Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ประวัติศาสตร์อิสลาม - التاريخ الإسلامي
•
ติดตาม
20 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَـٰنِ الرَّحِيمِ
วันพุธ ที่ 20 เดือนซุ้ลฮิจยะห์ ฮ.ศ. 1443
ฮิจญ์เราะฮ์ กับการรังสรรค์สังคมสันติภาพ
นับเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ หากสังคมมุสลิมตื่นตัวเพียงแค่ศึกษา “ประวัติฮิจญ์เราะฮฺ” ตลอดจน “การต้อนรับฮิจญ์เราะฮฺเป็นเทศกาลประจำปี”
แต่บางส่วนของแนวคิด ,จุดยืน ,พฤติกรรม ,การปฏิบัติ รวมถึงการแสดงออกของสังคมมุสลิมยังสวนทางกับบทบัญญัติอันแท้จริงของเอกองค์อัลลอฮ์ ซบ.
ภาพ : เส้นทางตลอดการฮิจเราะห์
: ความนำ :
“ฮิจญ์เราะฮฺ” ตามความหมายด้านภาษาแล้ว หมายถึง การย้ายถิ่นฐานหรือการอพยพ
“ฮิจญ์เราะฮฺ” อาจสื่อความหมายด้านนามธรรม ซึ่งหมายถึง การไม่ให้ความสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ,การละเลยไม่สนใจใยดี หรือการละทิ้งพฤติกรรมที่ไม่ดีสู่พฤติกรรมที่ดี
ส่วนความหมายตามหลักวิชาการแล้วคือ การอพยพของท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. และเหล่าบรรดาเศาะหาบะฮฺจากนครมักกะฮฺ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดสู่นครมะดีนะฮฺ นครรัฐแห่งแรกในอิสลาม
เนื่องจากถูกกดขี่ทรมานและถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมและปฏิบัติตามบัญญัติทางศาสนา ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติธรรมและแสดงตนตามความเชื่อศรัทธาของตนเองได้อย่างอิสระและเสรี
ในห้วงประวัติศาสตร์ของท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. มีเหตุการณ์ที่สำคัญมากมายที่ควรแก่การจดจำ อาทิ
ปีกำเนิดและเสียชีวิตของท่านนบี ,ปีที่ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสนทูต ,ปีแห่งการประทานอัลกุรอาน ,ปีแห่งการอิสรออ์และมิอฺรอจ(การเดินทางช่วงกลางคืนของท่านนบีจากเมืองมักกะฮฺสู่มัสยิดอัล-อักศอ ณ เมืองปาเลสไตน์ และจากมัสยิดอัล-อักศอสู่ฟ้าชั้นเจ็ดตลอดจนการรับคำสั่งจากอัลลอฮฺโดยตรงในหลักศาสนบัญญัติที่ว่าด้วยการละหมาด โดยที่ภารกิจดังกล่าวได้เสร็จสิ้นภายในคืนเดียวเท่านั้น)
ปีแห่งสงครามบัดรฺ หรือแม้แต่ปีแห่งการเปิดเมืองมักกะฮฺ
ซึ่งเป็น “วันแห่งการประกาศชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในอิสลาม”
เหตุการณ์ดังกล่าว ล้วนเป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีบทบาทและอิทธิพลอันใหญ่หลวงต่อการเผยแผ่อิสลามและวิถีชีวิตมุสลิมในทุกยุคทุกสมัย
แต่มุสลิมสมัยการปกครองของท่านค่อลีฟะห์อุมัร บินค็อฏฏอบ รฎ. ได้พร้อมใจกันเลือก “เหตุการณ์ฮิจญ์เราะฮฺ” เป็นจุดเริ่มต้นของการนับปฏิทินอิสลาม
เพื่อให้มุสลิมได้รำลึกถึงเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่นี้ในทุกอณูการดำเนินชีวิตของมุสลิม
ประวัติศาสตร์มีไว้เพื่อเป็นบทเรียน ผู้ใดที่ศึกษาประวัติศาสตร์และเก็บรักษาเพียงแต่ในพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ โดยที่ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นบทเรียนแล้ว
แท้จริง การศึกษาของเขาก็เปล่าประโยชน์ และไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง
: สาเหตุการ “ฮิจญ์เราะฮฺ” ของท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. :
การที่ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. ตัดสินใจออกคำสั่งให้บรรดาศอฮาบะห์อพยพสู่นครมะดีนะฮฺนั้น มีสาเหตุหลัก 3 ประการด้วยกัน คือ
: การที่มุสลิมไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา พวกเขาถูกกดขี่ข่มเหงจากชาวมักกะฮฺอย่างไร้มนุษยธรรม
