15 ก.ค. 2022 เวลา 09:55 • ธุรกิจ
KBank ลงทุน 1 แสนล้านบาท เพื่อทำลายขีดจำกัดการปล่อยสินเชื่อรายย่อย
KBank X ลงทุนแมน
1
การเกิดขึ้นของ Startup ในกลุ่มธุรกิจ Fintech ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนโลกการเงิน
ไม่ว่าจะเป็น e-Wallet กระเป๋าเงินออนไลน์, การซื้อขายหุ้นและกองทุนออนไลน์, สินเชื่อออนไลน์
และอีกสารพัดบริการมากมาย โดยมี Smartphone เป็นตัวกลางในการเข้าถึงลูกค้า
ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้เข้ามา Disrupt ธุรกิจธนาคารอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ธนาคาร จึงมีทางเลือก 2 ทาง คือ
1. ทำธุรกิจในแบบเดิม ๆ แข่งขันกับกลุ่ม Fintech และธนาคารที่ปรับตัวมาสู่โลกดิจิทัล
2. รวบรวมเทคโนโลยีการเงินดิจิทัลที่เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
แน่นอนว่า.. ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank เลือกคำตอบข้อ 2
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราจึงได้เห็น KBank กลายเป็นธนาคารที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น
โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงินหลากหลายบน K PLUS ใน Mobile Banking ของธนาคาร
ที่ได้ทำลายธุรกรรมทางการเงินของธนาคารในแบบดั้งเดิม และทำให้ลูกค้าสะดวกสบายมากขึ้น
และความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เป็น Big Impact ในแวดวงธนาคารเมืองไทย
เมื่อคุณขัตติยา อินทรวิชัย CEO ของ KBank ประกาศลงทุน 1 แสนล้านบาท
เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ บริการสินเชื่อให้ลูกค้าที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร
ว่าแต่เงินลงทุน 1 แสนล้านบาท จะนำไปใช้ในการลงทุนเทคโนโลยีอะไรบ้าง ?
แล้ว KBank จะขยายฐานสินเชื่อไปยังลูกค้ากลุ่มนี้ ด้วยวิธีไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
คุณขัตติยา เล่าว่า ช่วงที่ผ่านมาเทคโนโลยีการเงินใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ Disrupt ธุรกิจธนาคาร
ทำให้ทาง KBank ต้องรวบรวมเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้กสิกรไทย เป็น “ชาเลนเจอร์แบงก์”
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กลุ่มบริษัท Fintech ต่างกำลังรุกธุรกิจสินเชื่อออนไลน์ที่จับกลุ่มลูกค้าหลัก
คือ คนที่ไม่มีรายได้ประจำ และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการธนาคาร
ในอดีตแม้ธนาคารจะรู้ดีว่า นี่คือตลาดสินเชื่อขนาดใหญ่
แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับหนี้เสีย หรือ NPL ในอัตราที่สูงด้วยเช่นกัน
แต่เมื่อ KBank มองตัวเองว่าเป็น “ชาเลนเจอร์แบงก์”
ที่นำเทคโนโลยีมากำจัดกระบวนการทำงานที่ยุ่งยาก และทลายข้อจำกัดเดิม ๆ ในอดีตออกไป
อย่างในตลาดสินเชื่อออนไลน์ จะนำเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์สารพัดข้อมูลของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
เพื่อประเมินได้ว่า ลูกค้าคนไหน มีศักยภาพในการผ่อนชำระ
ทำให้หลายเดือนที่ผ่านมา KBank อนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ทำงานอิสระ ที่ไม่มีรายได้ประจำไปแล้ว
เฉลี่ย 1,600 รายต่อวัน โดยมีวงเงินสินเชื่อ 1,500-20,000 บาทต่อคน
ความน่าสนใจต่อมาคือ แทนที่ KBank จะมองว่ากลุ่มธุรกิจ Fintech ที่เข้ามามีบทบาทในตลาดสินเชื่อออนไลน์คือ คู่แข่งของตัวเอง
แต่กลับมองว่าหากคิดจะเติบโตในโลกการเงินดิจิทัล ธนาคารต้องร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจ Fintech เพื่อเติบโตไปพร้อมกัน
เหตุผลนี้เอง ทำให้ KBank ร่วมมือกับแอปพลิเคชัน LINE BK
จนกลายเป็นธนาคารแรกในเมืองไทย ที่เปิดบริการสินเชื่อออนไลน์ผ่านทาง Social Media
อีกทั้งยังทำลายข้อจำกัดเดิม ๆ คือ รู้ผลการอนุมัติภายในเวลา 5 นาที หากเป็นลูกค้าของ KBank อยู่ก่อนแล้ว
ส่วนผู้ขอสินเชื่อที่ไม่เคยมีบัญชีธนาคารจะรู้ผลอนุมัติใน 24 ชั่วโมง
โดยจะวิเคราะห์ข้อมูลและอัลกอริทึมของผู้ขอสินเชื่อบน Social Media ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ขอสินเชื่อเท่านั้น
ความเคลื่อนไหวของ KBank ในธุรกิจนี้ ถือเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้ง 2 ฝ่าย..
