13 ก.ค. 2022 เวลา 16:38 • กีฬา
สนามไหนดีนะ ? : รวมสนามฟุตบอลย่านอาเซียนที่น่าจัดฟุตบอลโลก 2034 | Main Stand
ความฝันที่ชาติย่านอาเซียนจะรวมตัวจัดศึกมหกรรมฟุตบอลโลกคงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป หลังจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 เมื่อปี 2018 เห็นพ้องให้อาเซียนร่วมกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034 โดยมี 5 ชาติจับมือกัน ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย และ เวียดนาม แม้ว่าฟุตบอลโลกในอีก 12 ปีข้างหน้าจะมีคู่แข่งร่วมเสนอเป็นเจ้าภาพอีกมากมาย เช่น จีน ออสเตรเลีย และไนจีเรีย
อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แม้จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และสำหรับฟุตบอลโลกประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจะต้องมีสนามผ่านมาตรฐานของ ฟีฟ่า ไม่ต่ำกว่า 10 สนาม รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัย การคมนาคม ที่พัก ระบบอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี ฯลฯ
และสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการแข่งขันฟุตบอลอย่างสนามนั้น ฟีฟ่า ระบุไว้ว่าสนามนัดเปิดและนัดชิงฯ จะต้องมีความจุเริ่มต้นที่ 80,000 ที่นั่ง สนามรอบแบ่งกลุ่มเริ่มต้นที่ 40,000 ที่นั่ง และรอบรองชนะเลิศต้องมีความจุขั้นต่ำ 60,000 ที่นั่ง โดยที่ 1 เมืองมีได้แค่ 1 สนามแข่งเท่านั้น
1
ถัดจากสนามแข่งขันยังมีเรื่องของการคมนาคมและที่พัก โดยเจ้าภาพฟุตบอลโลกจะต้องมีโรงแรมไม่ต่ำกว่า 1,700-8,000 ห้อง มีแคมป์ฝึกซ้อมในละแวกไม่ไกลจากที่พักให้กับแต่ละทีมที่มาเข้าแข่งขันครบ 48 ทีม รวมถึงมีสนามบินที่รับรองผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 1,450 คนต่อชั่วโมง
ที่กล่าวมาขั้นต้นนี้ Main Stand ขอพาทุกคนไปรู้จักกับสนามฟุตบอลในย่านอาเซียนที่ดูทรงแล้วว่าจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้อย่างสบาย ๆ
บูกิต จาลิล - มาเลเซีย
ประเดิมสนามแรกด้วยประเทศที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียอย่าง มาเลเซีย เราขอเปิดตัวด้วยสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของเอเชียในปัจจุบันอย่าง สนามกีฬาแห่งชาติมาเลเซีย หรือ บูกิต จาลิล ที่มาพร้อมกับความจุ 87,411 ที่นั่ง ซึ่งสามารถจัดการแข่งขันนัดเปิดและนัดปิดได้อย่างไม่มีปัญหา
นอกจากความจุแล้วการเดินทางมายังสนามนี้ก็ถือว่าค่อนข้างสะดวกพอตัว เพราะมีรถไฟฟ้าแอลอาร์ทีสายสีน้ำตาลกัวลาลัมเปอร์ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์มาลงถึงสถานี บูกิต จาลิล ในระยะทางราว ๆ 47 กิโลเมตรได้ และยังมีถนนหลวงที่สามารถเดินทางมาถึงสนามได้อีก 4 เส้นด้วยกัน
แม้ว่าสนามแห่งนี้จะมีห้องรับรอง VIP ห้องประชุม ลานจอดรถที่กว้างขวาง และไฟสนามเป็น LED ทั้งหมด แต่ความสว่างกลับมีแค่ 1,500 ลักซ์ ซึ่งต่ำกว่าที่ ฟีฟ่า ระบุไว้ว่าต้องมีขั้นต่ำ 2,000 ลักซ์ ทำให้ไฟสนามยังเป็นส่วนที่ต้องปรับปรุงไปพร้อมกับหญ้าในสนามที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนจากหญ้าแบบ Lawn (หญ้าจัดสวน) ไปเป็นหญ้าแบบ Zeon สายพันธุ์ Zoysia ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับหญ้ามะนิลา
จาการ์ตา เนชั่นแนล สเตเดียม - อินโดนีเซีย
สนามใหม่แกะกล่องที่กำลังจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ของประเทศอินโดนีเซีย อย่างสนาม จาการ์ตา เนชั่นแนล สเตเดียม ซึ่งจะเข้ามาเป็นสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่แทนที่ เกโลราบุงการ์โน ที่เปิดใช้มาอย่างยาวนาน โดยสนามนี้มาพร้อมกับความจุถึง 82,000 คน และเป็น 1 ใน 3 สนามของย่านอาเซียนที่มีความจุเกิน 80,000 ที่นั่ง
เรื่องการเดินทางไม่ต้องเป็นห่วง เพราะรถไฟชานเมืองสายสีชมพูของกรุงจาการ์ตาเตรียมเปิดสถานีสำหรับสนามนี้เพิ่มเติม โดยในอนาคตยังจะมีบริการรถประจำทางสายด่วนจาก 3 เส้นทางในกรุงจาการ์ตามาลงที่สนามนี้อีกด้วย ซึ่งระบบคมนาคมของสนามแห่งนี้กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา
ส่วนตัวอาคาร บอกได้เลยว่านี่คือสุดยอดสนามระดับโลกเลยก็ว่าได้ เพราะสังเวียนแข้งแห่งนี้มีความสูงถึง 73 เมตร มีระบบปรับอากาศภายในและหลังคาสนามพับเปิดปิดได้แบบสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ อีกทั้งยอดดาดฟ้าของสนามจะเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในส่วนจุดชมวิวเพื่อชมทัศนียภาพของกรุงจาการ์ตา
นอกจากนี้พื้นหญ้าสนามจะใช้หญ้าไฮบริดล้วนซึ่งรวมถึงสนามซ้อมขนาดมาตรฐานกลางแจ้งอีก 2 สนามที่อยู่ข้างนอกสนามหลักด้วย อีกทั้งบริเวณรอบสนามจะถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เรียกได้ว่าถ้าทำได้ครบจริงที่นี่คงจะเป็นสนามที่ดีที่สุดในเอเชียเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของ จาการ์ตา เนชั่นแนล สเตเดียม ที่มองเห็นชัดเจนคือสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ในเขตตันจุง ปร็อก หนึ่งในย่านที่แออัดที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา และเป็นหนึ่งใน 5 ท่าเรือหลักของเมืองหลวง อีกทั้งย่านนี้ยังนี้ยังเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำซุนเตอร์และใกล้กับชายทะเลซึ่งมีความต่ำที่ทำให้พบกับปัญหาน้ำท่วมค่อนข้างบ่อย
เกโลราบุงการ์โน (เสนายัน) - อินโดนีเซีย
หากพูดถึงสนามฟุตบอลย่านอาเซียนแล้วคงขาดสนามนี้ไปไม่ได้นั่นคือ เกโลราบุงการ์โน หนึ่งในสนามเก่าแก่ที่สุดของอาเซียนที่เปิดตัวในปี 1962 หรือเมื่อ 62 ปีที่แล้ว ซึ่งมาพร้อมกับความจุในปัจจุบันถึง 77,193 คน และเป็นสนามที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของอาเซียนและอันดับ 11 ของเอเชีย
1
