19 ก.ค. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
#เทียบหมัดต่อหมัด : 3 แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยอดนิยมของคนไทย
คอลัมน์ “เทียบหมัดต่อหมัด” รอบนี้ ขอพาทุกท่านไปสำรวจตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันเสียหน่อย ว่าในตลาดนั้น 3 เจ้าที่ทุ่มงบไปกับการพัฒนาสินค้า รวมถึงการตลาดและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น มาม่า, ไวไว หรือยำยำ เขากอบโกยรายได้กันไปเท่าไหร่แล้วบ้างในปี 2564 ซึ่งต้องบอกว่าในปี 2564 ถึงแม้จะยังเจอกับวิกฤตโควิด-19 จนทำให้กำไรสุทธิของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกเจ้าจะลดลงก็ตาม แต่ยังรักษาฐานลูกค้าของตนเองได้ดีเลยทีเดียว
เริ่มต้นกันที่ “ไวไว” ที่ยังมีแบรนด์ในเครือคือ ควิก และซือดะ โดยเจ้าของคือ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด เริ่มก่อตั้งบริษัทในวันที่ 17 เมษายน 2515 มีอายุราว 50 ปี และปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท บริหารงานโดยคุณปรีชา นภาพฤกษ์ชาติ โดยพบรายได้รวมในปี 2564 ทั้งสิ้น 6,797.9 ล้านบาท
และมีรายจ่ายรวมในปี 2564 ทั้งสิ้น 6,415.2 ล้านบาท ส่งผลทำให้กำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 306.5 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 28.98 โดยไวไวจะเน้นผลิตและจัดจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งนอกจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแล้ว ยังมีเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วยเช่นกัน
ต่อกันด้วย “ยำยำ” ที่จดทะเบียนบริษัทในชื่อ บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2514 ณ ปัจจุบันมีอายุ 50 ปีเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือของอายิโนะโมะโต๊ะ มีทุนจดทะเบียนบริษัท 60 ล้านบาท บริหารงานโดยคุณยูจิ มิซุตะ โดยมีแบรนด์ในเครือคือ ยำยำ คัพ, ยำยำ ช้างน้อย, ยำยำ จัมโบ้ และยำยำ สูตรเด็ด พบว่ารายได้ในปี 2564 มีทั้งสิ้น 5,077 ล้านบาท
มีรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 4,738.8 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 267.2 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 57.43 ซึ่งยำยำตั้งใจให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปัจจุบันส่งออกเกือบทุกทวีปมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และครองความนิยมอันดับ 1 ในเยอรมนีอีกด้วย
สุดท้ายขอตบท้ายด้วยแบรนด์ที่กลายเป็นชื่อสามัญประจำบ้านอย่าง “มาม่า” ที่อยู่ภายใต้บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) โดยก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2515 ในปีนี้มีอายุราว 50 ปีเช่นกัน มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 329.7 ล้านบาท โดยมีคุณพิพัฒ พะเนียงเวทย์ เป็นผู้บริหาร มีแบรนด์ในเครือได้แก่ มาม่า, รุสกี, โฮมมี และบิสชิน
ซึ่งความแตกต่างของบริษัทนี้คือไม่ได้มุ่งเน้นการผลิตแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้น แต่ยังผลิตขนมปังอบกรอบอีกด้วย ซึ่งรายได้รวมในปี 2564 ทั้งสิ้น 15,870.2 ล้านบาท และมีรายจ่ายรวม 12,187.4 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,686.5 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 14.41
หากจะพูดถึงส่วนแบ่งทางการตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2565 จากการสำรวจพบว่ามาม่ายังถือครองส่วนแบ่งกว่าร้อยละ 45 รองลงมาคือไวไว ร้อยละ 24 และยำยำร้อยละ 22 ซึ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังโตต่อเนื่องจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3-4 ต่อปี และมีการบริโภคโดยรวมของคนไทยอยู่ที่ 3,700 ล้านซองต่อปี ตกอยู่ที่คนละ 1 ซองต่อวันเลยทีเดียว
อ่านบนเว็บไซต์ได้ทาง https://www.modernist.life/noodle-thailand2021
CONTENT: KRITTHANAN D.
ARTWORK: TINNAWUT L.
#Modernist - ชัด ทัน บันดาลใจ
ติดตามเราได้ทาง https://www.modernist.life
Facebook / Twitter / Instagram / TikTok : @lifeatmodernist
.
ติดต่อโฆษณา: 061-662-9142
โฆษณา