15 ก.ค. 2022 เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้เท่าทัน พร้อมรับมือกับธนบัตรปลอม
ธนบัตรปลอม ผู้ร้ายของระบบเงินตรา ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกกันว่า “แบงก์ปลอม” เกิดขึ้นนับตั้งแต่เริ่มออกใช้ธนบัตรแบบแรกได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น และในระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา จากธนบัตรแบบแรกจนถึงแบบปัจจุบัน (แบบ 17) มีการหลอกลวงใช้ธนบัตรปลอมเกิดขึ้นเป็นระยะ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสายออกบัตรธนาคารในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและบริหารจัดการธนบัตรไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการติดตามปัญหาธนบัตรปลอมที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างใกล้ชิด และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบธนบัตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ พร้อมกับมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของธนบัตรให้มีเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ
สถานการณ์การระบาดของธนบัตรปลอม
ธปท. มีการติดตามสถิติธนบัตรปลอมในระบบเศรษฐกิจแต่ละปี พบว่ามีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ โดยในปี 2564 พบธนบัตรปลอมน้อยกว่า 1 ฉบับต่อธนบัตรที่ออกใช้หมุนเวียน 1 ล้านฉบับ ชนิดราคาที่พบมากที่สุดคือ 1000 บาท แบบ 17 รองลงมาคือชนิดราคา 100 บาท แบบ 17 ซึ่งนับเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการพบธนบัตรปลอมในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ธนบัตรปลอมที่ตรวจพบส่วนใหญ่เป็นการปลอมแบบคุณภาพต่ำ หากตรวจสอบให้ดีก่อนรับจะสามารถสังเกตและแยกแยะได้ทันที เนื่องจากจุดสังเกตบนธนบัตรคือลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้และยังตรวจสอบได้โดยง่าย ข่าวการได้รับธนบัตรปลอมจึงมักเกิดจากความผิดพลาดที่ไม่ได้ตรวจสอบในทันทีที่รับเงิน
หากพลาดพลั้งได้รับธนบัตรปลอมต้องทำอย่างไร
แม้ว่าโอกาสที่เราจะได้รับธนบัตรปลอมจะมีน้อยมาก แต่หากสงสัยว่าธนบัตรที่ได้รับมาเป็นธนบัตรปลอม
สิ่งที่ควรทำและจำให้ขึ้นใจคือ ไม่นำไปใช้ต่อโดยเด็ดขาด เพราะจะกลายเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง แนะนำให้นำธนบัตรฉบับนั้นไปติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารช่วยตรวจสอบ บางทีอาจโชคดีเป็นเพียงธนบัตรชำรุดที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นธนบัตรปลอม เราก็ไม่ต้องเสียทรัพย์ แต่หากพบว่าเป็นธนบัตรปลอมก็ส่งมอบให้ธนาคารยึดไว้ เพื่อนำส่งให้ ธปท. ต่อไป
โทษการปลอมแปลงธนบัตรและนำออกใช้
ภาพประชาสัมพันธ์ที่ ธปท. เผยแพร่ความรู้เรื่องโทษการปลอมแปลงในเพจธนบัตรทุกเรื่อง
สังเกตอย่างไร ไม่เป็นเหยื่อธนบัตรปลอม
2
วิธีการที่ดีที่สุดที่ช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ คือการสังเกตก่อนรับธนบัตร ซึ่งสามารถตรวจสอบด้วยตนเองได้ง่าย ๆ 3 วิธี คือ การสัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง และควรสังเกตมากกว่า 3 จุดขึ้นไป เพื่อเพิ่มความมั่นใจ
สัมผัสลวดลายด้านหน้าธนบัตรจะรู้สึกนูนสะดุดมือ
ยกธนบัตรส่องกับแสง เพื่อดูลายน้ำหรือภาพเงาที่ชัดเจน หรือช่องใสที่มองเห็นทะลุทั้งสองด้าน
พลิกเอียงธนบัตรไปมา เพื่อดูแถบสีและลายดอกประดิษฐ์ ที่เคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสีได้