ด้านคุณภาพของสนามไม่ต้องกล่าวให้มาก เพราะพื้นหญ้าสนามเป็นหญ้า Zeon Zoysia ที่มีผิวใบค่อนข้างเล็ก และไฟสนามที่เป็น LED ทั้งหมด รวมถึงพื้นที่บริเวณสนามที่เป็นสปอร์ตคอมเพล็กซ์ก็ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามและเป็นจุดเช็คอินยอดนิยมใจกลางกรุงจาการ์ตา และก็ไม่ต้องกังวลกับอันตรายใด ๆ เพราะบริเวณโดยรอบของสถานที่นี้ติดตั้งกล้อง CCTV ครอบคลุมอย่างทั่วถึง
เนื่องจากเป็นสนามที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงทำให้การเดินทางนั้นสะดวกสุด ๆ เพราะสเตเดียมแห่งนี้มีสถานีรถไฟเร็ว 1 สถานี และบริการรถประจำทางด่วนถึง 3 สาย ซึ่งระยะทาง 28 กิโลเมตรจากสนามบินนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา มายังสนามเสนายันนั้นก็ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สนามแห่งนี้เหนือกว่าสนามอื่นนอกจากความสะดวกสบายแล้ว รอบ ๆ สนามยังมีโรงแรมขนาดใหญ่ให้บริการอีกถึง 4 โรงแรมด้วยกัน
ชาห์ อลัม - มาเลเซีย
สนามฟุตบอลที่มีสมญานามว่า "ยักษ์แดง" อันมาจากชุดเหย้าของสโมสรสลังงอร์ ที่ใช้สนามแห่งนี้เป็นสังเวียนฟาดแข้งในลีกสูงสุดของประเทศมาเลเซีย มาพร้อมกับความจุ 80,372 ที่นั่ง มากสุดเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนและอันดับ 6 ของเอเชีย
แม้จะมีความจุที่สูงลิ่วแต่ทว่าสนามแห่งนี้จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงอย่างมโหฬารหากหวังจะใช้จัดฟุตบอลโลก 2034 เนื่องด้วยสิ่งก่อสร้างและสภาพแวดล้อมของสนามนั้นค่อนข้างเก่ามากและแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่เปิดใช้งานเมื่อปี 1994 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ทำให้เรื่องความปลอดภัยของสนามจำเป็นต้องทำการยกเครื่องใหม่ ส่วนสิ่งที่แย่ที่สุดของสนามคงต้องยกให้กับพื้นหญ้าซึ่งเป็นหญ้าแบบ Lawn (หญ้าจัดสวน) ที่ใบใหญ่และทำให้บอลเดินทางกับพื้นช้า
2
ส่วนเรื่องการคมนาคมนั้น มีรถไฟเร็วสายสีฟ้ากัวลาลัมเปอร์เดินทางมาลงสนาม 1 สถานี แต่ทว่าในส่วนของที่จอดรถจะจุได้เพียง 5,500 คันเท่านั้น โดยปัจจุบันสนาม ชาห์ อลัม อยู่ในการดูแลของรัฐสลังงอร์
สุลต่าน อิบราฮิม สเตเดียม - มาเลเซีย
อีกหนึ่งสนามใหม่ป้ายแดงที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2020 อย่าง สุลต่าน อิบราฮิม สเตเดียม รังเหย้าใหม่ของสโมสร ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม เป็นสนามที่มีความจุ 40,000 ที่นั่ง โดยคอนเซ็ปต์ของสนามนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากใบตองจากต้นกล้วย และมีไฮไลท์ของสนามอยู่ที่ไฟ LED รอบสนามที่ชวนให้นึกถึง อลิอันซ์ อารีน่า ของ บาเยิร์น มิวนิค
1
แม้สนามจะตั้งอยู่นอกตัวเมืองยะโฮร์ซึ่งต้องเดินทางด้วยรถยนต์เท่านั้น แต่ก็ถูกทดแทนด้วยความไฮเทคของสนามที่ไม่ต่างกับสเตเดียมชั้นนำของทวีปยุโรปโดยเฉพาะชั้น VIP ที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกแบบเต็มพิกัด มีแม้กระทั่งสระว่ายน้ำและร้านค้าสุดหรู
เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากความปลอดภัยจากกล้อง CCTV รอบสนามแล้ว เก้าอี้ที่ติดตั้งทั้งหมดในสนามแห่งนี้ยังใช้มาตรฐานเดียวกับ ฟีฟ่า รวมถึงหญ้าสนามที่เป็นหญ้าไฮบริดที่มาพร้อมกับระบบระบายน้ำใต้ดินทำให้แม้ว่าฝนจะตกหนักน้ำก็จะไม่ท่วมเลยแม้แต่นิดเดียว
สิงคโปร์ เนชั่นแนล สเตเดียม - สิงคโปร์
ด้วยขนาดพื้นที่ของประเทศสิงคโปร์ที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้การสร้างสนามฟุตบอลขนาดยักษ์ทำได้ยาก ดังนั้นสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์จึงกลายเป็นสนามฟุตบอลระดับเมกกะเพียงแห่งเดียวของประเทศไปโดยปริยายด้วยความจุ 55,000 ที่นั่ง
เรื่องความยิ่งใหญ่ของสนามนี้ต่างก็มีชื่อเสียงดังไปทั่วโลกในฐานะสนามฟุตบอลที่มีหลังคาเปิด-ปิดได้ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งใช้เวลาเปิด-ปิด 25 นาที นอกจากนี้พื้นสนามยังมาพร้อมกับหญ้าไฮบริด Desso GrassMaster และระบบรักษาความปลอดภัยที่ยอดเยี่ยมจากกล้อง CCTV รอบสนามประกอบกับเส้นทางเข้าออกอัฒจันทร์ที่เป็นระเบียบไม่ซับซ้อน
ความหรูหราของสนามยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะนี่คือสนามแห่งเดียวในย่านอาเซียนที่มีห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ และภัตตาคาร อย่างไรก็ดีบริเวณรอบสนามไม่มีโรงแรมใกล้เคียงและทำให้แฟนบอลต้องเดินทางจากแหล่งที่ตั้งโรงแรมซึ่งห่างไปจากสนามราว 1.2-1.8 กิโลเมตร โดยสามารถเดินทางมาด้วยรถไฟใต้ดินมาลงยังสถานีของสนามได้เลย
นอกจากนี้แฟนบอลยังสามารถเลือกลงสถานีใกล้สนามอย่าง กัลลัง, เมาท์แบทเทิล และ ต่านจง ซึ่งใช้เวลาเดินเท้ามายังสนามราว ๆ 10 นาทีเท่านั้น และถ้าไม่ใช้รถไฟใต้ดินก็ยังมีรถประจำทางผ่านอีก 6 สายด้วยกัน
มรดก เตโช - กัมพูชา
แม้ว่าประเทศกัมพูชาจะไม่ร่วมลงขันเป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก 2034 กับ ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และ สิงคโปร์ แต่ทว่าสนามกีฬาแห่งชาติ มรดก เตโช ที่ตั้งอยู่ทางชานเมืองของกรุงพนมเปญนั้นจุผู้ชมได้มากถึง 75,000 ที่นั่ง ส่งให้สนามแห่งนี้มีความจุมากที่สุดอันดับ 5 ของอาเซียน และอันดับ 12 ของเอเชีย โดยสนามแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ 2023 และเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
1
อย่างไรก็ตามถึงจะเป็นสนามกีฬาแห่งชาติกัมพูชาแต่กลับได้รับการก่อสร้างจากบริษัท ไชน่าสเตท คอนสตรัคชั่นแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน ตลอดจนได้ทุนสร้างจากรัฐบาลจีน 1.1 พันล้านหยวน (ราว 5.7 พันล้านบาท) ซึ่งมาพร้อมกับวิศวกรและแรงงานก่อสร้างชาวจีนจำนวนมาก
เรื่องการออกแบบ สนามถูกออกแบบให้คล้ายกับเรือใบเพื่อรำลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับจีน โดยมีหัวเรือใบอยู่ที่ฝั่งหลังโกลสูง 99 เมตรเป็นจุดเด่นสะดุดตา ส่วนความสูงจากพื้นดินถึงหลังคาอยู่ที่ 39.9 เมตร ซึ่งตัวสนามล้อมรอบด้วยคูน้ำที่ถูกขุดขึ้น