ถือเป็นยุคที่ชาวมุสลิมได้รับความเดือดร้อนและประสบความยากลำบากมากที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการเสียชีวิตของท่านอบูฏอลิบ (อาของท่านนบี) และท่านหญิงค่อดีญะฮฺ รฎ. (ภรรยาของท่านนบี)
ซึ่งสมัยที่ทั้งสองท่านยังมีชีวิตอยู่ ปรียบเสมือนเสาหลักที่คอยปกป้องและคุ้มครองท่านนบีอยู่ตลอดเวลา
ในช่วงเริ่มต้นการเผยแพร่อิสลามของท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. นั้น
แต่กระนั้น ท่านนบียังต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆนานาด้วยความอดทน เสียสละ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ให้บทเรียนอันล้ำค่าว่า
“ภัยคุกคามภายนอกที่เป็นการทรมานทางร่างกายและจิตใจที่สร้างความสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สิน
“ไม่สามารถ” สั่นคลอนความศรัทธาอันมั่นคงและความตั้งใจอันแน่วแน่ได้เลยแม้แต่น้อย”
เกี่ยวกับบทบาทของท่านอบูฏอลิบต่อการปกป้องการเผยแผ่อิสลามแล้ว ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. ได้กล่าวไว้ความว่า
“ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ชาวกุเรชไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้แก่ฉันได้เลย เว้นแต่หลังจากการเสียชีวิตของ ท่านอบู ฎอลิบ”
สำหรับท่านหญิงค่อดีญะฮฺ รฎ.แล้ว ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. เคยกล่าวถึงนางว่า
“นางได้ศรัทธาในคำสอนของฉัน ในขณะที่คนอื่นพากันปฏิเสธ
นางได้เชื่อคำบอกกล่าวของฉัน ในขณะที่คนอื่นหันหลังอย่างไม่ใยดี
นางได้ช่วยเหลือฉันด้วยทรัพย์สมบัติของนาง ในขณะที่คนอื่นไม่ให้การสนับสนุนเลย
และนางได้กำเนิดลูกให้แก่ฉัน ในขณะที่ภรรยาคนอื่นไม่ให้กำเนิดลูกแก่ฉันเลย”
นักประวัติศาสตร์ได้เรียกปีที่ทั้งสองท่านเสียชีวิตเป็น “ปีแห่งความเศร้าโศก” (ปีที่ 10 หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสนทูตของท่านนบี)
: ผลพวงแห่งการทำสัตยาบัน อัล-อะเกาะบะฮฺ ครั้งแรกและครั้งที่สอง
ระหว่างท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. และชาวยัษริบ (ชื่อเดิมของนครมะดีนะฮฺ) อันประกอบด้วย “ผู้แทนจากเผ่าเอาวซ์และค็อซร็อจญ์”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาในการให้คำสัตยาบันอัล-อะเกาะบะฮฺครั้งที่สอง ที่ทั้งสองเผ่าได้ให้คำมั่นสัญญาว่า
“จะคุ้มครองและปกป้องท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. เสมือนที่พวกเขาคุ้มครองและปกป้องภรรยาและลูกหลานของตนเอง”
หลังจากการให้คำสัตยาบันดังกล่าว ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. เริ่มมองเห็นอนาคตอันสดใสของสาส์นอิสลามที่นครมะดีนะฮฺ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าทีของชาวเมืองมะดีนะฮฺที่ตอบรับ “รุ่งอรุณแห่งอิสลาม” ด้วยความบริสุทธิ์ใจและศรัทธามั่นจนกระทั่งไม่มีบ้านหลังใด ณ นครมะดีนะฮฺ เว้นแต่ได้ตอบรับทางนำแห่งอิสลาม เพื่อเป็นการตอกย้ำว่ามะดีนะฮฺ คือ แผ่นดินที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเผยแพร่สัจธรรมแห่งอิสลาม
: แผนการณ์อันชั่วร้ายของชาวกุเรชที่ได้ออกมติสังหารท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. โดยวิธี “ซุ่มแล้วฆ่า”ด้วยการคัดเลือกคนหนุ่มซึ่งเป็นผู้แทนเผ่าต่างๆ
โดยให้แต่ละคนถือดาบคนละเล่ม และร่วมปฏิบัติการฆาตกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน
ทั้งนี้ เพื่อบีบบังคับให้เผ่าบนี อับดุลมะนาฟ (เผ่าของท่านนบี) ยินยอมรับค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากไม่มีศักยภาพพอที่จะล้างแค้นและทำสงครามกับเผ่าต่างๆในนครมักกะฮฺ