โดยฝั่ง KBank จะสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด
โดยที่ตัวเองไม่ต้องลงทุนขยายสาขามากมาย เพื่อเข้าถึงลูกค้าเหมือนอย่างในอดีต
พร้อม ๆ กับการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ ลูกค้าปัจจุบันของ KBank ก็จะได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ ด้วย จากการใช้บริการ ที่จะสะดวก เรียบง่ายมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา
ขณะเดียวกันทางฝั่งผู้ขอสินเชื่อ จากเดิมเมื่อต้องการเงินสด ก็มักจะพึ่งพาหนี้นอกระบบที่ต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่แพงเกินจริง และการทวงหนี้ที่โหดร้าย
พอเป็นแบบนี้ทำให้ KBank ตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีนี้ จะสามารถปล่อยสินเชื่อผ่านทาง LINE BK ในกลุ่มคนทั่วไปได้กว่า 2 แสนคน และเจ้าของธุรกิจรายเล็ก ๆ กว่า 6 แสนคน
รวมวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท
2
ขณะเดียวกันในเวลานี้ KBank กำลังเจรจากับธุรกิจร้านค้าปลีกในต่างจังหวัด
เพื่อเสนอการปล่อยสินเชื่อไปยังผู้ประกอบการรายย่อยในต่างจังหวัด โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
และอย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น KBank กำลังรวบรวมสารพัดเทคโนโลยีการเงินให้มาอยู่กับตัวเองให้มากที่สุด
โดยก่อนหน้านี้ลงทุนไปแล้วกว่า 12,700 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเงินหลายรูปแบบที่ใช้ตอบโจทย์ลูกค้า
ส่วนแผนล่าสุดคือ เตรียมเงินลงทุนเพิ่มอีก 22,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก
ในช่วง 2 ปีข้างหน้าต่อจากนี้
นอกจากนี้ KBank ยังเตรียมงบประมาณในการลงทุนซื้อกิจการ และการร่วมมือในเชิงพาณิชย์มูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านบาท
โดยจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี 2-5 ดีล ที่จะเกิดขึ้นภายในอีก 12 เดือนข้างหน้าต่อจากนี้
พูดง่าย ๆ ว่าความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ถือเป็น Big Move ของ KBank ซึ่งหลายคน อาจจะโฟกัสไปที่เงินลงทุน 1 แสนล้านบาท
แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่ามูลค่าของเงินลงทุนนั้น คือความคิดในการทำธุรกิจของ KBank ต่างหาก
 
เพราะเมื่อวันนี้ ธุรกิจการเงิน กำลังเผชิญกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มธุรกิจ Fintech
หรือแม้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ข้ามธุรกิจมาอยู่ในแวดวงการเงินดิจิทัล
ทำให้ KBank นอกจากจะลงทุนมหาศาล เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีก้าวเป็น “ธนาคารดิจิทัล” แล้วนั้น
ก็ยังร่วมมือกับธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งกับธนาคารทางอ้อมในโลกการเงินดิจิทัล
1
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ KBank รู้ดีว่าคนที่จะ Disrupt ธุรกิจธนาคาร ไม่ใช่คู่แข่งทางธุรกิจ
แต่คือ พฤติกรรมของลูกค้า ที่เปลี่ยนแปลงไปต่างหาก..
และการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็น “ชาเลนเจอร์แบงก์” ที่นำสารพัดเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนธนาคาร
ไปพร้อม ๆ กับการทำลายขีดจำกัดเดิม ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าได้อย่างสูงสุด
นั่นคือสิ่งที่ KBank เชื่อว่าจะทำให้ตัวเองยั่งยืนได้ ในโลกการเงินยุคดิจิทัล..
Reference
- ข่าวประชาสัมพันธ์ ธนาคารกสิกรไทย
1
โฆษณา