และเนื่องด้วยสนามถูกสร้างขึ้นนอกตัวเมืองทำให้ต้องเดินทางออกจากกรุงพนมเปญด้วยรถยนต์หรือจักรยานยนต์เท่านั้น อีกทั้งสภาพแวดล้อมนอกสนามยังห่างไกลความเจริญอย่างมาก และยังไม่รวมถึงสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่ต้องก่อสร้างเพิ่มเติมต่อไป
เกิ่นเทอ สเตเดียม - เวียดนาม
หลายคนอาจไม่คุ้นกับสนามนี้ของประเทศเวียดนาม เนื่องจากยังไม่เคยถูกใช้จัดการแข่งขันระดับนานาชาติเลย ทั้ง ๆ ที่ เกิ่นเทอ สเตเดียม เป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามด้วยความจุ 60,000 ที่นั่ง
1
แม้สนามจะตั้งอยู่ใจกลางเมืองเกิ่นเทอ เมืองใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ ที่มีสนามบินนานาชาติห่างจากสนามแค่ 10 กิโลเมตร และตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเหิ่ว มาพร้อมด้วยโรงแรมระดับ 4 ดาวอยู่ใกล้ ๆ แต่ก็ไม่เคยถูกเสนอให้ใช้จัดแข่นขันกีฬาใด ๆ มากไปกว่าเป็นรังเหย้าของ เกิ่นเทอ เอฟซี ในลีกดิวิชั่น 2 ของเวียดนาม และจัดแข่งรถจักรยานยนต์ทางเรียบในท้องถิ่น
แม้สนามจะใหญ่โตแต่ทว่าสนามไม่ได้รับการติดเก้าอี้ในฝั่งหลังโกล รวมถึงระบบขนส่งที่มีรถประจำทางผ่านสายเดียว ทำให้สนามเดียวที่เวียดนามจะจัดฟุตบอลโลกได้คงหนีไม่พ้น หมี ดิ่ญ สเตเดียม
สนามกีฬาแห่งชาติ หมี ดิ่ญ - เวียดนาม
สนามกีฬา หมี ดิ่ญ กับฟุตบอลเวียดนามเป็นของคู่กันแบบที่ใคร ๆ ก็ต้องนึกถึง แม้จะเป็นสนามที่มีความจุใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ แต่มันก็เป็นสนามเดียวที่ติดเก้าอี้ครบทุกที่นั่งและผ่านมาตรฐานการแข่งขันระดับนานาชาติ โดย หมี ดิ่ญ สามารถจุผู้ชมบนอัฒจันทร์ได้ 40,192 ที่นั่ง แขก VIP 450 ที่นั่ง และสื่อมวลชน 160 ที่นั่ง
แม้สนามจะเล็กแต่ทว่าความได้เปรียบอยู่ที่ หมี ดิ่ญ ตั้งอยู่ในเขตตื่อเลียม ใจกลางกรุงฮานอย ทำให้ความสะดวกสบายค่อนข้างครบ ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬาในร่มและกลางแจ้งจำนวนมากที่ตั้งรายล้อม รวมถึงมีโรงแรม 4 ดาวกับ 5 ดาว ให้บริการใกล้สนามชนิดที่ว่าเดินมาไม่นานก็ถึงแล้ว อย่างไรก็ตามระบบขนส่งของสนาม หมี ดิ่ญ มีเพียงแค่รถประจำทาง 4 สายผ่านเท่านั้น และไม่มีไฟฟ้าหรือรถด่วนใด ๆ เลย ทำให้นี่อาจเป็นจุดด้อยที่สำคัญ
และเนื่องด้วยชาวเวียดนามนิยมเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ ทำให้สนามแห่งนี้ไม่มีลานจอดรถยนต์ขนาดใหญ่ทำให้การจอดรถเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แม้ว่า หมี ดิ่ญ จะขึ้นชื่อในเรื่องของแฟนบอลที่แน่นสนามและห้อง VIP อันโดดเด่นก็ตามที
ราชมังคลากีฬาสถาน - ไทย
เป็นสนามที่ขาดไปไม่ได้ถ้าประเทศไทยอยากเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 เพราะราชมังคลากีฬาสถานเป็นสนามเดียวในประเทศไทยที่ผ่านการแข่งขันระดับนานาชาติของฟีฟ่าได้ ด้วยความจุทั้งหมด 51,552 ที่นั่ง ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 55 ของโลก และเป็นอันดับ 17 ของทวีปเอเชีย
เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามไม่ต้องเป็นห่วง เพราะได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ให้เทียบเท่าสนามมาตรฐานระดับโลกเพื่อรองรับเกมอุ่นเครื่องระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พบ ลิเวอร์พูล ในเดือนกรกฎาคม 2022 ที่ประกอบไปด้วย ห้องรับรองแขก VIP, ระบบน้ำ, ระบบไฟ, อัฒจันทร์, ห้องแต่งตัว, ห้องสื่อมวลชน รวมไปถึงพื้นหญ้า ที่บอกได้เลยว่าเรียบและนุ่มสุด ๆ
นอกจากนี้ยังมีโรงแรมทั้งเล็กและใหญ่ให้บริการกว่า 109 แห่ง ซึ่งระยะทางก็ไม่ได้ไกลมากแต่ทว่าบริเวณสนามราชมังฯ อย่างถนนรามคำแหงหรือสุขาภิบาล 3 นั้นกลับขึ้นชื่อเรื่องการจราจรที่ติดขัดระดับแน่นหนา แต่ก็ยังสามารถเดินทางมาด้วยขนส่งสาธารณะด้วยรถประจำทาง 16 สาย, แอร์พอร์ตลิงก์ 2 สถานี, เรือด่วนคลองแสนแสบ อีกทั้งกำลังจะมีรถไฟฟ้า MRT สายสีส้มเปิดให้บริการถึงสนามในปี 2027
อย่างไรก็ตามถึงราชมังคลาฯ จะตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุง แต่ที่ตั้งของสนาม ณ เขตบางกะปิกลับมีความหนาแน่นของประชากรอยู่ที่ 5,148 คน/ตร.กม. (อ้างอิงจากข้อมูลปี 2018) ซึ่งเรียกได้ว่ามีความอึดอัดอยู่พอตัว นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลของเรื่องปลอดภัยถ้าหากฟีฟ่าเดินทางมาตรวจสนามจริง ๆ
สนามกีฬาติณสูลานนท์ - ไทย
รังเหย้าปัจจุบันของ สงขลา เอฟซี เป็นสนามที่มีความจุมากสุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ติดเก้าอี้ครบ 45,000 ที่นั่ง ซึ่งสนามชื่อดังแดนใต้แห่งนี้เคยถูกใช้จัดมหกรรมกีฬาระดับประเทศและระดับนานาชาติมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น กีฬาแห่งชาติ 2017, เอเชียนเกมส์ 1998 หรือ ฟุตบอล AFC U-23 ในปี 2020 โดยจัดแข่งเกมรอบแบ่งกลุ่มไป 5 นัด
สนามแห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2038 หรือ 27 ปีที่แล้ว เดิมทีนั้นการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของสนามจนถึงปี พ.ศ. 2557 ก็ได้โอนมาให้ อบจ.สงขลา เป็นผู้ดูแล พร้อมทำการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่ใช้งบประมาณร่วม 200 ล้านบาทในการปรับปรุง โดยเพิ่มความจุสนามจาก 35,000 ที่นั่งเป็น 45,000 ที่นั่ง
ตัวสนามผ่านการรับรองจาก AFC อย่างแน่นอนแล้วหลังจากเคยจัดศึก AFC U-23 เมื่อ 2 ปีก่อน อีกทั้งสนามยังมีจุดเด่นอยู่ที่การใกล้กับริมทะเลและสถานที่ท่องเที่ยวในตัวเทศบาลเมืองสงขลาจำนวนมาก และยังมีโรงแรมให้บริการใกล้สนามอีกราว 21 แห่ง รวมถึงสนามบินที่ห่างไปไม่ถึง 10 กิโลเมตร ซึ่งถ้าหากสนามติณสูลานนท์ได้ใช้จัดศึกฟุตบอลโลกขึ้นมาจริง ๆ คงกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้ได้ไม่ใช่น้อย
1
โฆษณา