ซึ่งเอกองค์อัลลอฮ์ ซบ. ได้ทรงเปิดโปงกลอุบายดังกล่าวแก่ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. และอนุญาตให้ท่านนบีฮิจญ์เราะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺ
โดยที่เอกองค์อัลลอฮฺ ซบ. ได้ทรงกล่าวไว้ว่า :
«وَإِذْ يَمْكُرُ بِكَ الَّذِينَ كَفَرُوا لِيُثْبِتُوكَ أَوْ يَقْتُلُوكَ أَوْ يُخْرِجُوكَ وَيَمْكُرُونَ وَيَمْكُرُ اللَّهُ وَاللَّهُ خَيْرُ الْمَاكِرِينَ
“และเจ้าจงรำลึกขณะที่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาวางอุบายต่อเจ้า เพื่อกักขังเจ้า หรือฆ่าเจ้า หรือขับไล่เจ้าออกไป และพวกเขาวางอุบายกัน และอัลลอฮฺก็ทรงวางอุบาย และอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นผู้เยี่ยมกว่าในหมู่ผู้วางอุบาย” (อัล-อันฟาล : 30 )
: การเริ่มต้นฮิจญ์เราะฮฺของท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. :
หลังจากบรรดามุสลิมีนได้ทยอยอพยพสู่นครมะดีนะฮฺ และไม่มีผู้ใดหลงเหลืออยู่ในนครมักกะฮฺ เว้นแต่ผู้ที่ถูกหน่วงเหนี่ยวจับขังและกลุ่มผู้ไม่มั่นใจในความปลอดภัยแล้ว
ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. จึงได้เตรียมการอพยพพร้อมกับรอรับคำสั่งจากเอกอัลลอฮฺ ซบ. ในการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมกับฮิจญ์เราะฮฺ
ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. ได้วานให้ท่านอบูบักรฺ รฎ. และท่านอะลี บิน อบูฏอลิบ รฎ. ชะลอในการฮิจญ์เราะฮฺ
ทุกครั้งที่ ท่านอบูบักรฺขออนุญาตเพื่อฮิจญ์เราะฮฺ
ท่านนบีมักตอบว่า ”อย่าเพิ่งรีบร้อน บางทีอัลลอฮฺได้กำหนดสหายเดินทางสำหรับท่านก็เป็นได้”
ท่านอบูบักรฺ จึงได้หวังลึกๆว่า “ท่านนบี อาจเลือกท่านเป็นสหายในการเดินทางครั้งนี้”
และท่านอบูบักร รฎ. จึงได้แอบซื้ออูฐ 2 ตัว เพื่อเตรียมตัวใช้เป็นพาหนะการเดินทาง
ส่วนท่านอะลี บิน อบูฏอลิบ รฎ. แล้ว ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. ได้ชะลอการฮิจญ์เราะฮฺของท่านเพื่อมอบภารกิจอันยิ่งใหญ่ในวินาทีที่คับขันและเต็มไปด้วยภยันตราย
วิกฤตการณ์มักสร้างวีรบุรุษ และวีรบุรุษมักฟันฝ่าสภาพวิกฤตในฐานะผู้ประสบผลสำเร็จอยู่เสมอ
ท่านอบู บักรฺและท่านอะลี เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา จึงเป็นวีรบุรุษต่างวัยและต่างวุฒิภาวะที่ได้รับมอบหมายจากท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. ให้ปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่
เพื่อให้เป็นที่เล่าขานในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม
รายงานจาก ท่านหญิงอุมมุลมุมินีน อาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. ฮิจญ์เราะฮฺว่า
“โดยปกติแล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม มักไปเยี่ยมบ้านของท่านอบูบักรในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงพลบค่ำ”
“จนกระทั่งเมื่อวันที่อัลลอฮฺ ซบ. ทรงอนุญาตให้ท่านฮิจญ์เราะฮฺ”
“ท่านนบีได้มาพบพวกเราท่ามกลางเวลาอันร้อนระอุ (ช่วงเวลาหลังเที่ยงวันถึงตอนเย็น) ซึ่งไม่มีผู้ใดออกจากบ้านในช่วงเวลาดังกล่าวเลย”
“เมื่อพวกเราเห็นท่านนบี เข้ามาในบ้านของเราแล้ว”
“ท่านอบูบักรฺ จึงกล่าวว่า ‘ท่านรสูลุลลอฮฺจะไม่มาพบพวกเราในเวลาเช่นนี้เว้นแต่มีเรื่องสำคัญแน่นอน’
ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า “หลังจากท่านนบีเข้ามาภายในบ้านแล้ว”
“ท่านอบูบักรฺ จึงรีบลุกจากที่นั่งของท่านเพื่อให้ท่านนบีได้นั่งแทน และไม่มีผู้คนในบ้านของท่านอบูบักรฺเว้นแต่ฉันและพี่สาวฉันที่ชื่ออัสมาอ์เท่านั้น”
“ท่านนบีสั่งให้ท่านอบูบักรฺเชิญผู้คนในบ้านออกจากบ้านให้หมดก่อน”
“ท่านอบูบักรฺจึงกล่าวว่า ‘โอ้รสูลุลลอฮฺ แท้จริงทั้งสองคนคือบุตรสาวของฉันเอง ท่านมีเรื่องสำคัญประการใดหรือ ?”
