17 ก.ค. 2022 เวลา 15:19 • สิ่งแวดล้อม
1. นิพพานคืออะไร แล้วจะไปนิพพานกันทําไม?
นิพพานเป็นสภาวะที่ดํารงค์อยู่โดยไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสภาวะที่ดับไปแล้วซึ่ง อวิชชา กิเลสและกองทุกข์ เป็นอสังขตธรรมหรือโลกุตระสภาวะที่พ้นไปจากโลก เป็นเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนา
ในขณะที่โลกที่เราอาศัยอยู่เป็น สังขตธรรมหรือโลกียะ ซึ่งไม่พ้นไปจากสุขหรือทุกข์ มีปัจจัยปรุงแต่งอยู่เสมอๆ มีการเกิด การตาย การแปรสภาพ การหมุนวนเป็นวัฏจักรไปมา มีกิเลส ตัณหา อุปทาน มีสังขารปรุงแต่งไปมา มีดีมีชั่ว มีรวยมีจน มีโกรธมีเกลียด ดีใจเสียใจ และถูกควบคุมด้วย กฏแห่งกรรม จะมีบุคคลจําพวกหนึ่งรวมถึงตัวผมด้วย ที่เบื่อสภาพในลักษณะนี้ ต้องการพ้นไปจากสภาพนี้ ซึ่งความตายไม่ใช่คําตอบ เพราะรู้แล้วว่าตายไปจะต้องกลับมาอีกแน่ๆ
ใครได้ไปสู่นิพพานย่อมไม่กลับมาเกิดอีกและพ้นไปจากสังสารวัฏที่วนเวียนไปมาไม่มีที่สิ้นสุด เราทําอกุศลกรรมย่อมไปสู่อบายภูมิ ถึงทำกุศลกรรมก็ยังต้องติดอยู่ในโลกของเทวดา และพรหมโลก ถึงแม้ดูเหมือนจะมีความสุขก็ยังเป็น สังขตธรรมที่มีสภาพไม่แน่นอน ยังต้องมาเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆในสังสารวัฏ ซึ่งก็เหมือนการติดอยู่ในขอบเขตหรือกรอบอะไรบางอย่างที่ไม่มีอิสระภาพที่แท้จริง
2. ความหมายของนิพพาน
นิพพานมีความหมายเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้นแต่ด้วยความเป็นมนุษย์ เราจึงมาแบ่งแยกเพื่ออธิบายในหลายๆลักษณะ โดยความหมายทั่วๆไปเราแบ่งเป็น
- จิตที่หลุดพ้น คือจิตที่รับรู้ถึงสภาวะนิพพานได้
- ผู้หลุดพ้น คือบุคคลผู้เข้าถึงนิพพาน เช่น พระอรหันต์
- สภาวะที่หลุดพ้น คือสภาพของพระนิพพานโดยแท้จริง
1. แบ่งตามผู้หลุดพ้นหรือผู้เข้าถึงนิพพาน โดยยึดสภาวะที่กิเลสถือครองเบญจขันธ์ (ขันธ์5) ( พระอรหันต์ ที่กิเลสถูกระงับด้วยญาณสมาบัติและละสังโยชน์ 10 ประการได้แล้ว )
1.1 สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่มีอุปาทิเหลือ (ยังมีเชื้อหรือยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่) เกิดกับพระอรหันต์ผู้ยังเสวยอารมณ์อันชอบและไม่ชอบทางอินทรีย์ 5 รับรู้สุขทุกข์อยู่
1.2. อนุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ(ไม่มีเชื้อเหลือ) เกิดกับพระอรหันต์ผู้ระงับการเสวยอารมณ์ทั้งปวงแล้วไม่ได้ถือครองเบญจขันธ์หรือดับขันธ์ไปแล้ว
2. แบ่งตามสภาวะของจิต โดยมีความเชื่อที่ว่านิพพานเป็นสภาวะเดิมแท้ของจิตบริสุทธิ์อยู่โดยพื้นฐาน ที่ไม่มีอวิชชาหรือกิเลสมาห่อหุ้ม
ท่านพุทธทาสใช้คําว่าจิตว่างเป็นหลักของความหลุดพ้นในพระพุทธศาสนาก็คือ “นิพพาน” และใช้คําว่านิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เป็นสภาวะอันล้ำเลิศสูงส่งที่ต้องใช้ความเพียรพยายามกำจัดกิเลสอยู่นานหลายปีหรือหลายภพชาติ จึงจะเข้าถึงได้ โดยกำหนดสติไว้ไม่ให้โมหะและอวิชชาแห่ง “ตัวกูของกู” เกิดขึ้น
ท่านพุทธทาสได้ให้คํานิยามของนิพพานไว้ 3 ระดับ
1. ตทังคนิพพาน - เกิดขึ้นชั่วขณะเมื่อภาวะภายนอกไม่ทำให้คนเราเกิดความคิดเรื่องตัวกูของกูขึ้นมา ถ้าสภาพแวดล้อมเป็นไปด้วยความไม่สงบ กิเลสก็จะกลับมาอีก
2. วิกขัมภนนิพพาน- ความสงบทางจิตด้วยการควบคุมจิตบังคับหรือข่มกิเลส ในระหว่างทำสมาธิอย่างเข้มข้น แต่กิเลสก็ยังดํารงอยู่ไม่หายไป
3. สมุทเฉทนิพพาน (ปรินิพพาน) เป็นความสงบของจิตอันเนื่องจากกิเลสถูกกำจัดออกไปจนหมด แทนที่จะถูกข่มหรือระงับไว้ชั่วคราว ซึ่งเกิดกับพระอรหันต์
อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสก็ยังถือว่า ทั้ง “ตทังคนิพพาน” และ “วิกขัมภนนิพพาน” เป็นนิพพานที่แท้จริงเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็มีผู้ไม่เห็นด้วย กับท่าน ในทํานองเดียวกับพวกอนุรักษ์นิยมที่เชื่อว่านิพพานต้องเป็นไปตามขั้นตอน ต้องสะสมบารมี ไม่มีทางลัด ต้องเป็นสมุทเฉทหรือปรินิพานเท่านั้น
ลักษณะแนวคิดของท่านพุทธทาส ก็เป็นลักษณะแนวเดียวกับเซ็นคือ จิตคือพุทธะ เซ็นเข้าถึงพุทธภาวะ โดยไม่อาศัยลําดับขั้นตอน แต่ใช้วิธียกระดับจิตให้พ้นไปจากความคิดปรุงแต่ง คล้ายๆการทําจิตให้ว่าง ด้วยโกอานหรือปริศนาธรรม
3. สภาวะตัวนิพพานจริงๆเป็นอย่างไร? อันนี้ไม่ขออธิบาย เพราะไม่ทราบจริงว่ามีสภาวะเป็นเช่นไร เนื่องจากยังเข้าไม่ถึง แต่ขอเดาว่า จากนิยาม ไม่น่าจะใช่สถานที่ ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ไม่ใช่จักรวาล แต่น่าจะแทรกซึมอยู่ไปทั่วทั้งเอกภพ บางคนก็ถกเถียงกันไปมาว่านิพพานเป็นอัตตา หรือเป็นอนัตตา
4. ใครบ้างได้ไปนิพพาน
- พระอรหันต์ผู้ละสังโยชน์ 10 ประการ ( กิเลส 10 ประการไล่ไปตั้งแต่หยาบไปสู่ละเอียด ตัวสุดท้ายคือ อวิชชา )
- บุคคลธรรมดา ผู้ละสังโยชน์ 10 ประการ
- จิตว่าง หรือละเว้นตัวกูของกู ตามการตีความของท่านพุทธทาส ในข้อ 1,2 ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นจริง เป็นนิพพานชั่วคราว
หมายเหตุ: นิพพาน ความหมายคัดลอกจากบทความหลายๆฉบับและเพจพระธรรมปิฎก
มรรค 4 ผล 4
ปฏิบัติตามมรรค 8 (วิปัสสนาญาณ 16 ขั้น) ละสังโยชน์ 10 ซึ่งเป็นอนุสัยกิเลสระดับลึก พึงเป็นเหตุ4 ให้เกิดผล 4 ดังนี้
มรรค4 (เหตุ) เข้าถึงความเป็นอริยบุคคล, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาดในระดับโลกุตระธรรม
1. โสดาปัตติมรรค (มรรคอันให้ถึงกระแสที่นำไปสู่พระนิพพานทีแรก, มรรคอันให้ถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส)
 2. สกทาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระสกทาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 ข้อต้น กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง)
 3. อนาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอนาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ทั้ง 5 )
 4. อรหัตตมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นเหตุละสังโยชน์ได้หมดทั้ง 10 ).
ผล 4 ได้แก่ อริยบุคคล 4
 1. โสดาบัน (บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว, “ผู้ถึงกระแส”)
 2. สกทาคามี (บรรลุสกทาคามิผลแล้ว, “ผู้กลับมาอีกครั้งเดียว”)
 3. อนาคามี (บรรลุอนาคามิผลแล้ว, “ผู้ไม่เวียนกลับมาอีก)
4. อรหันต์ (ท่านผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว)
สังโยชน์ 10 (กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล)
ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 (สังโยชน์เบื้องต่ำ เป็นอย่างหยาบ เป็นไปในภพอันต่ำ
   1. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ
   2. วิจิกิจฉา (ความสงสัย, ความลังเล ไม่แน่ใจ
   3. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร
  4. กามราคะ (ความกำหนัดติดใจในกามคุณ)
  5. ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง)
ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5 (สังโยชน์เบื้องสูง เป็นอย่างละเอียด เป็นไปแม้ในภพอันสูง)
  6. รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ )
  7. อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ)
  8. มานะ (ความสำคัญตน ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ )
  9. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
 10. อวิชชา (ความไม่รู้จริง, ความหลง)
หมายเหตุ: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
โฆษณา