16 ก.ค. 2022 เวลา 04:36 • ประวัติศาสตร์
พระพุทธรูปยืนปางถวายเนตร และพระพุทธรูปปางขอฝน ศิลปะคันธาระ สมัยรัตนโกสินทร์ ๒๔๕๒, ๒๔๕๓ โดย อัลฟอนโซ
ทอร์นาเรลลี่-Alfonso Tornarelli ประติมากรชาวอิตาเลียน
พระพุทธรูปยืนปางถวายเนตร เป็นศิลปะอินเดียแบบคันธาระ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงดำริให้สร้างไว้เป็นต้นแบบ ( ต่างจากการสร้างพระพุทธรูปตามแบบมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ ตามศิลปะไทยประเพณี
ยังมีพระพุทธรูปปางขอฝนที่เป็นศิลปะคันธาระ เช่นกัน)
พระพุทธรูปคันธารราฐที่รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ สร้างขึ้นเท่าที่พบแล้ว มี ๓ องค์
ประดิษฐานที่หอคันธารราฐ ในพระบรมมหาราชวัง องค์หนึ่งที่วัดเบญจมบพิตรฯ อีกองค์จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ปัจจุบัน พระพุทธรูปยืนปางถวายเนตร จัดแสดงอยู่ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ อาคารประพาส พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
Everythinghobby.
พระพุทธรูปปางขอฝน
สร้างจากสำริด กะไหล่ทอง สูงพร้อมฐาน ๗๓.๕ ซ.ม. ฐานกว้าง ๒๓.๕ x ๒๓.๕ ซ.ม.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างพระพุทธคันธารราฐเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา
โดยเหตุที่กล่าวกันว่า เมื่อปีฉลูเบญจศกอันเป็นปีพระราชสมภพ ต้นปีฝนแล้ง ข้าวในนาเสียหายมาก เมื่อทรงประสูติ ในทันใดนั้นฝนตกมาก ตามชาลาในพระบรมมหาราชวังมีน้ำท่วมถึงเข่า เป็นอัศจรรย์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์มีหน้าที่ประกอบการพระราชพิธีขอฝนมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยทรงเป็นสิริแห่งการขอฝน จึงโปรดให้ใช้พระคันธารราฐเป็นพระประจำพระชนมพรรษาของพระองค์
โดยหล่อเป็นพระพุทธรูปนั่งขอฝน ตามแบบที่มีมาแต่โบราณ
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ (ค.ศ. 1910) โปรดให้สร้างพระพุทธรูปคันธารราฐยืน ตามเนื้อความที่มีมาในเอกนิบาต โดยโปรดให้นายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี (Alfonso Tornarelli) ช่างชาวอิตาเลียน ปั้นพระพุทธรูปปฏิมายืนปางขอฝน เลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ อันเป็นพุทธศิลป์ที่เจริญขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในดินแดนที่ชาวกรีกเคยครอบครองเป็นใหญ่
มีความงามตามสุนทรียภาพของกรีก – โรมัน พระพักตร์เป็นแบบเทพเจ้ากรีก เกล้าเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ และจีวรเป็นริ้วหนาตาแบบธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือขั้นบันไดขอบสระโบกขรณี ทำขั้นบันได ๓ ชั้น
มีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษยนาค (นาคแปลง) มีความหมายถึงน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์ พระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน ทำอาการดุจเรียกฝน
พระพุทธคันธารราฐ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และขนบประเพณี เนื่องในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงถึงกระแสความนิยมทางศิลปกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากแบบอุดมคติ เป็นแบบสัจนิยม มีความเสมือนจริงตามธรรมชาติ
ประกอบด้วยสรรพสิริมงคลสำหรับการพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง อันเอื้ออำนวยความอุดมสมบูรณ์แก่พระราชอาณาจักร และอาณาประชาราษฎร์
ข้อมูลเกี่ยวข้อง
พระพุทธรูป “คันธารราฐ” สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศิลปะแบบคันธารราฐ https://www.silpa-mag.com/history/article_4453
นมัสการพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ "วัดทิพย์สุคนธาราม" กาญจนบุรี
โฆษณา