“ท่านนบีกล่าวตอบว่า ‘อัลลอฮฺทรงอนุญาตให้ฉันออกจากมักกะฮฺและฮิจญ์เราะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺแล้ว’
“ท่านอบูบักรฺ จึงรีบถามว่า ‘แล้วใครเป็นสหายการเดินทาง’
ท่านนบีตอบว่า ‘ท่านคือสหายการเดินทาง’
ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าต่อว่า “ขอสาบานด้วยนามของอัลลอฮฺ ซบ. ฉันไม่เคยเห็นบุคคลที่ร้องไห้เนื่องจากความดีใจเสมือนกับที่ฉันเห็นท่านอบูบักรฺร้องไห้ในวันนั้น”
ท่านอบูบักรฺ ได้นำอูฐสองตัวที่แอบซื้อเตรียมไว้ก่อนหน้านี้เพื่อเป็นพาหนะการเดินทาง และยังได้ว่าจ้างผู้นำทางที่มีความเชี่ยวชาญเส้นทางในทะเลทรายชื่อ “อับดุลลอฮฺ บิน อุร็อยก็อฏ” ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เป็นมุสลิม
โดยให้ท่านอับดุลลอฮฺนำอูฐทั้งสองตัวมารับทั้งสองท่านในช่วงเวลาและสถานที่ที่ได้ตกลงกันไว้
ท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ตกลงกับท่านอบูบักรฺ รฎ. เกี่ยวกับแผนการเดินทาง
ทั้งสองท่านได้วางแผนโดยใช้ “ถ้ำษูรฺ” เป็นที่หลบซ่อนชั่วคราว ซึ่ง “ถ้ำษูรฺ” ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมักกะฮฺ
ในขณะที่ “เมืองมะดีนะฮฺ” ซึ่งเป็นจุดหมายปลายหมายของการเดินทางครั้งนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นกลอุบายที่จะอำพรางการไล่ล่าติดตามของชาวกุเรชมุชริก ทั้งสองท่านได้คัดเลือกบุคคลที่คอยสอดแนมข่าวคราวความเคลื่อนไหวของชาวกุเรช ตลอดจนมอบหมายภารกิจต่างๆที่พึงปฏิบัติช่วงที่ทั้งสองท่านหลบซ่อนในถ้ำ
เมื่อวางแผนเสร็จสิ้น ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. ได้เดินทางกลับบ้านอีกครั้งและมอบหมายให้ท่านอะลี บิน อบูฏอลิบ รฎ. ส่งคืนของมีค่าต่างๆที่ชาวมักกะฮฺฝากไว้กับท่านนบี
เพราะทั้งนี้ ชาวมักกะฮฺมักนำของมีค่าต่างๆมาฝากไว้ที่บ้านของท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. เนื่องจากไว้วางใจในความซื่อสัตย์ของท่านนบีนั้นเอง
บรรดาชายฉกรรจ์จากทุกเผ่ากุเรชที่ได้รับมอบหมายให้ฆาตรกรรมท่านนบี ได้ล้อมบ้านท่านในช่วงเวลากลางคืน
ท่านนบีจึงมอบหมายให้ท่านอะลีนอนบนที่นอนของท่านนบี พร้อมกับใช้ผ้าห่มคลุมตัวท่านอะลี เพื่อทำให้บรรดามือสังหารชาวกุเรชมั่นใจว่าท่านนบีกำลังนอนอยู่
จนกระทั่ง พวกเขาเหล่านั้นเผลอหลับไปจนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้น
ด้วยความช่วยเหลือของเอกองค์อัลลอฮฺ ซบ. ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. จีงสามารถออกจากบ้านด้วยความปลอดภัย และได้พบกับท่านอบูบักรฺ ณ สถานที่ที่ได้ตกลงกันไว้
จากนั้น ทั้งสองท่านจึงได้ออกเดินทางช่วงหลังเที่ยงคืนสู่เป้าหมายชั่วคราวคือ “ถ้ำษูรฺ”
ถ้ำษูรฺ