  • สัมผัสลวดลายด้านหน้าธนบัตรจะรู้สึกนูนสะดุดมือ
  • ยกธนบัตรส่องกับแสง เพื่อดูลายน้ำหรือภาพเงาที่ชัดเจน หรือช่องใสที่มองเห็นทะลุทั้งสองด้าน
  • พลิกเอียงธนบัตรไปมา เพื่อดูแถบสีและลายดอกประดิษฐ์ ที่เคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสีได้
ธปท. กับการให้ความรู้เรื่องธนบัตรอย่างต่อเนื่อง
ในการรับมือกับปัญหาธนบัตรปลอม ธปท. ตระหนักดีว่า การให้ความรู้เรื่องธนบัตรจะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญสำหรับคนไทย จึงมีการกำหนดแผนการเสริมสร้างความรู้เรื่องธนบัตรให้แก่ประชาชน ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด มีการออกแบบกิจกรรมหรือโครงการให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลาย เช่น การจัดโครงการรณรงค์ต่อต้านธนบัตรปลอมเชิงรุกสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2548 เพื่อนำความรู้ไปขยายผลต่อในโรงเรียนและชุมชน
โครงการรักษ์ธนบัตรไทยสำหรับประชาชนทั่วไป เมื่อปี 2553 เพื่อรู้รักษาธนบัตรให้สภาพดี มีอายุการใช้งานนานขึ้น การจัดหลักสูตรอบรม "ธนบัตรน่ารู้" ให้กับเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของสถาบันการเงินและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 และจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี การบรรยายให้ความรู้ด้านธนบัตรแก่กลุ่มนักเรียนนักศึกษา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน การออกบูทนิทรรศการให้ข้อมูลความรู้เรื่องธนบัตรในงานกิจกรรมและเทศกาลต่าง ๆ รวมถึงการผลิตสื่อความรู้หลากหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับประชาชนด้วย
ส่วนกรณีที่พบข่าวการใช้ธนบัตรปลอมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ธปท. จะมีทีมงานลงพื้นที่ในแหล่งที่พบธนบัตรปลอม เพื่อไปแนะนำความรู้ในการสังเกตธนบัตรให้แก่ชุมชนใกล้เคียง พร้อมทั้งประสานงานขอความอนุเคราะห์หน่วยงานราชการในพื้นที่นั้น ๆ ช่วยประชาสัมพันธ์ความรู้ผ่านช่องทางและผู้นำของชุมชนด้วย
การลงพื้นที่ในแหล่งที่พบธนบัตรปลอม พร้อมให้ความรู้ในการสังเกตธนบัตรแก่ประชาชน
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมให้กลุ่มคนมารวมตัวกันได้ ธปท. จึงปรับรูปแบบให้เน้นกิจกรรมออนไลน์มากขึ้น ตามความเหมาะสมของกลุ่มเป้าหมาย เช่น หลักสูตรอบรม "ธนบัตรน่ารู้" ที่จัดอย่างต่อเนื่องให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินและผู้ปฏิบัติงานด้านเงินสด
ได้ปรับมาเป็นการอบรมแบบออนไลน์ และการแนะนำการตรวจสอบธนบัตรให้กับกลุ่มประชาชนทั่วไป ผ่าน Facebook Live ในเพจของ ธปท. ชื่อ "ธนบัตรทุกเรื่อง" ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบนี้ทำให้เข้าถึงหน่วยงานและประชาชนได้อย่างสม่ำเสมอ และครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้นด้วย
การจัดหลักสูตรอบรม "ธนบัตรน่ารู้" ให้กับเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของสถาบันการเงินและหน่วยงานต่าง ๆ
แม้ว่าสถิติการพบธนบัตรปลอมจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่การทำให้ตัวเลขนี้ลดน้อยลงอีกยังคงเป็นหน้าที่และความท้าทายที่ ธปท. จะมุ่งดำเนินการต่อไป ด้วยการผลิตธนบัตรที่ยากต่อการปลอมแปลงและให้ความรู้ประชาชนในการตรวจสอบธนบัตร รวมถึงการตามติดข่าวเพื่อให้รู้เท่าทันธนบัตรปลอมในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการ และประสานงานส่วนราชการในพื้นที่ในการให้ความรู้แก่ประชาชนต่อไป
โฆษณา