18 ก.ค. 2022 เวลา 09:43 • ไลฟ์สไตล์
เรื่องราวของ "MICHELIN STAR" ที่เริ่มมาตั้งแต่ยางรถยนต์ จนมาถึง ไกด์บุ๊ก 📕🚗🌟
ในทุก ๆ ปี เราก็มักจะได้ยินชื่อร้านอาหารที่ถูกจัดอันดับโดยมิชลิน
หรือว่าเวลาเราจะหาร้านอาหารดีดี ทานฉลองกันสักร้าน นอกจากรีวิวที่ดีแล้ว ก็จะต้องแอบขอส่องว่าร้านไหนได้มิชลินไกด์บ้าง 🧐
หรือ ในช่วงนี้สั่งอาหารผ่านแอปต่าง ๆ ก็มักจะมีแบนเนอร์ที่บอกว่าแนะนำร้านอาหารโดยมิชลินอีก…😋
ว่าแต่ ดาวมิชลินหรือเจ้ามิชลินไกด์ อะไรที่ว่านี่… เป็นอันเดียวกันกับยางรถยนต์เหรอ ?
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร…
วันนี้พวกเรา InfoStory ขอเปลี่ยนบรรยากาศ ชวนเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับ MICHELIN STAR และ MICHELIN GUIDE ในซีรี่ส์ชุด “BrandStory” กันเพลิน ๆ ดีกว่า
[ มาเริ่มกันที่คำถามง่าย ๆ ว่า ไอเจ้า MICHELIN STAR / GUIDE / Bib Gourmand ที่คุ้นหูคุ้นตาเนี่ย มันคืออะไรกันบ้าง ? ]
🎬 อันดับแรกเลย “MICHELIN STAR” หรือ ดาวมิชลิน เป็นเหมือนรางวัลที่จะมอบให้สำหรับร้านอาหารที่มีความโดดเด่นมากที่สุด โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
3 ดาว - สุดยอดร้านอาหาร ห้ามพลาด ควรค่าแก่การแวะชิมสักครั้ง !
2 ดาว - คุณภาพยอดเยียม ควรค่าแก่การขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม
1 ดาว - คุณภาพสูง แนะนำให้แวะชิม
(ส่วนตัวเรามองว่าเป็นเหมือนกับเครื่องมือทำการตลาด ของร้านอาหารที่มีคุณภาพสูง)
ประโยคที่เขาบอกว่า ควรออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม
เพื่อน ๆ อาจจะสงสัยว่า เส้นทางไหน ? แล้วออกนอกเส้นทางทำไม ? 🤨🚘
อะ โอเค !
ถ้าอย่างนั้น เราก็จะขอโยงไปที่ความหมายของตัว MICHELIN GUIDE 📕 ที่จะมาช่วยตอบคำถามข้อนี้กัน !
“MICHELIN GUIDE” ตรงตามชื่อของเขาเลย มันคือไกด์บุ๊ก เป็นหนังสือแนะนำการท่องเที่ยว ที่พัก ร้านเปลี่ยนอะไหล่ยาง ซ่อมรถยนต์ โดยเริ่มแรกเขาก็จะแจกให้กับนักท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ ๆ เช่น นิวยอร์ค ซานฟรานซิสโก ปารีส ลอนดอน โตเกียว ฮ่องกง เป็นต้น
เล่มเล็กขนาดเท่ามือ
😅 แต่ต่อมาเนี่ย เขาก็ไม่ได้แจกฟรีแล้วนะจ้า (แต่สามารถเข้าไปดูรายชื่อร้านในเว็ปเขาได้น้าา)
เจ้าหนังสือ MICHELIN GUIDE เล่มนี้ละ ที่จะมีการแนะนำร้านอาหารที่โดดเด่น และมีการจัดอันดับโดยการให้ดาวมิชลิน (MICHELIN STAR) หรือ จะเป็นในส่วนของ Bib Gourmand ที่แนะนำร้านอาหารที่น่าสนใจ ในประเทศหรือเมืองใหญ่ ๆ ที่หนังสือไกด์บุ๊กเล่มนี้วางจำหน่าย นั่นเอง
📌 ส่วนใหญ่แล้ว หนังสือไกด์เล่มนี้ ก็จะไปอยู่ในมือของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ออกตามล่าร้านอาหาร ที่พัก และที่ท่องเที่ยว จึงเป็นที่มาของคำแนะนำที่เขาบอกว่า “ออกนอกเส้นทาง เพื่อแวะชิม” (ในหนังสือแบบภาษาอังกฤษ เขาใช้คำว่า Detour)
อารมณ์ประมาณว่า ร้านนี้ได้ 2 ดาวมิชลิน ซึ่งอาจจะตั้งอยู่ไกลจากแผนการท่องเที่ยวของเรา แต่มันจะคุ้มค่ากับความอร่อยมากก ถ้าเรายอมแวะออกนอกเส้นทางเพื่อไปทาน !