: ในถ้ำษูรฺ :
ทั้งสองท่านได้หลบซ่อนในถ้ำษูรฺเป็นเวลาสามวัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าว” ท่านอับดุลลอฮฺ” และท่านหญิงอัสมาอฺ (ลูกชายและลูกสาวของท่านอบูบักรฺ) ได้ทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนส่งเสบียงอาหารและคอยสอดแนมข่าวคราวความเคลื่อนไหวของชาวกุเรชมุชริก
ในขณะที่ ท่านอามิรฺ บิน ฟุฮัยเราะฮฺ ซึ่งเป็นบ่าวรับใช้ของท่านอบูบักรฺ ได้รับหน้าที่คอยเลี้ยงแกะและคอยส่งนมแกะให้แก่คนทั้งสอง
และในขณะเดียวกัน ท่านอามิรฺยังต้องคอยกลบรอยเท้าของท่านอับดุลลอฮฺและท่านหญิงอัสมาอ์ ด้วยรอยเท้าของฝูงแกะยามที่ทั้งสองพาเสบียงมาให้ท่านนบีและท่านอบูบักรฺ
ข้างฝ่ายชาวกุเรชมุชริก เมื่อแผนการณ์ไม่ประสบผลสำเร็จ ก็เกิดความโกรธแค้นแก่พวกเขายิ่งนัก
“เมืองมักกะฮฺ” จึงเกิดความโกลาหลวุ่นวาย พวกชาวกุเรชมุชริกจึงได้กรูกันเข้าไปจับท่านอะลีและลากตัวท่านไปยังกะบะฮฺ
เพื่อบังคับให้เปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ท่านอะลีก็ไม่ปริปากแม้แต่คำเดียว
พวกเขาจึงมุ่งหน้าไปยังบ้านท่านอบูบักรฺ และบังคับขู่เข็ญท่านหญิงอัสมาอ์ บุตรสาวของท่านอบูบักรฺ ให้บอกสถานที่หลบซ่อนของทั้งสองท่าน
แต่ท่านหญิงอัสมาอ์ก็ไม่ยอมปริปากเช่นเดียวกัน
นางจึงถูกตบหน้าโดย อบูญะฮัล (แกนนำชาวกุเรชมุชริก) จนกระทั่งตุ้มหูของนางหลุดกระเด็น
ชาวกุเรชมุชริกจึงรีบประชุมด่วนเพื่อหามาตรการจับท่านนบีและท่านอบูบักรฺ
พวกเขารีบกระจายกำลังปิดล้อมเมืองมักกะฮฺและประกาศตั้งรางวัลอูฐจำนวน 100 ตัวสำหรับผู้ที่สามารถจับทั้งสองท่านไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย
การไล่ล่าจึงเริ่มขึ้นแทบพลิกแผ่นดินเมืองมักกะฮฺ แต่ก็ไร้เงาของทั้งสองท่าน
มีทีมไล่ล่าอยู่ทีมนึงได้เข้าประชิด “ถ้ำษูรฺ”
จนท่านอบูบักรฺมองเห็นเท้าของพวกเขา แต่ด้วยความช่วยเหลือของเอกองค์อัลลอฮฺ ซบ. พวกเขาก็ต้องกลับด้วยมือเปล่า ทั้งๆที่เป้าหมายสำคัญอยู่ใกล้แค่เอื้อม
: บนเส้นทางสู่มะดีนะฮฺ :
หลังจากเวลาผ่านไป 3 วัน ชาวกุเรชมุชริกเริ่มหมดหวังที่จะจับท่านนบีและท่านอบูบักรฺ
การไล่ล่าเริ่มผ่อนคลาย ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุร็อยก็อฏ ผู้รับหน้าที่เป็นผู้นำทางจึงไปหาทั้งสองท่าน ณ จุดนัดพบพร้อมอูฐทั้งสองตัวที่เขารับเลี้ยงดูก่อนหน้านี้
และก่อนเดินทาง ท่านหญิงอัสมาอ์ได้มาเข้ามาหาพร้อมนำเสบียงอาหารมาให้ แต่นางลืมเชือกสำหรับผูกเสบียงอาหาร นางจึงฉีกผ้าคาดเอวเพื่อเป็นเชือกผูกเสบียงอาหารติดกับอูฐ นางจึงได้รับสมญานามตั้งแต่บัดนั้นว่า “ผู้ครอบครองผ้าคาดเอวสองเส้น”
ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. และท่านอบูบักรฺ รฎ. จีงได้เริ่มออกเดินทางโดยมีท่านอามิรฺ บิน ฟุฮัยเราะฮฺเป็นผู้อำนวยความสะดวกและคอยให้บริการ ในขณะที่ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุร็อยก็อฏมีหน้าที่เป็นผู้นำทาง
พวกเขาใช้เส้นทางที่ผู้คนไม่ค่อยเดินผ่าน ตลอดระยะเวลาการเดินทางก็ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางอยู่ตลอดเวลา เริ่มต้นด้วยการมุ่งสู่ทางทิศใต้ บางครั้งก็ใช้เส้นทางทิศตะวันตก และเมื่อถึงเส้นทางที่ผู้คนไม่ค่อยเดินผ่าน ก็เริ่มมุ่งหน้าสู่ทิศเหนือตามแนวทะเลแดงสู่เป้าหมายปลายทางคือ “นครมะดีนะฮฺ”
หลังจากใช้ระยะเวลา 8 วันนับตั้งแต่ออกจากถ้ำษูรฺ ท่านนบีได้ถึงเมืองกุบาอ์ (ห่างจากใจกลางเมืองมะดีนะฮฺประมาณสามไมล์) และพำนักอยู่ที่เมืองกุบาอ์เป็นเวลา 4 วัน
ช่วงเวลาดังกล่าว ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. ได้สร้าง “มัสยิดกุบาอ์” ที่ถือเป็นมัสยิดแห่งแรกในประวัติศาสตร์อิสลามและเป็นมัสยิดที่มีศิลารากฐานแห่งการตักวา (ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซบ.)
มัสยิดกุบาอ์ เมืองกุบาอ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
ณ เมืองกุบาอ์ ท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. ได้พบกับท่านอะลี บินอบู ฏอลิบ รฎ. ที่ได้อพยพตามหลังท่านนบี หลังจากที่ได้นำคืนสิ่งของมีค่าแก่เจ้าของตามคำสั่งท่านนบีหมดแล้ว
หลังจากนั้น ท่านนบีก็เริ่มเดินทางสู่ “นครมะดีนะฮฺ” และระหว่างทางของการเดินทางท่านนบีได้มีโอกาสละหมาดวันศุกร์ครั้งแรก ณ หมู่บ้าน บะนี สาลิม บิน เอาว์ฟฺ
หลังจากเสร็จสิ้นละหมาดวันศุกร์แล้ว ท่านนบีเดินทางเข้าสู่นครมะดีนะฮฺท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นของชาวเมือง
ระยะเวลาการเดินทางของท่านนบี ที่เริ่มต้นออกจากบ้านที่นครมักกะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺใช้เวลาทั้งสิ้น 15 วัน
นับเป็นการเดินทางที่นอกจากเป็นจุดพลิกผันของประวัติศาสตร์อิสลามแล้ว ยังเป็นการเดินทางที่เปี่ยมด้วยคุณค่าบะเราะกะฮฺ และการคุ้มครองจากเอกองค์อัลลอฮฺ ซบ. ของมนุษย์ผู้นึง
ที่ได้รับเกียรติจากอัลลอฮฺให้เป็นนบีคนสุดท้ายเพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย
ซึ่งสังคมมุสลิมในยุคปัจุบันจำเป็นต้องแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างความปรีชาสามารถของเอกองค์อัลลอฮฺ ซบ. กับคำพูดและการกระทำของคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถแบกรับความรับผิดชอบอันใดได้เลย
ซึ่งในหลายครั้งหลายครา สังคมมุสลิมมักตกในหลุมพรางแห่งความเชื่ออันไร้สาระและงมงาย
ข้อมูลจาก :
https://www.islammore.com/view/1016
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย