Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วันนี้ในอดีต Today in History
•
ติดตาม
14 ก.ค. 2022 เวลา 03:11 • ประวัติศาสตร์
วันนี้ในอดีต - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 : การปลงพระชนม์พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 และพระบรมวงศานุวงศ์ สิ้นสุดระบอบกษัตริย์ในประเทศอิรัก
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพเศรษฐกิจตกต่ำเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศในตะวันออกกลางอย่างอิรักที่นอกจากจะต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องรับมือกับการคืบคลานของลัทธิคอมมิวนิสต์และกระแสต่อต้านชาติตะวันตกที่แผ่ขยายไปทั่วภูมิภาค
14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501
เมื่อระบอบกษัตริย์ในอียิปต์ถูกล้มล้างและการขึ้นมามีอำนาจของประธานาธิบดีญะมาล อับเดล นัสเซอร์ แห่งอียิปต์ที่มีแนวคิดต่อต้านจักวรรดินิยม เขาต้องการให้ชาติอาหรับรวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจตามแนวคิดแพนอาหรับ (Pan-Arab) ก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชนทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอิรัก
การขยายอำนาจของลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามายังโลกอาหรับในช่วงสงครามเย็น ทำให้กลุ่มประเทศบางส่วนอันประกอบไปด้วย อิรัก อิหร่าน ปากีสถาน และตุรกี ภายใต้การสนับสนุนของสหราชอาณาจักร ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาแบกแดดเพื่อขัดขวางการรุกคืบของสหภาพโซเวียต สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำให้ประชาชนอิรักมองว่ารัฐบาลของตนมีใจฝักใฝ่กับมหาอำนาจตะวันตก
5
ซ้ำร้ายสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นที่ย่ำแย่ ความร่ำรวยที่กระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม จนเกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนำและประชาชน ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ล้วนสร้างความคับแค้นใจให้กับประชาชนชาวอิรักเป็นอย่างยิ่ง
ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2501 รัฐบาลอียิปต์และซีเรียได้จับมือกันจัดตั้งสหสาธารณรัฐอาหรับ (United Arab Republic; UAR) เพื่อเป็นก้าวแรกตามแนวคิดแพนอาหรับ การร่วมมือกันในครั้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวอิรักในการเคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาลและระบอบกษัตริย์ที่ถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดของชาติตะวันตก
พิธีลงนามจัดตั้งสหสาธารณรัฐอาหรับระหว่างอียิปต์และซีเรีย
สองสัปดาห์หลังความร่วมมือกันของอียิปต์และซีเรีย รัฐบาลอิรักได้ตอบโต้ด้วยการจับมือกับรัฐบาลจอร์แดนซึ่งเป็นพระญาติของพระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 แห่งอิรัก ก่อตั้งเป็นสหพันธรัฐอาหรับ (Arab Federation) ขึ้นมาเพื่อคานอำนาจ แต่การรวมตัวในครั้งนี้ก็มีอายุเพียงไม่นาน
พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 แห่งอิรัก (ซ้าย) และ สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดน (ขวา)
สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดนได้ขอความช่วยเหลือทางทหารมายังรัฐบาลอิรักในวิกฤตการณ์เลบานอน กองทัพอิรักที่นำโดยนายพลอับดุล อัล-การิม กอซิม ที่จะต้องเดินทางไปยังจอร์แดน กลับหันทัพบุกเข้ามายังกรุงแบกแดดเพื่อปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาล
คณะรัฐประหาร นำโดยนายพลอับดุล อัล-การิม กอซิม (กลาง)
ช่วงเช้าของวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 แห่งอิรัก มีพระราชบัญชาที่จะยอมจำนนเพื่อไม่ให้เกิดการต่อสู้นองเลือดระหว่างชาวอิรักด้วยกันเอง แต่นายทหารอับดุล ซัตตาร์ ซาบา อัล-อิโบซี ที่นำกำลังบุกเข้าพระราชวัง กลับทำการสังหารพระเจ้าฟัยศ็อลและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์อย่างโหดเหี้ยม เป็นอันสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ในประเทศอิรัก
💡รู้หรือไม่ : เจ้าหญิงบาดิยา บินต์ อาลี พระปิตุจฉา (ป้า) ของพระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 เป็นพระญาติพระองค์เดียวที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ โดยพระองค์ได้รับความช่วยเหลือให้ประทับในสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ณ กรุงแบกแดด ก่อนจะเสด็จไปพำนักที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนวาระสุดท้าย
รูปประกอบทั้งหมดภายใต้สัญญาอนุญาตสมบัติสาธารณะ (Public Domain)
อ้างอิง
1.
Association for Diplomatic Studies & Training (ADST), "The Iraqi Revolution of 1958",
https://tinyurl.com/2p8uy7zd
, (30 พฤษภาคม 2565)
2.
Britannica, "The Republic of Iraq",
https://tinyurl.com/mr3shnyx
, (30 พฤษภาคม 2565)
3.
Wikipedia, "Faisal II of Iraq",
https://tinyurl.com/2e9amm3w
, (30 พฤษภาคม 2565)
4.
Wikipedia, "14 July Revolution",
https://tinyurl.com/566un8bn
, (30 พฤษภาคม 2565)
ประวัติศาสตร์
อิรัก
5 บันทึก
9
3
1
5
9
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย