ชีวิตที่แม่ทาอีกครั้ง ปัจจุบันอัฐิของเขายังคงสถิตในอนุสาวรีย์เล็กๆ อยู่ ณ ปากอุโมงค์ขุนตานทางด้านทิศเหนือ เขตแม่ทา ลำพูนด้วย
การก่อสร้างอุโมงค์มาราธอนนี้ มีขึ้นระหว่างปลายรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 7 คือเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2450 ไปเสร็จสิ้นในปี 2464 ถือเป็นทางรถไฟสามแผ่นดิน
ความยากเข็ญในการก่อสร้างคือต้องทะลวงภูเขาอันทึบตัน โดยไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน อุปกรณ์หลักมีเพียง ค้อน สิ่ว เสียม ชะแลง พลั่ว ต้องใช้แรงคนเป็นส่วนใหญ่ ใช้เวลาขุดเจาะกันนานถึง 8 ปี จึงทะลุถึงปลายทาง
ปริมาณหินที่ได้จากการขุดเจาะมากกว่า 60,000 ลูกบาศก์เมตร ถูกขนออกมาถมลำห้วยปากถ้ำจนกลายเป็นที่ตั้งของตัวสถานีรถไฟขุนตานที่ราบเรียบในปัจจุบัน
แรงงานก่อสร้างต่อจากขั้นตอนการขุดเจาะคือการผูกเหล็กและเทคอนกรีต กรรมกรในขั้นตอนหลังนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ (มักถูกเรียกอย่างเหยียดหยามว่าเงี้ยว) และคนอีสาน เนื่องจากยุคนั้นมีทางรถไฟสายกรุงเทพ-โคราชแล้ว ทำให้แรงงานอีสานหลั่งไหลเข้ามาสมัครทำงานเพื่อแลกค่าตัวไปไถ่อิสรภาพให้พ้นจากความเป็นทาส
การเลิกทาสแม้จะมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่สำหรับชนบทรอบนอกดังเช่นมณฑลพายัพนั้นเพิ่งจะเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยการออก “พระราชบัญญัติลักษณะทาษศก 124” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2455 เป็นต้นไป
ผลของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทำให้ทาสที่มีอยู่จะลดค่าตัวลงเดือนละ 4 บาท จนหมดค่าตัว และค่อยๆ หมดไป เห็นได้ว่า ปี 2455 เป็นปีเดียวกันกับที่เริ่มต้นเอาแรงงานทาสมาสร้างอุโมงค์ขุนตาน
ในขณะที่ขั้นตอนการขุดเจาะช่องภูเขาในอุโมงค์ต้องใช้กรรมกรชาวจีน และไม่ใช่ชาวจีนธรรมดา หากแต่ต้องเป็นจีนติดฝิ่นเท่านั้น!
การจ้างแรงงานฝิ่นครั้งนี้มิได้ทำไปด้วยความชื่นชอบ แต่เพราะความจำเป็นด้วยไม่มีทางเลือกอื่น เหตุที่คนสูบฝิ่นนั้นจะมีธรรมชาติพิเศษ นั่นคือมีความอดทนทรหดต่อการขาดอากาศหายใจได้นาน ไม่ต้องพึ่งพาอ็อกซิเจนในปริมาณที่มากเท่ากับคนปกติธรรมดา จึงสามารถทำงานในอุโมงค์ได้นานถึงวันละ 8 ชั่วโมง
ควบคู่ไปกับ “หน้าฉาก” ที่มีการจัดตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นเพื่อเยียวยาจิตใจแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ แต่หลังฉากนั้น ไอเซนโฮเฟอร์ได้ติดต่อกับรัฐบาลสยามให้จัดส่ง “ฝิ่น” มาจำหน่ายแก่แรงงานอย่างเปิดเผย โดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย เพื่อให้แรงงานไม่ต้องพะว้าพะวังว่าจะไม่มีฝิ่นสูบ แล้วหันเข้าหาการพนันแทน
เพื่อสะดวกแก่การขนเศษหินออกและเพื่อระบายอากาศ เมื่อตกถึงกลางคืนมีการแจกโคมไฟให้กรรมกร 2 คนต่อโคม 1 ดวง เรียกว่า “โคมเป็ด” มีลักษณะเป็นเครื่องมืออัดลมสั่งตรงมาจากเยอรมนี สำหรับช่วยดูดควันพิษออกมา และช่วยสูบน้ำเข้าไปในอุโมงค์ให้คนงานใช้อาบลดอุณหภูมิความร้อนอีกโสดหนึ่งด้วย
โคมเป็ดมีรูปร่างคล้ายเป็ด แต่ไม่มีหัว-ไม่มีขา คอเป็ดมีรูใส่ไส้ตะเกียงยื่นออกมา บนหลังมีห่วงเพื่อให้ลวดหรือเชือกร้อยได้ ใช้แขวน-หิ้วได้ เชื้อเพลิงที่ใช้คือน้ำมันก๊าดผสมน้ำมันมะพร้าว เมื่อกรรมกรเจาะลึกเข้าไปในถ้ำมากขึ้น การขนเศษหินดินก็ไม่สะดวกตามไปด้วย เมื่อกรรมกรอยู่ในอุโมงค์เป็นจำนวนมาก การใช้โคมก็มากตามไปด้วย ทำให้อากาศมีน้อย มีการตั้งเครื่องเป่าอากาศที่ปากอุโมงค์ ถ้าหากตอนใดที่อุโมงค์ไม่หนาก็จะเจาะปล่องทะลุขึ้นไปบนหลังเขา
วิธีแก้ไขเรื่องอากาศไม่พอหายใจในอุโมงค์ ทำได้ด้วยการขุดปล่องทะลุถึงตอนบนหลายๆ ปล่อง แล้วใช้ไม้ตีประกบกันเป็นรูปโรงสีไฟ จากนั้นก็ขนเศษไม้ฟืนจุดไฟในอุโมงค์เพื่อไล่อากาศอับทึบออกไปตอนบน และปล่องก็จะดูดอากาศเข้ามาถ่ายเท ทำให้คนงานสามารถเจาะอุโมงค์ได้ลึกไปเรื่อยๆ
การขุดเจาะดำเนินตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันทุกเดือน เป็นเวลาถึง 8 ปี กว่าที่อุโมงค์มาบรรจบกันระหว่างฝั่งลำปางกับลำพูน
กว่าอุโมงค์จักสำเร็จ โครงการนี้ต้องสังเวยแรงงานทาส แรงงานฝิ่นไปหลายร้อยศพ โดยเฉพาะกลุ่มของกรรมกรฝิ่นที่ยอมอุทิศตน เหตุเพราะกรรมกรอื่นๆ ไม่ยอมเสี่ยงตายเข้าไปทำงานในอุโมงค์
สิ่งที่ถือว่าเป็นการเอาเปรียบแรงงานทางชนชั้นก็คือ หากกรรมกรฝิ่นไม่ยอมทำงาน พวกเขาก็จะต้องทนทรมานตัวเองด้วยการไม่มีฝิ่นสูบ เพราะก่อนที่จะเข้าอุโมงค์ในแต่ละผลัด เจ้าหน้าที่รัฐจะให้กรรมกรยืนรอเบิกฝิ่นที่จะจ่ายให้คนละหลอดพร้อมด้วยเทียนไข และอีกครั้งหนึ่งจ่ายในเวลาเย็น ทุกครั้งที่มีการเบิกฝิ่นก็จะหักเงินค่าแรงงานจากบัญชีของแรงงานผู้นั้น ส่วนฝิ่นที่ได้ก็มาจากการส่งส่วยของชาวบ้านแถบลำพูน-ลำปางในละแวกนั้นเอง
ครั้นอุโมงค์สร้างเสร็จ กลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือเมืองลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ กลับรู้สึกไม่ค่อยพอใจนัก เพราะมันย่อมหมายถึง การขนไม้สักลงไปเพื่อส่งส่วยรัฐบาลสยามก็จักสะดวกดายยิ่งขึ้น ทางรถไฟสายนี้จึงไม่ต่างอะไรไปจาก “โบกี้ไม้ซุง”
ประเทศไทยกำลังจะมีนโยบายโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ยุคนี้คงไม่ต้องเหนื่อยยากหลอกล่อกรรมกรให้ต้องสูบฝิ่นเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว
โฆษณา