สำหรับเกณฑ์การตัดสินว่าร้านอาหารร้านไหน ควรได้ดาวมิชลินไปครอบครอง เขาจะวัดจาก 5 เกณฑ์หลักๆ ด้วยกัน คือ
✔️ คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้
✔️ ความโดดเด่นของรสชาติ. และเทคนิคการรังสรรค์อาหาร
✔️ เอกลักษณ์เฉพาะตัวของเชฟที่นำเสนอผ่านมื้ออาหาร
✔️ ความคุ้มค่าสมราคา
✔️ ความคงที่ของรสชาติ
โดยทั้งหมดทุกประการเนี่ย ก็จะอยู่ภายในคอนเซ็ปต์การให้คะแนน “สิ่งที่อยู่บนจาน” (หรือในภาษาอังกฤษ เขาจะบอกว่า The stars are in the plate and only in the plate) อาจทำให้บางร้านที่ได้ดาวมากถึง 2 หรือ 3 ดาว ไม่ได้ตกแต่งให้มีความหรูหรามาก เพียงแต่รสชาติอาหารเนี่ย…ไม่เป็นสองรองใครแน่นอน 😋🥰
ส่วนในเรื่องของกรรมการผู้ตัดสินการให้ดาวมิชลิน หรือที่เรียกว่า ผู้ตรวจสอบมิชลิน (Michelin Spector)
ก็จะเป็นบุคคลหลากหลายอาชีพ ที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ (เข้าใจว่าแต่ละคนที่ทางมิชลินคัดเลือกมา จะเป็นนักทานที่ประกอบอาชีพประจำอื่น ๆ กันอยู่แล้ว) 👩‍⚕️👩‍🍳🧑🏻‍🔧👩‍⚖️
อ้อ ! เกือบลืมอีกหนึ่งรางวัลที่เราจะเห็นกันคุ้นตาบ่อยมาก ๆ นั่นคือ
“MICHELIN Bib Gourmand (บิบ กูร์มองด์)”
เป็นการแนะนำร้านอาหารที่โดดเด่นมีคุณภาพและมีราคาที่อยู่ในราคามาตรฐานท้องถิ่นหรือราคาเข้าถึงได้ทั่วไป นั่นเองจ้า
(พวกเรามองว่า คล้าย ๆ กับเป็นรางวัลชมเชยให้กับร้านอาหารเล็ก ๆ อีกมุมหนึ่งก็คือ เพิ่มความน่าสนใจให้กับ หนังสือมิชลินไกด์กับนักท่องเที่ยวด้วย เช่นเดียวกัน)
💡 เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ประเทศไหนในโลกที่ได้รับดาวมิชลิน(และแนะนำโดยมิชลินไกด์) มากที่สุดในโลก ?
อันดับที่ 1 คือ 🇫🇷 ฝรั่งเศส จำนวน 3,088 ร้าน
อันดับที่ 2 คือ 🇮🇹 อิตาลี จำนวน 1,932 ร้าน
อันดับที่ 3 คือ 🇯🇵 ญี่ปุ่น จำนวน 941 ร้าน
[ แล้วตกลง MICHELIN GUIDE ที่แนะนำร้านอาหาร… เขาเป็นเจ้าเดียวกันกับที่ผลิตยางรถยนต์เหรอ ? ]
ต้องตอบว่า “ถูกต้อง” นะคร้าบบ ✔️✔️
คือเรื่องราวมันเป็นอย่างนี้นะเพื่อน ๆ
ในปีค.ศ. 1889 สองพี่น้องตระกูลมิชลิน ‘อองเดร’ และ ‘เอดูอาร์’ ( André & Edouard Michelin) ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทผลิตยางรถยนต์ MICHELIN ซึ่งก็เป็นชื่อบริษัทที่ตั้งมาจากนามสกุลของพวกเขาที่ประเทศฝรั่งเศส
‘อองเดร’ และ ‘เอดูอาร์’ ( André & Edouard Michelin)
บริษัท MICHELIN อย่างที่เพื่อน ๆ รู้จักกัน คือผลิตและพัฒนายางรถยนต์ ที่มีมาสคอตเป็นตัว “Michelin Man” หรือพี่ห่วงยางสีขาวยกนิ้วโป้งที่เราคุ้นตากัน
ในช่วงเวลาแรกที่บริษัท MICHELIN ก่อตั้งเนี่ย มันเป็นช่วงที่ยางรถยนต์กำลังขายดีเทน้ำเทท่ากันเลย
แต่ทว่า.. อีก 10 กว่าปีต่อมา ดันมาถึงช่วงขาลงงของอุตสาหกรรมยานยนต์
จึงทำให้จำนวนผู้ใช้รถยนต์ในฝรั่งเศสลดน้อยลงไปอย่างมาก
(มากจนพี่ Michelin man ต้องยืนยิ้มแห้งๆอยู่ข้างปั้มน้ำมันเลยละจ้าา)
พอเรื่องเป็นแบบนี้
2 พี่น้องตระกูลมิชลินก็เริ่มคิดว่า “ไม่ได้การแล้ว เราต้องทำอะไรสักอย่าง”
พวกเขาจึงได้เริ่มต้นทำแผนที่สำหรับการเดินทาง เพื่อช่วยในการขายยางรถยนต์และเข้าถึงผู้ขับขี่รถยนต์ได้ดีมากขึ้น
จุดนี้ ก็คือช่วงเวลาต้นกำเนิดของหนังสือไกด์บุ๊ก “MICHELIN Travel Guide” ที่จะเป็นการรวมเรื่องราวต่างๆของ โรงแรม สถานที่เที่ยว ร้านอาหาร และ ปั้มน้ำมัน (รวมถึงร้านซ่อมรถต่างๆ ตามทาง)
ว่ากันง่าย ๆ คือ 2 พี่น้องตระกูลมิชลิน ต้องการใช้ MICHELIN GUIDE เป็นเครื่องมือทางการตลาด ที่ช่วยผลักดันให้คนอยากขับรถเที่ยวกันมากขึ้น พอขับมากขึ้นเนี่ย ก็จะได้มาซื้อยางเค้าซะที (หรือยางสึกยางแตกก็ไปเปลี่ยนในอู่ซ่อมรถที่ขายยางมิชลิน)
โดยในตอนเริ่มต้นเนี่ย 2 พี่น้องสั่งพิมพ์สี่สี “MICHELIN GUIDE” ใส่เล่มเป็นอย่างดี แล้วทำการแจกฟรีเด้อ !!
ในเวลาต่อมาเจ้าไกด์บุ๊กเล่มนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยวว่า “หนังสือแผนที่แจกฟรี”
จนกระทั่งถึงปีค.ศ. 1920 สองพี่น้องมิชลินเริ่มเห็นว่าหนังสือ “MICHELIN GUIDE” กำลังเป็นที่นิยม จนติดเข้าไปในการรับรู้ของผู้เดินทางหลาย ๆ คน แน่นอนว่า..ยิ่งแจกฟรีเยอะ ต้นทุนก็ยิ่งสูง
แล้วไม่ใช่แค่ต้นทุนสูงนะ แต่ว่าสองพี่น้องกลับมองว่า การแจกฟรี มันก็เหมือนกับการลดคุณค่าของหนังสือไปอีก…(ว่ากันว่า สองพี่น้องเคยรู้มาว่ามิชลินไกด์เคยถูกนไปวางรองขาโต๊ะอีกด้วย…เจ็บช้ำกันเลยทีเดียว)
พวกเขาจึงเริ่มปรับปรุงคุณภาพและเนื้อหาของหนังสือ จากนั้นจึงเริ่มทำการวางขายจัดจำหน่าย (ไม่แจกฟรีแล้ว)
โดยหนังสือเล่มแรก (ที่วางขาย) จะเป็นหน้าปกสีแดงที่มีความหนาถึง 400 หน้า
ซึ่งมีเนื้อหามากมายที่เหมาะกับผู้ขับขี่รถยนต์ อาทิเช่น
- วิธีการเปลี่ยนยางล้อรถ
- สถานที่ตั้งสถานีบริการน้ำมัน
- ร้านอาหาร และที่พักโรงแรม
หนึ่งในเนื้อหาที่สำคัญ ก็คือ ส่วนของระบบเรทติ้งการให้รางวัลหรือดาวมิชลิน (MICHELIN STAR) กับร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ ๆ ที่มีความโดดเด่นคู่ควรกับการแวะทาน ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1936
ซึ่งก่อนหน้านั้น 10 ปี (หรือในปี 1926) บริษัทมิชลิน ก็เริ่มทำการคัดเลือกและจัดตั้งผู้ตรวจสอบมิชลิน ซึ่งจะมาจากหลายวงการอาชีพ แต่ทุกคนล้วนเป็นนักชิมมืออาชีพ การทำงานเป็นอิสระ และจะไม่มีใครเปิดเผยตัวตน
ปิดท้ายด้วยเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ
[ “เชลล์ชวนชิม” หนึ่งในแรงบันดาลใจที่ได้มาจาก MICHELIN GUIDE ]
ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และโลโก้ “เชลล์ชวนชิม”
เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ “เชลล์ชวนชิม” มากกว่ามิชลินไกด์กันอย่างแน่นอน
(อะ เราคนนึงละ)
“เชลล์ชวนชิม” หรือมีฉายาว่า “มิชลินสตาร์ของเมืองไทย” เกิดขึ้นเพื่อจากการส่งเสริมการขายและการโฆษณาของบริษัทเชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งในขณะนั้น ม.จ. ภีศเดช รัชนี เป็นหัวเรือสำคัญ
ม.จ. ภีศเดช จึงได้สอบถามความเห็นของ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ว่าจะทำอย่างให้แบรนด์เชลล์ เป็นที่รู้จักของผู้ใช้รถใช้ถนน ?
แน่นอนว่า ม.ร.ว. ถนัดศรี ก็ได้แนะนำไอเดียการตลาดการสร้างแบรนด์ “MICHELIN GUIDE” ของ 2 พี่น้องมิชลิน
จนกระทั่งออกมาเป็นโลโก้ตราชามหรือตราเชลล์ชวนชิม ที่ไม่ต้องให้เห็นภาพ เพื่อน ๆ ก็คงพอจะนึกออกกันนั่นเอง :):)
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
โฆษณา